23 กันยายน “วันศารทวิษุวัต” กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน

วันที่ 22 กันยายน นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กล่าวว่า วันที่ 23 กันยายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เวลาในช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืน และเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด)

สำหรับประเทศไทยในวันที่ 23 กันยายน ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06.07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 08.13 น. หลังจากวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อยๆ และหยุดที่จุดใต้สุดในวันที่ 21 ธันวาคม จากนั้นจะเคลื่อนขึ้นทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต ประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และวันศารทวิษุวัต วันที่ 22 หรือ 23 กันยายน ทำให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

นายศรัณย์กล่าวว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม หรือ 147 ล้านกิโลเมตร และช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม หรือ 152 ล้านกิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว