นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจับตา วัตถุต่างด้าว โคจรพลัดถิ่นมาในระบบสุริยะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บข้อมูลต่างๆของวัตถุเล็กๆในห้วงอวกาศ ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล(IAU) ได้ประกาศการค้นพบดาวหางดวงใหม่ดวงหนึ่ง ชื่อว่า ซี/2017 ยู 1 แพนสตารรส์ (C/2017 U1 PANSTARRS) ทั้งนี้ ดาวหางมีแห่งกำเนิดใหญ่ ๆ สองแห่ง แห่งแรกเป็นแถบรูปวงแหวนกว้างใหญ่ล้อมรอบดวงอาทิตย์อยู่ที่ระยะพ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป เรียกว่าแถบไคเปอร์ ดาวหางที่มาจากแถบนี้จะเป็นดาวหางคาบสั้น นั้นคือโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบหนึ่งใช้เวลาต่ำกว่า 200 ปี

แหล่งกำเนิดดาวหางอีกแห่งหนึ่งคือ เมฆออร์ต เป็นบริเวณทรงกลมขนาดมหึมาล้อมรอบระบบสุริยะ มีรัศมีแผ่ไปไกลถึง 2 ปีแสง ดาวหางที่มีต้นกำเนิดมาจากเมฆออร์ตเป็นดาวหางคาบยาว นั่นคือโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบมากกว่า 200 ปี บางดวงอาจนานถึงหลายแสนหลายล้านปี บางดวงอาจผ่านมาครั้งเดียวไม่กลับมาอีกเลย

ทั้งแถบไคเปอร์ และเมฆออร์ต ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ ดังนั้นดาวหางไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดในสองแหล่งนี้ก็ยังคงถือว่าเป็นสมาชิกของระบบสุริยะของเรา

การสำรวจดาวหางอย่างละเอียด ทำให้ทราบว่า ดาวหางแต่ละดวงมีวงโคจรเป็นอย่างไร มีคาบเท่าใด ซึ่งก็จะทราบได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด แต่เมื่อนักดาราศาสตร์สำรวจดาวหาง ซี/2017 ยู 1 แพนสตารรส์ ที่เพิ่งพบใหม่นี้ ก็พบว่าดาวหางดวงนี้ไม่เหมือนดวงอื่น ๆ ที่เคยพบมา

ดาวหาง ซี/2017 ยู 1 แพนสตารรส์ มีความรีของวงโคจร 1.2 แสดงว่า เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งแบบไฮเพอร์โบลาที่เปิดกว้างมาก ยิ่งกว่านั้นยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบ 26 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าความเร็วหลุดพ้นของระบบสุริยะมาก นักดาราศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า ดาวหางดวงนี้อาจมีที่มาจากนอกระบบสุริยะของเรา นั่นคือมาจากระบบสุริยะอื่น เป็นดาวหางต่างด้าว

โทนี ดันน์ ได้สร้างแบบจำลองเพื่อสืบสาวต้นกำเนิดของดาวหางดวงนี้ พบว่าอาจมาจากทิศทางของกลุ่มดาวพิณ

ดาวหาง ซี/2017 ยู 1 มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ขณะที่พบอยู่ห่างจากโลก 30 ล้านกิโลเมตร และเข้าใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมโดยอยู่ห่างจากโลก 60 เท่าของระยะโลก-ดวงจันทร์ ขณะนี้ดาวหางดวงนี้ได้ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดไปแล้วและกำลังถอยห่างออกไปด้วยความเร็ว 44 กิโลเมตรต่อวินาที โดยมุ่งหน้าไปยังกลุ่มดาวม้าบิน และจะหลุดออกจากระบบสุริยะในที่สุดโดยไม่วกกลับมาอีก

จนถึงขณะนี้ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าดาวหางดวงนี้มาจากระบบสุริยะอื่นจริงหรือไม่ แต่ถ้าหากใช่ นี่ก็จะเป็น “ดาวหางพลัดถิ่น” ดวงแรกที่ถูกค้นพบ นักดาราศาสตร์ยังคงจับตามองดาวหางดวงนี้ต่อไป

ข้อมูลล่าสุด สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เปลี่ยนชื่อวัตถุนี้เป็น เอ/2017 ยู 1 (A/2017 U1) เนื่องจากการสำรวจไม่พบว่าแสดงสมบัติของดาวหางแต่อย่างใด คาดว่าอาจเป็นวัตถุคล้ายดาวเคราะห์น้อย

 

ที่มา มติชนออนไลน์