นักดาราศาสตร์พบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ต่างระบบ

วิทยาการค้นหาบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่นได้ก้าวหน้าไปถึงการพบดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ต่างระบบแล้ว ล่าสุดนักดาราศาสตร์ค้นพบสิ่งที่น่าจะเป็นดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น

คณะนักดาราศาสตร์นำโดย เดวิด คิปปิง จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ได้ดำเนินโครงการค้นหาดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ต่างระบบ ซึ่งน่าจะเรียกว่า ดวงจันทร์ต่างระบบ วิธีค้นหาของโครงการนี้จะวิเคราะห์กราฟความสว่างของการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ที่สำรวจได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ที่เก็บไว้ในคลัง เพื่อวิเคราะห์ว่าการผ่านหน้าของดาวเคราะห์ต่างระบบครั้งใดที่ทิ้งร่องรอยของดวงจันทร์บริวารไว้ด้วย

คณะของคิปปิงได้วิเคราะห์กราฟความสว่างของดาวเคราะห์ต่างระบบของเคปเลอร์ 284 ตัวอย่าง โดยนำกราฟความสว่างที่เกิดจากการผ่านหน้าแต่ละครั้งของแต่ละดวงมาซ้อนกัน แล้วค้นหาแอ่งของเส้นกราฟที่น่าจะเกิดจากดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ผ่านหน้า

แล้วเขาก็พบว่า กราฟความสว่างจากดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่ชื่อ เคปเลอร์-1625 บี (Kepler-1625b) น่าจะมีดวงจันทร์บริวารอยู่ด้วยดวงหนึ่ง

ดาวเคปเลอร์-1625 บี อยู่ห่างออกไป 4,000 ปีแสงในกลุ่มดาวหงส์ เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีถึง 10 เท่า ข้อมูลจากกราฟความสว่างแสดงว่า บริวารของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็จะเป็นบริวารที่แปลกมากไม่เหมือนดวงจันทร์บริวารดวงใดในระบบสุริยะของเรา เพราะมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมีมวลประมาณดาวเนปจูน ซึ่งทำให้บางครั้งเหมือนดาวเคราะห์คู่มากกว่าคู่ดาวเคราะห์กับบริวาร

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์ที่ใหญ่ระดับนี้ย่อมมีต้นกำเนิดไม่ธรรมดา เพราะดวงจันทร์ที่มีมวลมากระดับนี้จะกำเนิดขึ้นในวงโคจรรอบดาวเคราะห์ไม่ได้ ที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ ดาวเคปเลอร์-1625 บีมีวงโคจรแรกเริ่มอยู่ห่างจากดาวฤกษ์มากกว่าในปัจจุบันนี้มาก แต่ต่อมาได้ย้ายวงโคจรเข้าไปอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากขึ้น และระหว่างที่เคลื่อนวงโคจรเข้าไปก็เข้าใกล้กับดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวเนปจูนดวงหนึ่งจนคว้าจับเอามาเป็นบริวารของตน

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์มีข้อมูลการผ่านหน้าของดาวเคปเลอร์-1625 บีเพียงสามครั้งเท่านั้น ขณะนี้จึงยังไม่อยากจะสรุปชี้ชัดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีบริวารจริง จนกว่าจะมีการพิสูจน์ที่ชัดเจนกว่านี้ ในการนี้นักดาราศาสตร์คณะนี้ได้เตรียมที่จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้ในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งดาวเคปเลอร์-1625 บี จะผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่อีกครั้ง หากถ้ายืนยันว่าจริง นี่ก็จะเป็นครั้งแรกที่ค้นพบดวงจันทร์ต่างระบบ

 


ที่มา   มติชนออนไลน์