นักวิทย์ฯ หวั่น ดวงอาทิตย์จะหลับยาว โลกจะเข้าสู่ยุคหนาวเย็นยาวนาน

ดวงอาทิตย์ที่ถ่ายในย่านอัลตราไวโอเลต โดยหอสังเกตการณ์เอสดีโอ

ขณะที่หลายคนอาจกำลังรอคอยที่จะได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นเฉียบพลันซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาดวงอาทิตย์กำลังมองไปไกลกว่านั้น นั่นคือ โลกอาจเผชิญกับยุคหนาวเย็นต่อเนื่องภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

วันที่ 16 ธันวาคม นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย อธิบายว่า อาทิตย์ก็จะมีวัฏจักรของตัวเอง หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรียกว่าวัฏจักรของกัมมันตภาพสุริยะ เช่น การเกิดจุดมืด (sunspot) การลุกจ้า(Flare) ซีเอ็มอี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของพายุสุริยะ โดยช่วงเวลาไหนที่ดวงอาทิตย์มีปฏิกริยามาก เรียกว่าดวงอาทิตย์แอ็คทีฟ หรือจะเรียกว่า ดวงอาทิตย์คึกคักก็ได้ โดยปกติ กัมมันตภาพของดวงอาทิตย์มีขึ้นลงเป็นวัฏจักร ช่วงที่กัมมันตภาพขึ้นสูงสุด หรือ โซลาแม็กซ์ ดวงอาทิตย์จะแผ่พลังงานออกมาสูงกว่าช่วงอื่น โดยเฉพาะในย่านอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี ปกติวัฏจักรของระบบสุริยะมีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก แม้จะไม่เด่นชัดนัก แต่หากวัฎจักรมีความผิดปกติเป็นระยะเวลายาว ก็อาจมีผลต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมาก และสิ่งนั้น ก็ดูเหมือนกำลังจะเกิดขึ้น

“ขณะนี้เรายังอยู่ในวัฏจักรที่ 24 (นับจากปี ค.ศ.1755) ซึ่งได้ผ่านช่วงสูงสุดมาแล้วในปี 2556 ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ดวงอาทิตย์ไม่ค่อยจะคึกคักนัก และจากการศึกษาของนักดาราศาสตร์จากหลายสำนัก พบว่า ในวัฏจักรที่ 25 ซึ่งจะเริ่มในราวปี 2563 มีแนวโน้มว่าจะยิ่งหงอยเหงาลงไปอีก อาจเป็นวัฏจักรที่คึกคักน้อยที่สุดในรอบ 100 ปีก็ได้ แน่นอนว่าหากดวงอาทิตย์ฟุบยาวต่อเนื่องหลายวัฏจักรติดกัน ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างมาก สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วง ค.ศ.1645 – 1715 ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีอากาศแห้งแล้ง และหนาวเย็น ถึงขนาดที่แม่น้ำเทมส์ในประเทศอังกฤษกลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวเลยทีเดียว” นายวิมุติกล่าว

นายวิมุติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังไม่อาจยืนยันดวงอาทิตย์จะเข้าสู่ช่วงหลับยาวแบบช่วงต่ำสุดมอนเดอร์อีกครั้งหรือไม่ โลกเราจะเข้าสู่ยุคแห่งความหนาวเย็นอีกครั้งหรือไม่ ยังคงต้องติดตาม ศึกษาดวงอาทิตย์กันต่อไปอย่างใกล้ชิด

 

ที่มา มติชนออนไลน์