เที่ยวทะเลไม่เหมือนเดินห้าง! “นักท่องเที่ยวล้น-กระจุก” อะไรคือทางออกสายกลาง..ไม่สุดขั้ว?

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ – รายงาน

จากประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวในฝัน กลับกลายเป็นฝันร้ายของนักท่องเที่ยวเสียเอง เมื่อมีการแชร์ภาพจากแฟนเพจ Loveaholic เที่ยวอยู่ได้ โดยเป็นภาพเกาะสิมิลัน ที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 5 พันคนในวันเดียว ทำให้ทะเลที่เคยสวยงาม สงบ กลับเต็มไปด้วยกองทัพนักท่องเที่ยว ความวุ่นวาย จนแทบไม่มีพื้นที่ให้เดินเลยทีเดียว

ภาพดังกล่าวถูกนำมาพูดถึง และถกเถียงในหลายประเด็น ทั้งนโยบายการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว มาตรการการจัดการดูแลนักท่องเที่ยวที่เกินกำลังเจ้าหน้าที่และอุทยานจะรับไหว ผลที่ตามมา แนวปะการัง-ธรรมชาติที่เสียหาย ความเสื่อมโทรม สาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ

ปัญหาดังกล่าว ยังขยายไปถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งที่เป็นทรัพยากรไทย แต่รายได้ไม่ตกมาถึงคนไทย มีชาวจีนและผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย จนไม่สามารถควบคุมจำนวนความเหมาะสมได้

ภาพจาก Loveaholic เที่ยวอยู่ได้

ทั้งหมดถูกขมวดซ้ำเป็นปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ไขได้ แม้มีความพยายามที่จะพูดเรื่องนี้ซ้ำหลายครั้งก็ตาม ตัวเลขจาก ททท. เผยให้เห็นว่า ในปี 2551 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมี 14.8 ล้านคน จำนวนปะการังเสียหาย 30% แต่ทว่าปีที่ผ่านมา (2560) จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสูง 34 ล้านคน ขณะที่ความเสียหายของปะการังมากถึง 77% ซึ่งสถิติมีการบอกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีพฤติกรรมชอบไปทะเลมากถึง 75% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งอุทยานทางทะเลมีตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 4.8 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังทะเลเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในทุกปี แสดงถึงปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การกำหนดเพดานจำนวนนักท่องเที่ยว ในอุทยานที่มีคนล้นอย่าง เกาะพีพี เกาะสิมิลัน จะได้ทำจริงๆ หรือ เมื่อรายได้หลักของประเทศ มาจากการท่องเที่ยวเกิน 1 ใน 5 ของจีดีพี ประเทศไทย ซึ่งสวนทางกับการจำกัดคนโดยสิ้นเชิง

จากประเด็นดังกล่าว ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ถึงแนวทางการแก้ไขสภาวะนักท่องเที่ยว “โหลดหนัก” ไว้ ทั้งข้อเสนอจำกัดเพดานนักท่องเที่ยว การกระจายนักท่องเที่ยว ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

เราลองมาฟังมุมมองของ ดร.ธรณ์กัน….

ภาพจาก Loveaholic เที่ยวอยู่ได้

จำกัดเพดานนักท่องเที่ยว ไม่เกิน 6 ล้านคน/ปี/อุทยาน

ดร.ธรณ์ มองถึงอนาคตการพัฒนา สาธารณูปโภค ที่กำลังจะมีสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ หรือการเปิด EEC ก็จะยิ่งเอื้อให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกมาก และจุดหมายปลายทางก็คงไม่พ้น “ทะเล” พร้อมกับบอกว่า อุทยานไม่ใช่ “ห้างสรรพสินค้า” สร้างเฟส 2-3 ไม่ได้

มีตัวเลขว่า อีก 12 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 70 ล้านคน อุทยานทางทะเล ไม่เหมือน “ห้างสรรพสินค้า” ที่ต่อเติมเฟส 2-3 ได้ เราไม่สามารถสร้างเกาะใหม่ได้ ใจความสำคัญจริงๆ คือ การรักษาพื้นที่ไข่แดงที่เป็นมรดกของชาติ รักษาทรัพยากร เราจึงทำยุทธศาสตร์ชาติ คำนวณตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่เกิน 6 ล้านคน/ปี ต่อหนึ่งอุทยานทะเล และคงจำนวนนี้ตลอดไป เพื่อรักษาความสมดุล

ศึกษาการกรองคน กระจายนักท่องเที่ยวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่น

เรากำลังพูดถึงความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว ความสามารถในการกรองคนให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวล้นถึง 3 เท่า ฝ่ายหนึ่งขนคนเข้ามาเพื่อหารายได้เข้าประเทศ อีกฝ่ายก็ตั้งรับกันเป็นเวลานาน เราควรศึกษาการ “กระจายคน” บริหารจัดการนักท่องเที่ยวไปยังที่ไม่โอเวอร์โหลด จะโปรโมตดึงคนไปยังไง ทุกวันนี้ท่องเที่ยวเที่ยวตามโปรแกรม คนไปญี่ปุ่นก็ต้องการไปที่ดังๆ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องศึกษาและทำควบคู่กัน

