ซูเปอร์เวิร์ม หนอนยักษ์กินพลาสติก ลุ้นช่วยปฏิวัติการรีไซเคิล

ซูเปอร์เวิร์ม
UNIVERSITY OF QUEENSLAND

นักวิจัยพบตัวอ่อนของแมลงสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า ซูเปอร์เวิร์ม หรือ หนอนยักษ์ กินพลาสติกเป็นอาหาร และลุ้นว่าเอ็นไซม์ที่มันมีขะช่วยปฏิวัติการการรีไซเคิลได้

งานวิจัยของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในสื่อ Microbial Genomics พบว่า หนอนยักษ์ หรือ ซูเปอร์เวิร์ม (superworm) มีชีวิตรอดได้ด้วยการกินโพลิสไตรีน สารประกอบที่พบได้ทั่วไปในพลาสติก และสิ่งนี้อาจช่วยพัฒนาการรีไซเคิลได้

 

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 บีบีซี รายงานว่า ทีมงานของมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ได้ป้อนอาหารที่แตกต่างกันให้แก่หนอนยักษ์ หรือ โซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) ซึ่งเป็นตัวอ่อนของด้วงหรือแมลงปีกแข็ง 3 กลุ่มเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่กินโพลิสไตรีนตัวใหญ่ขึ้น

ทีมงานพบเอนไซม์หลายชนิดในลำไส้ของหนอนยักษ์ย่อยสลายโพลิสไตรีนและสไตรีน ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบได้ทั่วไปในกล่องพลาสติกบรรจุอาหาร และอีกผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ และฉนวน

UNIVERSITY OF QUEENSLAND

แม้การวิจัยไม่น่าจะนำไปสู่การสร้างฟาร์มหนอนขนาดใหญ่ให้เป็นโรงงานรีไซเคิล แต่พวกเขาต้องการค้นหาว่า เอนไซม์ตัวไหนที่มีประสิทธิผลที่สุด เพื่อที่จะได้ผลิตเอนไซม์นั้นเพื่อใช้ในการรีไซเคิลจำนวนมากได้

“หนอนยักษ์ก็เหมือนกับโรงงานรีไซเคิลขนาดมินิ ที่กัดกินโพลิสไตรีนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลืนลงไปให้เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้” ดร.คริส รินเค ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวและว่า

“จากนั้นจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ก็อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปฏิกิริยานี้ในการสร้างสารประกอบที่มีมูลค่าสูงอย่างพลาสติกชีวภาพได้” 

ซูเปอร์เวิร์ม
UNIVERSITY OF QUEENSLAND

ก่อนหน้านี้ เคยมีการวิจัยแสดงให้เห็นแล้วว่า ตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งบางชนิดสามารถบริโภคโพลิสไตรีนได้

โคลิน แจ๊กสัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการศึกษานี้ ระบุว่า การศึกษานี้ มีความก้าวหน้าขึ้นอีกขั้น

“การศึกษานี้ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างมากว่า แบคทีเรียในลำไส้ [ของหนอนยักษ์] ทำงานอย่างไรในระดับโมเลกุล” ศาสตราจารย์แจ๊กสัน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลีย

“นั่นมีความสำคัญในการแปลความหมายและใช้วิธีการนี้ในการรีไซเคิล”

ในระดับระหว่างประเทศ นักวิจัยอีกหลายคนได้ประสบความสำเร็จในการใช้แบคทีเรียและเชื้อราในการย่อยพลาสติกมาแล้ว

แต่มีคำถามว่า เทคนิคเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพลาสติกใหม่ผลิตได้ในราคาที่ถูก

…………

เนื้อหาข่าวจาก บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว