ส่องภารกิจ 2 ทศวรรษ! เผยการค้นพบของ “ยานแคสซีนี” ช่วยไขปริศนา “ดาวเสาร์” เจ๋งเกินคาด

ภาพจาก www.nasa.gov

วันที่ 14 กันยายน นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ในเวลา 18.55 น.วันที่ 15 กันยายน ของประเทศไทยนั้น จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์จะต้องบันทึกเอาไว้ เพราะเป็นวันสิ้นสุดภาระกิจโครงการ แคสซีนี ยานอวกาศสำรวจดาวเสาร์ อันเป็นภาระกิจสำคัญของโลก ที่ทำร่วมกันระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซา) กับองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป(อีซา) ใช้งบประมาณร่วมกันในการสร้างเป็นเงินถึง 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแคสซินี ถูกส่งขึ้นไปจากโลกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2540 เข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 โดยได้โคจรสำรวจดาวเสาร์ เป็นเวลา 13 ปี สามารถค้นพบความลับต่างๆในอวกาศมากมายเกินกว่าที่คาดการเอาไว้

“ยานแคสซินี ใช้เวลาเดินทางรอนแรมในอวกาศเป็นเวลานานถึง 7 ปี ก่อนเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ และบินวนสำรวจรอบดาวเสาร์ใช้เวลา 13 ปี รวมระยะเวลาของการปฏิบัติภาระกิจทั้งสิ้น 20 ปี ด้วยกัน นักดาราศาสตร์ของทั้งนาซา และอีซา ต่างก็พอใจอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติภาระกิจของยานอวกาศลำนี้ โดยในเวลา 18.55 น.นั้น จะเป็นช่วงวินาที ที่ยานแคสซีนี่ทิ้งตัวดิ่งเข้าไปยังดาวเสาร์ และจะระเบิดตัวเอง ถือเป็นการสิ้นสุดภาระกิจโดยสมบูรณ์แบบ” นายวิมุติ กล่าว

นายวิมุติ กล่าวว่า สำหรับผลงานของแคสซีนี นั้นถือว่า ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่คาดเอาไว้อย่างมาก ผลงานเด่นที่สุดที่แคสซีนี ค้นพบนั้น ไปอยู่ที่ดวงจันทร์บริวารมากกว่าตัวดาวเสาร์เอง โดยเฉพาะสองดวงหลัก คือดวงจันทร์ไททัน และ ดวงจันทร์ เอนเซลาดัส โดย แคสซีนียืนยันได้ว่า บนดวงจันทร์ไททันมีทะเลสาบอยู่จริง แต่ทะเลสาบบนดวงจันทร์ไททันต่างจากของโลกตรงที่ของเหลวที่ขังอยู่นั้นไม่ใช่น้ำ แต่เป็นไฮโดรคาร์บอนเหลว จำพวกมีเทนและอีเทน

นอกจากนี้ยังพบการระเหย การกลั่นตัวเป็นฝน การไหลรินท่วมขังของไฮโดรคาร์บอน หมุนเวียนกันเป็นวัฏจักรเช่นเดียวกับวัฏจักรของน้ำบนโลกด้วย ยิ่งกว่านั้น บนผิวทะเลสาบก็มีไฮโดรคาร์บอนแข็งลอยเหมือนภูเขาน้ำแข็งบนโลกอีกด้วย ทั้งนี้ในระบบสุริยะมีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่มีของเหลวอยู่บนพื้นผิว แห่งแรกคือโลก และแห่งที่สองคือดวงจันทร์ไททัน นั่นเอง

นายวิมุติ กล่าวว่า แคสซีนี ยังพบว่า พื้นผิวของดวงจันทร์ไททันมีลักษณะเป็นน้ำแข็ง คล้ายดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี สิ่งนี้ต่างจากความเชื่อดั้งเดิมที่คิดว่าพื้นผิวจะเป็นไฮโดรคาร์บอนแข็ง นอกจากบนพื้นผิวจะมีทะเลสาบแล้ว ใต้พื้นผิวลึกลงไป ก็น่าจะมีมหาสมุทรบาดาลทั่วทั้งดวงอีกด้วย นั่นคือพื้นผิวน้ำแข็งของไททันทั้งหมดลอยอยู่บนชั้นของน้ำ คาดว่าของเหลวในทะเลบาดาลประกอบด้วยน้ำกับแอมโมเนีย นอกจากนี้ พื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งของดวงจันทร์ไททันยังมีภูเขาไฟอีกด้วย แต่สิ่งที่มันพ่นออกมาไม่ใช่หินเหลว แต่เป็นน้ำและแอมโมเนียจากมหาสมุทรบาดาล ซึ่งมีทั้ง ทะเล ฝน ลำธาร ทะเลสาบ น้ำใต้ดิน ภูเขาไฟ เรียกว่าเป็นแดนมหัศจรรย์อย่างแท้จริง สำหรับดวงจันทร์ไททัน

ดวงจันทร์อีกดวงหนึ่งของดาวเสาร์ที่แคสซีนีค้นพบอีกดวงหนึ่งคือ เอนเซลาดัส ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ไททัน แต่สิ่งที่พบบนเอนเซลาดัสกลับ ไม่เล็กเลย เพราะแคสซีนี พบว่า ดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีบรรยากาศ มีมหาสมุทรบาดาล มีร่องแตกเป็นทางยาวขนานกันหลายแนวทางขั้วใต้ ยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ไอน้ำและผลึกน้ำแข็งพ่นออกมาสู่อวกาศ ผลึกน้ำแข็งนี้ได้ก่อตัวเป็นวงแหวนอีของของดาวเสาร์ การค้นพบนี้ตอบคำถามคาใจของนักดาราศาสตร์ได้ว่าเหตุใดจึงมีการพบน้ำในวงแหวนดาวเสาร์

“และจากการที่ยานแคสซีนีพุ่งผ่าพู่ไอน้ำในเดือนตุลาคม 2558 ทำให้พบว่า นอกจากไอน้ำและน้ำแข็งแล้ว ยังมีสารอินทรีย์อยู่ด้วย ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้แก่บริวารดวงนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ความจริงการค้นพบนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์บางคนมองว่าเอนเซลาดัสมีโอกาสสูงเป็นอันดับต้น ๆ ที่คาดว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยอันดับหนึ่งคือดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี”

แล้วบนดาวเสาร์ เอง ยานแคสซีนี พบอะไรใหม่บ้าง

นายวิมุติ กล่าวว่า ที่เด่นที่สุดคือ ยานได้พบว่า เมฆที่ขั้วดาวเสาร์มีรูปร่างเป็นรูปหกเหลี่ยมอย่างน่าประหลาดใจ แม้จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่าโครงสร้างหกเหลี่ยมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แคสซีนียังพบด้วยว่าวงแหวนดาวเสาร์มีอายุน้อยและยังคงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ทำไมต้องต้องให้ยานแคสซีนีพุ่งชนดาวเสาร์ นายวิมุติ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์พบว่าดวงจันทร์บริวารบางดวงของดาวเสาร์ มีสภาพแวดล้อมที่บ่งชี้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ จึงต้องหาทางกำจัดยานแคสซีนีให้สิ้นซากหลังจบภารกิจ มิเช่นนั้นหากปล่อยให้ยานโคจรอยู่รอบดาวเสาร์ต่อไปอย่างไร้การควบคุม ย่อมมีโอกาสที่ยานจะไปชนกับบริวารดังกล่าวได้สักวันหนึ่ง สิ่งมีชีวิตจากโลกที่อาจแฝงตัวอยู่ในซอกหลืบของยานก็จะแพร่ออกสู่สิ่งแวดล้อมของบริวารดวงนั้นได้ ถือเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ระบบนิเวศซึ่งเป็นสิ่งที่จะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

แม้ยานแคสซีนีอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแสนหฤโหดของอวกาศมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่ายานแคสซีนีจะปลอดเชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ นักวิทยาศาสตร์เคยพบจุลินทรีย์บางอย่างที่มีชีวิตรอดในอวกาศมาแล้ว การกำจัดยานที่ง่ายที่สุดก็คือ ให้ยานพุ่งเข้าใส่ดาวเสาร์ เพื่อให้มอดไหม้ไปในบรรยากาศเหมือนดาวตก

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทย ชวนร่วมติดตามภารกิจสุดท้ายยานอวกาศแคสซินี จับตานาที “แคสซินีพุ่งชนดาวเสาร์เผาไหม้ตัวเองปิดฉากการเดินทางและการสำรวจดาวเสาร์อันยาวนานกว่า 20 ปี ที่นำมาซึ่งคุณประโยชน์และการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ แก่มวลมนุษยชาติ พร้อมจัด NARIT Facebook live “เกาะติดภารกิจสุดท้าย…ยานแคสซินีพุ่งชนดาวเสาร์” วันที่ 15 ก.ย.นี้ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไปทาง www.facebook.com/NARITPage 

 

ที่มา นสพ.มติชนรายวัน