ชมฝนดาวตกวันแม่ หลังเที่ยงคืน 12 ส.ค. คาด 110 ดวงต่อชั่วโมง

วันที่ 10 สิงหาคม นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม 2561 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “ฝนดาวตกวันแม่” คาดว่าปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 110 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอัส สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 03.00 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 สิงหาคม 2561 คืนดังกล่าวยังตรงกับดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ ส่งผลให้ท้องฟ้าไร้แสงจันทร์รบกวน เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง หากฟ้าใสปลอดเมฆ สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย และควรเลือกสถานที่ที่โล่งแจ้ง ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ใดๆ สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า การชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้น อาจใช้วิธีนอนรอชม หรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน ส่วนในประเทศไทยตรงกับช่วงฤดูฝน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตการณ์

นายศุภฤกษ์กล่าวว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี โดยในช่วงประมาณวันที่ 12 – 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด ชาวไทยนิยมเรียกฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ว่า “ฝนดาวตกวันแม่” เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และวันแม่แห่งชาติ

นายศุภฤกษ์กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงนี้พื้นประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฤดูฝน จึงต้องลุ้นกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยกเว้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างซึ่งฝนตกค่อนข้างน้อย จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับของชาวใต้ที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นั้นต้องรอถึงช่วงหลังเที่ยงคืน อย่างไรก็ตามในช่วงหัวค่ำยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจให้ชมกันมากมาย ทั้งดาวศุกร์ที่สุกสว่างทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ ดาวอังคารสีส้มแดงสว่างชัดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงอยู่ในช่วงใกล้โลก ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี

 


ที่มา : มติชนออนไลน์