
ปกติคนเราจะส่องแบคทีเรีย ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ แต่แบคทีเรียที่นักวิทยาศาสตร์พบในถิ่นแคริบเบียนล่าสุดนี้เป็น แบคทีเรียใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าๆ ขนตามนุษย์
25 มิถุนายน 2022 บีบีซี รายงานการพบแบคทีเรีย ชื่อ T.magnifica มีเซลล์ใหญ่เท่าขนตาของมนุษย์ จึงมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นขนาดที่ใหญ่กว่าขนาดโดยเฉลี่ยของแบคทีเรียทั่วไปถึง 5,000 เท่า โดยมันมีความยาวถึง 1 เซนติเมตร
- ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.หย่าภรรยามาแล้ว 5 ปี มีทรัพย์สินลดลง 31 ล้าน
- คนละครึ่งเฟส5 รับ 800 บาท ลงทะเบียน ยืนยันสิทธิวันไหน ช่องทางใด
- วันสารทจีน 2565 ตรงกับวันไหน วิธีทำบุญ ของไหว้ ข้อห้าม ทุกเรื่องต้องรู้

ดร. ฌอง-มารี โวลลองด์ ผู้นำทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์ของสหรัฐอเมริกา ผู้ตรวจสอบและศึกษาแบคทีเรียยักษ์ดังกล่าว ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ Science ว่า แม้รูปร่างแบคทีเรียนี้จะดูน่ากลัว แต่ก็ไม่เป็นอันตรายและไม่เป็นเชื้อที่ก่อโรคกับมนุษย์แต่อย่างใด
“เมื่อเทียบขนาดของแบคทีเรียยักษ์กับแบคทีเรียทั่วไปแล้ว ก็เหมือนกับคนเราแหงนมองยักษ์ใหญ่ที่สูงเท่ายอดเขาเอเวอเรสต์เลยทีเดียว” ดร.โวลลองด์กล่าว
แบคทีเรียดังกล่าวมีชื่อว่า Thiomargarita magnifica (T. magnifica) มีถิ่นที่อยู่ในดินตะกอนและซากอินทรีย์เน่าเปื่อยที่ทับถมกันในป่าชายเลนของเกาะกัวเดอลูป (Guadeloupe) ดินแดนปกครองของฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ T. magnifica มีถุงที่เป็นเนื้อเยื่อหุ้มเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอไว้โดยเฉพาะ ไม่ปล่อยให้ดีเอ็นเอล่องลอยกระจัดกระจายในไซโตพลาสม์ (cytoplasm) หรือของเหลวภายในเซลล์เหมือนกับแบคทีเรียชนิดอื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้แค่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจำพวกยูคาริโอต (eukaryote) เท่านั้น
ทีมผู้วิจัยเรียกถุงเก็บดีเอ็นเอนี้ว่า “เปปัง” (pepin) ซึ่งแปลว่าเมล็ดผลไม้ในภาษาฝรั่งเศส ในดีเอ็นเอที่บรรจุข้อมูลพันธุกรรมมากมายมหาศาลนี้ ทีมผู้วิจัยพบว่ายีนที่เพิ่มขนาดความยาวลำตัวของมันนั้นมีถึงสองชุด ส่วนยีนที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวของเซลล์นั้นกลับสูญหายไป
แบคทีเรียยักษ์นี้ยังมีเบสที่เป็นองค์ประกอบของดีเอ็นเอจำนวนมหาศาลถึง 6 ล้านล้านตัว มากกว่ามนุษย์ที่มีเพียง 6 พันล้านตัวอยู่หลายเท่า เนื่องจากเซลล์ของแบคทีเรียยักษ์มีรหัสพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนมอยู่ถึง 500,000 ชุด
T.magnifica เป็นแบคทีเรียที่ใช้การสังเคราะห์ทางเคมีสร้างอาหารให้ตัวเอง โดยทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์สารประกอบกำมะถันจากซากพืชซากสัตว์ในดินตะกอนป่าชายเลน สร้างน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานให้เซลล์ได้

การดำรงชีวิตแบบนี้ทำให้มันต้องอาศัยยึดเกาะกับพื้นผิวที่เป็นของแข็ง เช่นเปลือกหอยนางรม ใบไม้ กิ่งก้านของต้นโกงกาง รวมทั้งเศษขยะพลาสติกที่พบได้เกลื่อนกลาดในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แบคทีเรียยักษ์ T.magnifica ยังไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งมีชีวิตที่ครองแชมป์รายการนี้อยู่คือสาหร่าย Caulerpa taxifolia ซึ่งเซลล์ของมันมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร

รายงานข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว