กรมวิทย์ ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ลุ้นจุฬาฯ เริ่มทดลองวัคซีนในสัตว์

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

วันที่ 26 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฎิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่เมื่อเทียบกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดในประเทศไทยเป็นฤดูกาล จะพบว่าเชื้อโคโรนากลายพันธุ์ค่อนข้างช้ากว่าเชื้ออื่น ๆ ทำให้คนไทยเกิดความกังวลว่า การกลายพันธุ์จะทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น หรือติดง่ายขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าการกลายพันธุ์ของโคโรนายังน้อยมาก ขณะนี้ยังไม่มีนัยสำคัญที่จะบ่งบอกว่าการกลายพันธุ์ทำให้เชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น ติดง่ายขึ้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า เราเพิ่งนำเชื้อจากผู้ป่วยมาตรวจสอบวิเคราะห์เพียง 20 ตัวอย่าง และ กำลังจะวิเคราะห์ให้ครบ 40 ตัวอย่าง โดยคณะผู้วิจัยทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาฯ ศิริราชพยาบาลกำลังศึกษา ติดตาม และพยายามจะถอดรหัสพันธุกรรมให้ได้มากที่สุด เพื่อจะรวบรวมข้อมูลติดตามความรุนแรงของโรคต่อไป รวมทั้งประโยชน์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาวัคซีน วิธีการตรวจโรคใหม่ ๆ

ส่วนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยกำลังพัฒนา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการทดสอบในสัตว์แล้ว และได้ส่งตัวอย่างเลือดของสัตว์ มาให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบดูว่า เลือดดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ หากภูมิคุ้มกันขึ้นก็จะสามารถนำไปสู่กระบวนการทดสอบในคนต่อไป โดยคาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ในส่วนของทางโรงพยาบาลศิริราช ที่ได้มาขอรับเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้เพาะเชื้อนั้น ไปพัฒนาวัคซีนแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการทดลองหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ด้าน ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีเคสเข้ามาในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมเพศหญิง 2 ราย ที่มีอายุ 61 ปี และ 74 ปี ซึ่งทั้ง 2 ราย เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนมายังไทย และเป็น 2 รายแรกที่มีอาการในประเทศไทย พบว่าเชื้อผู้ป่วยทั้ง 2 รายมีความใกล้เคียงกับโคโรนาไวรัสที่มาจากค้างคาวถึง 88% และใกล้เคียงกับโรคซาร์ส (SARS-CoV) ที่เป็นสาเหตุของการระบาดเมื่อปี 2546 เพียง 80% แต่มีความแตกต่างกันในการเข้าไปจับในตัวมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมของการก่อโรค

เมื่อนำผลตรวจผู้ป่วยเป็นบวกมาถอดรหัสพันธุกรรม จนพบว่า ในกลุ่มของตัวไวรัสที่จัดแบ่งเป็นกลุ่ม A, B ,C กลุ่ม A คือ ต้นตอที่มาจากค้างคาว ระบาดในประเทศจีน กลุ่ม B คือ กลุ่มที่กลายพันธุ์ ที่ระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และกลุ่ม C เป็นกลุ่มที่กลายพันธุ์เล็กน้อยจากกลุ่ม B ที่มีการระบาดในยุโรปและสิงคโปร์

เมื่อมีการวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ และที่ทั่วโลกเข้าใจตรงกันคือ สายพันธุ์ S , G และ V โดยพบว่า ไทยมีสายพันธุ์หลัก คือ S type แต่ ทั้ง 3 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกันเพียงแค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งยังไม่แสดงผลว่ามีการก่อโรคที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การศึกษาต่อ ๆ ไป จากที่เราศึกษา 40 ราย จะถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มจนครบ 100 ราย เพื่อดูการกระจายตัวและดูสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปต่อ อนาคตจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย