พบกลุ่มฟอสซิลไข่เทอโรซอร์กว่า 200 ฟอง คาดไว้ป้องกันการโจมตีจากผู้ล่า

Alexander Kellner/Museu Nacional/UFRJ

บีบีซีรายงานว่า งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Science รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้พบกลุ่มไข่ของเทอโรซอร์ (pterosaur) สัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคของไดโนเสาร์ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ทำให้เป็นไปได้ว่าพวกมันอาจจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อวางไข่

โดยนักวิทยาศาสตร์พบไข่ของเทอโรซอร์มากกว่า 200 ฟอง ในพื้นที่แห่งหนึ่งในประเทศจีน ซึ่งไม่เคยมีข้อมูลมาก่อนพวกมันวางไข่ซ้ำๆ การค้นพบครั้งนี้ทำให้เชื่อได้ว่า ตัวอ่อนของพวกมันอาจไม่สามารถบินได้ทันทีเมื่อฟักออกจากไข่ และจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากพ่อแม่

ฟอสซิลไข่ของเทอโรซอร์และตัวอ่อนของมันเรียกได้ว่าหายากมาก จนถึงปัจจุบันก็พบเพียงไม่กี่ที่เท่านั้นคือในอาร์เจนตินา และแถบตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ซึ่งจากการพบไข่ครั้งล่าสุดทำให้ตั้งสมมติฐานได้ว่าเทอโรซอร์จะมีการวางไข่เป็นโคโลนี หรือเป็นกลุ่มก้อน เพื่อป้องกันลูกน้อยของมันจากการจู่โจมของเหล่านักล่า

ภาพโดย Zhao Chuang

เสี่ยวหลิน หวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทอโรซอร์ จากวิทยาลัยบรรพชีวินวิทยาและมานุษยวิทยาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ในปักกิ่ง และอเล็กซานเดอร์ เคลล์เนอร์ จากพิพิธภัณธ์ธรรมชาติแห่งบราซิล ในริโอ เดอ จาเนโร เป็นผู้ค้นพบฟอสซิลไข่ดังกล่าว

ดร.เคลล์เนอร์กล่าวว่า ไข่ที่พบทั้ง 215 ฟอง ไม่ได้ออกมาจากแม่ตัวเดียวกันแน่นอน โดยโครงกระดูกส่วนใหญ่ที่เกือบจะสมบูรณ์แสดงให้เห็นว่า กระดูกที่เกี่ยวข้องกับการบินมีพัฒนาการน้อยกว่ากระดูกขาหลัง บ่งชี้ว่าเทอโรซอร์แรกเกิดอาจเดินได้ แต่ยังไม่บิน

“นั่นหมายความว่าพวกมันจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่หลังฟักออกจากไข่” ดร.เคลล์เนอร์กล่าว

ทั้งนี้ พวกเขาจะทำการค้นหาฟอสซิลใหม่ต่อ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังตัวแรกที่บินได้เมื่อประมาณ 225 ล้านปีก่อน และสูญพันธุ์ไปแล้วโดยไม่ทิ้งทายาทไว้เลย”

สำหรับไข่ที่พบนี้เป็นของเทอโรซอร์ สปีชีส์ Hamipterus tianshanensis ซึ่งพบครั้งแรกเมื่อปี 2005 บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน

หลักฐานทางธรณีวิทยาชี้ให้เห็นว่าสัตว์เลื้อยคลานบินได้ชนิดนี้จำนวนมากตายในพายุในช่วงต้นยุคครีเตเชียส หรือราว 120 ล้านปีก่อน

ชาร์ลส์ ดีมมิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลินคอล์น ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้ว่า มีหลายจุดที่น่าสงสัย เช่น พวกมันออกไข่ครั้งละกี่ฟอง

“งานชิ้นนี้เป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องการสืบพันธุ์ของเทอโรซอร์” ดร.ดีมมิงกล่าว และว่า หวังว่าการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่น่าสนใจเช่นครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามดังกล่าวสำหรับเทอโรซอร์ และวาดภาพการขยายพันธุ์ของมันได้อย่างสมบูรณ์