ได้เวลา “สเปซเอ็กซ์” ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ

Robyn Beck / AFP)

หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งยานไร้มนุษย์ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ บริษัทของ นายอีลอน มัสก์ ก็เดินหน้าโครงการที่จะมุ่งขึ้นสู่อวกาศอย่างภาคภูมิอีกครั้ง ด้วยแผนการส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปยังวงโคจรในเดือนเมษายนปีหน้า

กวินน์ ชอตเวลล์ ประธานฝ่ายการบินด้านอวกาศของสเปซเอ็กซ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเอาไว้ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ว่า ความสำเร็จในการส่งเที่ยวบินไร้มนุษย์ขึ้นไปยังไอเอสเอสเมื่อเดือนพฤศจิกายน เป็นการปูทางสู่การส่งมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศในเดือนเมษายนปี 2019 แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันที่แน่นอนได้

ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำสัญญากับบริษัท สเปซเอ็กซ์ และโบอิ้ง เมื่อปี 2014 ในโครงการการบินอวกาศเพื่อการพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมด้านยานอวกาศของเอกชนสามารถไปถึงวงโคจรระดับต่ำของโลกได้

และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา นาซาเองก็เพิ่งจะประกาศรายชื่อของนักบินอวกาศ 9 คนแรกที่จะบินไปกับยานอวกาศของสเปซเอ็กซ์และโบอิ้ง ในปี 2019 ที่มีทั้งนักบินอวกาศหน้าใหม่และนักบินอวกาศที่เคยมีประสบการณ์แล้ว ซึ่งเที่ยวบินที่จะไปไอเอสเอส จะกลายเป็นเที่ยวบินแรกที่ออกจากดินแดนของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมนุษย์ขึ้นไปสู่วงโคจรของโลก นับตั้งแต่โครงการยานอวกาศใหญ่ๆ ของสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อปี 2011

เพราะในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานักบินอวกาศของนาซา ต้องอาศัยยานอวกาศโซยูซของรัสเซีย ขึ้นไปยังไอเอสเอสทั้งสิ้น และต้องเสียเงินราว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อนักบินอวกาศ 1 คน ในการเดินทาง 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐเพิ่งจะแถลงไปว่า ดูเหมือนว่าสเปซเอ็กซ์จะไม่สามารถส่งนักบินอวกาศขึ้นไปบนไอเอสเอสได้ภายในปีหน้า แต่ชอตเวลล์บอกว่า ภารกิจดังกล่าวจะยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ตราบเท่าที่สเปซเอ็กซ์พร้อมที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นไปอย่างปลอดภัย

“ขั้นต่อไปคือ ไม่เพียงที่เราจะต้องแน่ใจว่านักบินอวกาศจะขึ้นไปและกลับมาอย่างปลอดภัย แต่จะต้องไว้ใจได้ และภารกิจจะต้องจบ จะต้องทำได้ตามเป้าหมายที่ต้องการทุกอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่ายานพาหนะนี้สามารถที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นไปจากผืนแผ่นดินของสหรัฐได้บ่อยเท่าที่นาซาจะอนุญาต”

ด้านสเปซเอ็กซ์ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยานอวกาศที่จะนำนักบินอวกาศของนาซา 2 คน ขึ้นไปยังไอเอสเอสในปีหน้าว่า ยานดังกล่าวชื่อว่า “ครูว์ ดรากอน” ที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วราว 28,160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โดยนักบินอวกาศบนยานครูว์ ดรากอน แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด และเมื่อยานอวกาศทะยานออกไป แผงควบคุมฉุกเฉินจะมีอยู่ทั้งหมดเพียงแค่ 6 ปุ่มกด ซึ่งจะเอาไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุวิกฤต และต้องกลับสู่โลก หรือถอยออกจากไอเอสเอส

หากเกิดอะไรที่ผิดปกติขึ้น นักบินอวกาศจะเป็นผู้เข้าควบคุมระบบ ด้วยการแตะไปที่จอภาพของระบบเพื่อควบคุมยานด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้ ก็มีการให้บรรดานักบินอวกาศที่ได้รับการคัดเลือก เข้าร่วมการฝึกกับยานของจริงแล้ว พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดตัวชุดอวกาศแบบใหม่ด้วย

ความหวังที่สหรัฐอเมริกาจะกลับไปผงาดบนอวกาศอีกครั้ง ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความพยายามของนาซา ในการจับมือร่วมกับสเปซเอ็กซ์และโบอิ้งในครั้งนี้

 

ที่มา มติชนออนไลน์