ขยับ “อวกาศ” ให้ลงมาใกล้ชาวโลก

อวกาศ เป็นเรื่องที่อยู่ไกลแสนไกล น้อยคนนักที่จะเข้าถึง และมีส่วนร่วมที่จะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของอวกาศโดยตรง นอกเหนือไปจากการแหงนหน้ามองท้องฟ้า เพื่อชมปรากฏการณ์ต่างๆ ที่วนเวียนกันมา ยิ่งเทคโนโลยีอวกาศ ยิ่งไปกันใหญ่ มันอยู่ไกลเกินเอื้อมจริงๆ โดยเฉพาะกับคนไทยอย่างเราๆ

แต่วันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ได้ดึงเอาความไกลนั้น ให้เข้าใกล้พวกเราขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่งแล้ว

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ จิสด้าได้จับมือคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Multi-Country Workshop on Space Application โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่โครงการ Copernicus ซึ่งเป็นโปรแกรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการบริหารจัดการเชิงพื้นที่และใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากร และการใช้ Galieo ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมนำทาง ของสหภาพยุโรป เพื่อการใช้ประโยชน์ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า งานนี้ถือเป็นความร่วมมือด้านอวกาศระหว่าง อียูและอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

“จากการที่ประเทศไทยมีศักยภาพเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในด้านการเป็นศูนย์ในการพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศให้กับอาเซียน โดยเรามี ASEAN Research and Training Center for Space Technology Applications และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอียู จึงได้ร่วมกับจิสด้าจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการดึงศักยภาพการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศของ อียู มาใช้ในหมู่ประเทศอาเซียน โดยอียูให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่สำหรับอนาคต และประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือก็จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น อียูได้พัฒนาโปรแกรมที่ชื่อว่า Copernicus เป็นโปรแกรมที่มุ่งพัฒนาการให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เป็นโปรแกรมแรกที่นำข้อมูลจำนวนมากทั้งจากดาวเทียม ข้อมูลภาคพื้นดิน ข้อมูลจากการบินสำรวจ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดทางทะเลมาจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อช่วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

โดยให้บริการใน 6 สาขา ได้แก่ การติดตามสภาพบรรยากาศ การติดตามสภาพแวดล้อมทางทะเล การติดตามการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการให้บริการด้านความมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม Galieo เป็นระบบดาวเทียมนำทางของยุโรปที่ให้บริการข้อมูลด้านตำแหน่งและเวลาด้วยความถูกต้องสูง

“ในปัจจุบันการใช้บริการทั้ง 2 โปรแกรมนี้ แพร่หลายอย่างมากในสหภาพยุโรป แต่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการใช้ประโยชน์น้อยมาก และการใช้บริการส่วนใหญ่เป็นการดาวน์โหลดเฉพาะข้อมูลจากดาวเทียมแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรม เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงได้รวมถึงไม่เป็นที่รู้จักในภูมิภาค การที่มีการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูให้หน่วยงานในอาเซียนได้เข้าถึงใช้โปรแกรมด้านอวกาศของสหภาพยุโรป ซึ่งจิสด้าถือเป็นภารกิจของจิสด้าในการส่งเสริมให้เทคโนโลยีอวกาศสร้างคุณค่าต่อมนุษยชาติให้มากที่สุด ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะมาจากที่ใด เราจึงมีความเต็มใจอย่างยิ่งในการร่วมเป็นแม่งานจัดงานดังกล่าวให้กับอาเซียน” ผู้อำนวยการจิสด้ากล่าว

แม้จะยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ เรื่องการนำแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้ในประเทศไทย แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่น่าประทับใจสำหรับความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างอียูกับอาเซียน และประเทศไทย โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอวกาศ จากนี้ไปเราจะได้เห็นการติดต่อประสานงานระหว่างกันมากขึ้นของทั้ง 2 ภูมิภาค ซึ่งก็จะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ ตามมา

เรื่องของอวกาศก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป…

ที่มา :  มติชนออนไลน์