คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว“เรือสำรวจขนาดพกพา” ใช้สำรวจพื้นที่น้ำท่วม

วันที่ 30 กรกฎาคม 2561 รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้คิดค้นและพัฒนา “เรือสำรวจขนาดพกพา” นวัตกรรมเรือบังคับวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับวัดระดับความลึกท้องน้ำ เพื่อคำนวณความสามารถของแม่น้ำ หรือคูคลอง ในการรองรับปริมาณน้ำ และสามารถใช้งานกรณีเกิดอุทกภัยและกรณีฝนทิ้งช่วง พร้อมแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real Time) บนสมาร์ทโฟน โดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง ในระยะทางควบคุม 500 เมตร มีค่าความผิดพลาดระดับความลึกโดยเฉลี่ย 3 เซนติเมตร

สำหรับการทำงานของนวัตกรรมนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. อุปกรณ์ระบบโซนาร์วัดความลึกจากผิวน้ำ พร้อมอุปกรณ์จีพีเอส (GPS) ที่ช่วยระบุตำแหน่งของเรือบังคับ 2. อุปกรณ์วัดค่าคุณภาพน้ำในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) และ 3. อุปกรณ์ชุดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (IoT) เพื่อบันทึกค่า และส่งข้อมูลไปยัง Cloud Server โดยการวัดระดับความลึกท้องน้ำใช้อุปกรณ์ระบบโซนาร์ วัดความลึกจากท้องเรือลงไปถึงพื้นคลองหรือร่องน้ำ โดยทีมวิจัยสามารถประมวผลข้อมูลระยะความลึกที่ได้ มาเทียบกับความสูงจากระดับน้ำ ทะเลปานกลาง (Mean sea level) และจัดทำแผนที่ระดับความตื้น-ลึกของแหล่งน้ำใน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับแบตเตอรี่


ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในหลากมิติ อาทิ การสำรวจคุณภาพน้ำ เพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำว่า เหมาะแก่การใช้งานในภาคการเกษตรหรือไม่ เป็นข้อมูลในการติดตามความตื้น-ลึกคูคลอง เพื่อวางแผนขุดลอกคูคลองรองรับปริมาณน้ำ แม้ในกรณีอุทกภัยสามารถใช้ สำรวจพื้นที่น้ำท่วม และหาเส้นทางเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย