วงการวิทย์ฮือฮา! พบ “อุรังอุตัง” สายพันธุ์ใหม่ในอินโดนีเซีย

บีบีซีรายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริค มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส และโครงการอนุรักษ์อุรังอุตังสุมาตรา ได้ข้อสรุปแล้วว่า ประชากรลิงอุรังอุตังกลุ่มเล็กที่พบบนเกาะสุมาตรา เป็นอุรังอุตังสปีชีส์ใหม่ หลังสงสัยมานานหลายปีว่าอุรังอุตังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มี “ความผิดปกติทางพันธุกรรม”

โดยมีการตั้งข้อสังเหตเกี่ยวกับลิงกลุ่มนี้เฉพาะในรายงานที่เข้าไปสำรวจภูเขาที่แสนห่างไกลในปี 1997 ซึ่งหลังจากนั้น โครงการวิจัยนี้ก็เริ่มตรวจสอบลักษณะทางชีววิทยาของพวกมัน

อุรังอุตังสปีชีส์ใหม่นี้มีชื่อสปีชีส์ว่า Tapanuli orangutan ซึ่งเป็นสปีชีส์ที่ 3 ในแถบนี้ นอกเหนือจากสายพันธุ์บอร์เนียวและสุมาตรา ซึ่งถือเป็นลิงในวงศ์ลิงใหญ่ชนิดใหม่ตัวแรกในรอบศตวรรษ

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสาร Current Biology ซึ่งทีมนักวิจัยได้ระบุว่าลิงสปีชีส์นี้ยังเหลืออยู่เพียง 800 ตัวเท่านั้น ทำให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์เอป หรือลิงไร้หาง ที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้นำดีเอ็นเอมาจากอุรังอุตังชนิดดังกล่าว ซึ่งพบว่ามันมีความแตกต่างจากลิงอุรังอุตังอื่นๆ ในเกาะสุมาตรา จากนั้นจึงทำการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมโดยใช้รหัสพันธุกรรมของพวกมัน จนแน่ชัดแล้วว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลก็คือ สถานะของลิงอุรังอุตังชนิดนี้ที่ตกอยู่ใน “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์” (Critically Endangered) สิ่งที่ต้องตระหนักต่อไปคือการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการอนุรักษ์