ยกระดับการคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยงานวิจัย AI Mammogram

ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมยังคงเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้หญิงไทย ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทุกคน จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 13,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 4,000 รายต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความพยายามจะลดความสูญเสีย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute : (NCI) จึงร่วมมือกับโครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม เดินหน้างานวิจัยพัฒนานวัตกรรมคัดกรองมะเร็งเต้านม

นำเทคโนโลยี AI มาช่วยยกระดับประสิทธิภาพการตรวจแมมโมแกรมไปอีกขั้น เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ ลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ หวังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงบริการตรวจแมมโมแกรมเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคได้มากถึง 30% และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมในกรณีที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากแมมโมแกรมสามารถตรวจพบรอยโรคขนาดเล็กมากตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ร่างกายจะยังไม่มีอาการผิดปกติ

ทว่าในประเทศไทยนั้นแมมโมแกรมมีค่าใช้จ่ายสูง ภาครัฐไม่สามารถอุดหนุนให้อยู่ในสิทธิเบิกจ่ายได้ รวมถึงมีปัญหาจำนวนแพทย์รังสีวินิจฉัยไม่เพียงพอต่อผู้รับบริการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยพัฒนาระบบคัดกรองมะเร็งเต้านม AI Mammogram เพื่อแก้ปัญหา ด้วยความร่วมมือจากบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินภารกิจรณรงค์ต้านภัยโรคมะเร็งเต้านมรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้ “โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม”

นพ.สมชายอธิบายว่า หัวใจหลักของโครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องแมมโมแกรมให้ฉลาดและทำงานได้รวดเร็วขึ้น โดยสามารถคัดแยกระดับความเสี่ยงของรอยโรคที่ตรวจพบได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ในการอ่านประเมิน

ผลการตรวจแมมโมแกรม ทำให้เกิดผลดี 2 ประการคือ ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์รังสีวินิจฉัยลง และช่วยลดต้นทุนในการตรวจอัลตราซาวนด์เต้านมในกรณีที่ไม่จำเป็นลงได้มาก

ไม่เพียงช่วยลดภาระแพทย์ในการตรวจอัลตราซาวนด์ที่ไม่จำเป็นลง ทำให้แพทย์มีเวลาในการตรวจผู้ป่วยที่มีรอยโรคต้องสงสัยเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเช็กสุขภาพถูกลง พวกเขาย่อมจะเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการรักษา

ปัจจุบันโครงการวิจัยนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินงาน หากโครงงานวิจัยประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ทางสถาบันตั้งใจจะนำไปใช้ตามโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับโรงพยาบาลอื่น ๆ ของรัฐบาลจะคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำมาก เพื่อใช้เป็นทุนซ่อมบำรุงเครื่องมือ รวมถึงนำไปพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อการต้านภัยมะเร็งต่อไป