ผลประโยชน์ต้องไม่ตกไปอยู่ที่คนอื่น

อีกประเด็นที่สำคัญมากคือ “ผลประโยชน์ของชาติ” เม็ดเงินเข้าประเทศ แต่ไม่ได้ตกอยู่กับคนไทย ทุกวันนี้ไกด์จีนเดินกันเพียบ ดร.ธรณ์เผยว่า คนในพื้นที่ต้องทำงานหนักให้มากกว่าเดิม และจากที่ได้ลงพูดคุย ผู้ประกอบการชาวไทยส่วนใหญ่อยากให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้พอเหมาะ แต่ผลประโยชน์อยู่กับคนไทย ไม่งั้นคุมไม่ได้ ฝ่ายท่องเที่ยวก็ต้องหาทางร่วมเช่นกัน

ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

สำหรับประเด็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยนั้น ดร.ธรณ์ มองความเป็นไปได้ที่จะนำระบบ E-Ticket มาใช้ เปิดจองบัตรออนไลน์ล่วงหน้า เต็มตามจำนวนแล้วก็ปิด ไม่ใช่ขายบัตรทุกคนที่มาหน้าอุทยาน แล้วไปวัดดวงกันข้างใน ถ้ามีการนำมาใช้เราจะควบคุมเบื้องต้นได้

การใช้กล้องติดเรือ ใช้จับความเร็วเรือ เพื่อความปลอดภัย ขับใกล้แนวปะการังหรือไม่ จริงๆ ตรงนี้มีกฎหมายชัดเจน แต่ไม่เคยมีคนพูดมาก่อน หรือจัดทำ แอปพลิเคชั่น เพื่อรายงานข่าว ความเคลื่อนไหว ให้คนรับรู้ ไม่ใช่เห็นข่าวจากแค่กระแสบนเฟซบุ๊กเท่านั้น

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงปัญหา สภาวะนักท่องเที่ยวกำลัง “โหลดหนัก” ในสถานที่หนึ่งมากเกินไป พอนักท่องเที่ยวเยอะ สิ่งที่ตามมาคือเจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้เวลามาดูแล ทำให้งานหน้าตักที่ต้องดูแลรักษาอุทยานลดลง แค่จำนวน 30 คนต่อสัดส่วนคนเป็นพัน ยังไงก็ตาย

ภาพจาก Loveaholic เที่ยวอยู่ได้

ททท.-กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผลักดันบูมท่องเที่ยว “เมืองรอง”

ประเด็นการกระจายนักท่องเที่ยวที่กำลัง “โอเวอร์โหลด” สอดรับกับทาง ททท. และกระทรวงการท่องเที่ยว ที่กำลังเร่งแผนผลักดันท่องเที่ยวไปเมืองรองใน 55 จังหวัด เพื่อกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับรากฐาน ด้วยการปรับปรุงด้านสินค้าการท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก จัดแคมเปญการตลาด โดยทางททท.กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอแผนโครงการส่งเสริม โดยวางกรอบของบประมาณกลางจากรัฐบาลเอาไว้ที่ 3,260 ล้านบาท สำหรับ 3 โครงการ 1.จัดสรรลง 55 จังหวัดรอง จังหวัดละ 50 ล้านบาท 2.แคมเปญเที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต (Amazing Thailand Go Local) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายราว 1 หมื่นล้านบาทในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยวางงบประมาณไว้ 410 ล้านบาท และ 3.โครงการทัวริสซึ่ม บิ๊กดาต้า ใช้งบ 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอทีในการจัดเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำมาใช้ในการตลาด

โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยถึงแนวทางว่า ททท. เตรียมประสานไปยังหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อออกแบบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ให้เข้ากับจุดแข็ง-จุดอ่อน ตรงความต้องการของแต่ละจังหวัด ทั้งพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน การให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว อบรมพัฒนาบุคลากร หรือจัดอีเวนต์สร้างความรับรู้ และกระตุ้นตลาดให้เป็นที่สนใจ ซึ่งแผนดังกล่าว น่าจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรับรู้ ดึงความสนใจไม่ให้นักท่องเที่ยวไปกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป และกระจายออกตามเมืองรองมากยิ่งขึ้น

ททท.โหมเที่ยวในประเทศ จัดเทศกาลเที่ยวเมืองไทย’61 ชูจุดเด่นของดีแต่ละภูมิภาค

อีกหนึ่งอีเวนต์ที่จะช่วยสร้างการรับรู้สถานที่ท่องเที่ยว และของดีที่ถูกมองข้ามในประเทศไทย เมื่อ ททท. ได้จัดเทศกาล “เที่ยวเมืองไทย” โดยนำจุดเด่นของแต่ละภูมิภาคมานำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยจะยกมาไว้ที่สวนลุมพินี ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง การพยายามให้นักท่องเที่ยวรู้จักและเข้าใจว่า สถานที่เที่ยวในเมืองไทยนั้นยังมีอีกมากมาย ทั้งเชิงตามรอยประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ธรรมชาติ เพื่อกระจายตัวเลขที่ผู้คนตรงดิ่งไปยังทะเลมากที่สุดให้ได้ รวมถึงโปรแกรมเที่ยว และสินค้าตลอดทั้ง 12 เดือน โครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด, โครงการท้าเที่ยวข้ามภาค

อาจถึงเวลาแล้ว? ที่ทุกอย่างต้องถูกบาลานซ์กัน ทั้งรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยที่ไม่ตกไปอยู่ในมือคนนอก แม้การแก้ปัญหาสภาวะ “โอเวอร์โหลด” คนล้นสถานที่ท่องเที่ยว อาจไม่เห็นในห้วงเวลาอันใกล้ แต่ก็พอเห็นว่า หลายฝ่ายกำลังหามาตรการแก้ไขอย่างจริงจังกันมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไปในทางที่ใช่สำหรับทุกฝ่าย