จากก้าวคนละก้าว ถึง เสือดำ! คุยกับ “โอ๊ค Big Ass” เคลื่อนไหวด้วยงานศิลปะ และการตื่นตัวของสังคม

เรื่อง : ธรรมธวัช ศรีสุข
ประเด็นล่า..ฆ่า “เสือดำ” ของนายทุนเงินหนา เงียบลงในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และถูกดราม่าคลื่นใหม่มากลบกระแส จนเป็นเพียงอีกเรื่อง ที่มีการ “ตื่นตัว” เพียงวูบลมหนึ่งที่พัดผ่านมาเท่านั้น ขณะที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ท็อปปิคในวงสนทนาออนไลน์เปลี่ยนไปพูดถึง “ป้าทุบรถ” ยังมีคนอีกหลายกลุ่ม ที่พยายามเคลื่อนไหวเล็กๆ ทำอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้ “เสือดำ” ต้องตายฟรี
 
“ร็อกไม่มีวันตาย แต่เสือดำตายใครจะรับผิดชอบ?” ประโยคจาก “แน็บ Retrospect” ที่คำรามบนเวที G19 จุดกระแสตื่นตัวให้คนในวงกว้างหันมาสนใจเรื่องนี้ มีการล่ารายชื่อกว่า 4 หมื่นคน จนเกิดเป็นคอนเสิร์ตเพื่อเสือดำ HEART OF THE PANTHER โดยมีการนำเงินบริจาคให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นี่คือปรากฏการณ์หนึ่งในวงการบันเทิงที่สะท้อนว่า นอกจากคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ยังมีกลุ่มคนธรรมดาที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรม แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ตาม
 
เช่นเดียวกับ “พงษ์พันธ์ พลสิทธิ์” หรือ “โอ๊ค” มือเบสวง Big Ass ที่นอกเวลาฟูลไทม์ทัวร์คอนเสิร์ตกับวง จะใช้เวลากับการเขียนภาพศิลปะแนว Realistic สะท้อนสังคม เผยแพร่ทางแกลเลอรี่ออนไลน์อย่างอินสตาแกรม ผลงานชิ้นเอกที่ถูกไฟสปอตไลท์ส่องไปทั่วประเทศ คือภาพ “Blackened” ที่ “ตูน บอดี้สแลม” ขอนำไปใช้เป็นโลโก้โครงการ “ก้าวคนละก้าว” รวมถึงฟ้อนท์ ก็เป็นลายมือของเขาเช่นกัน จนมาถึงผลงานชิ้นล่าสุด “No More Killing” ถูกเขียนขึ้นมาหลังมีข่าวการฆ่าเสือดำ แม้ภาพนี้จะถูกเขียนขึ้นมาด้วยอารมณ์โกรธเคือง แต่สุดท้าย ภาพทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนเสื้อยืด เพื่อบันทึกเหตุการณ์ พูดแทนสัตว์ป่า และขายนำรายได้มอบให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และโครงการอื่นๆ ที่ดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
เป็นอีกครั้ง … ที่ศาสตร์ของศิลปะ ไม่ว่าจะดนตรี หรือภาพวาด ได้ถูกนำมาใช้เพื่อซัพพอร์ตเชิงสัญลักษณ์ในการรวมพลังของคนหมู่มาก และทำอะไรเพื่อสังคม
 
เรามีนัดคุยกับ “โอ๊ค Big Ass” ในพาร์ทงานศิลปะ กับการเคลื่อนไหวเล็กๆ ของอาร์ทติส และประเด็น ล่าเสือดำ ซึ่งเจ้าตัวเริ่มเล่าถึงงานอาร์ตเวิร์คใน “ก้าวคนละก้าว” ที่สร้างปรากฏการณ์การรวมพลังครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
 
“ตูนเค้าชอบภาพนี้มาก” โอ๊คเกริ่น
 
“Blackened มาจากเพลงของ Metallica เราเอาเนื้อเพลงมาตีความ แล้วเขียนเป็นภาพต้นไม้ที่ใกล้จะตาย มีนกกำลังบินออกไป แทนสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่กำลังจะกลายเป็นสีดำ จากการทำลายของมนุษย์ ที่ใช้ทรัพยากรโลกอย่างสิ้นเปลือง แม้แต่นกยังต้องบินออกไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ตูนมาเห็นภาพนี้แล้วชอบมาก และอยากได้ภาพนี้ไปเป็นโลโก้โครงการ “ก้าวคนละก้าว”
 
ซึ่งตูนตีความหมายของภาพนี้ว่า ต้นไม้ที่กำลังจะตาย แต่นกคือคีย์สำคัญ มันกำลังบินออกไปเพื่อหาอาหารกลับมาที่รัง เพื่อทำให้ต้นไม้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง นก 4 ตัว เปรียบเหมือนความหวัง นี่คือสิ่งที่เค้าคิด เลยทำให้ภาพนี้ดูสว่างขึ้นมา ถ้าคิดแบบนี้ เราบอกตูน เออ …. มึงเอาไปเลย (หัวเราะ) เราเลยให้ภาพต้นแบบไปให้ทีมงานพัฒนาต่อ พอเห็นภาพนี้ออกไปทางสื่อมันสร้างอิมแพ็คมาก โดยเฉพาะก้าวที่เบตง-แม่สาย ภาพมันออกไปสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ เราโชคดีมากๆ ที่ตูนเลือกภาพ Blackened เพราะเรารู้สึกภูมิใจ ที่มีคนเห็นคุณค่าของงาน
 
“เราเคยไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ มันคือสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะภาพของเราไม่ใช่เรื่องที่โสภานัก มันเล่าถึงด้านมืดของสังคม แต่ท้ายที่สุด เสน่ห์ของศิลปะมันขึ้นอยู่กับคนตีความ บางทีแคปชั่นอาจจะชี้นำ แต่ถ้าคนรู้สึกกับอะไรก็ตาม ก็ปล่อยให้เค้ารู้สึกไปอย่างนั้น
 
ข่าวสะเทือนขวัญ หนึ่งชีวิตหลับ หลายชีวิตตื่นตัว ที่มาของผลงานใหม่ “No More Killing”
 
“จริงๆ การล่ามันมีมาหลายยุค แต่การล่าครั้งนี้มันตีความได้หลายอย่าง ทั้งชนชั้นของคนที่มีสิทธิ์ในการคิดสังหารสิ่งมีชีวิต เพียงแค่เค้าเป็นสัตว์? ที่ทำให้คนโกรธ เพราะสิ่งที่เค้าทำ มันเป็นการดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพธรรมชาติ ยิ่งเป็นระดับคนที่มีเงินทอง การพรากชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธ์ ภาพเสือดำ มันอาจเป็นตัวแทนของสัตว์อีกหลายชนิดที่ต้องตายด้วยการล่า มีอีกหลายตัวที่คนไม่รู้ คำว่า No More Killing คือเราไม่อยากให้มีการฆ่าอีกแล้ว เรากำลังบันทึกความรู้สึกลงภาพ อยากให้เตือนใจตัวเองและคนอื่นด้วย เลยทำออกมาเป็นเสื้อ อยากให้คนมองภาพนี้แล้วรู้สึกจำได้ว่า ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
 
ป่าคือบ้านของสัตว์ ที่ผ่านมา เราเข้าไปในบ้านเค้า ไปขโมยของเค้า กินของเค้า รุกรานในพื้นที่ของเค้า หนักสุดคือ เราไปยิงเค้าในบ้าน ไปเอาร่างกายเค้าออกมาเป็นสินทรัพย์ของตัวเอง กลับกันถ้าเกิดขึ้นกับมนุษย์ ที่คือสิ่งที่โหดร้ายมากสำหรับมนุษย์ ที่เรียกตัวเองว่า “สัตว์ประเสริฐ” จะทำกับสิ่งมีชีวิตบนโลก” เราอาจจะกินเนื้อสัตว์ นั่นคือวัฎจักร แต่สัตว์ป่าเค้ามีธรรมชาติของเค้า ก็ควรจะปล่อยเค้า ไม่ควรมาล่าแบบนี้”
 
วลีฮิต … เสือดำตาย ใครจะรับผิดชอบ?
 
แม้กระบวนการยุติธรรมอาจจะเป็นบทสรุปของทุกอย่าง แต่โอ๊คมองว่า ทุกคนในสังคมควรมีส่วนรับผิดชอบ หรือลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่สำคัญที่สุด คือทีมเจ้าหน้าที่ดูแลผืนป่า ควรมีการซัพพอร์ตที่ดีในเรื่องการดูแล ความปลอดภัย สวัสดิการ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ไขว้เขวกับระบบทุนนิยมที่ยัดเงินเข้ามา
“เสือดำตายไปแล้ว เราทำให้ฟื้นไม่ได้ มานั่งตั้งคำถามว่าใครรับผิดชอบ อาจเหมือนวัวหายล้อมคอก แต่จะทำยังไงให้เสือตัวต่อไปไม่ตาย ทำยังไงให้เจ้าหน้าที่รู้สึกไม่ถูกทอดทิ้ง ยังมีคนอีกมากมายที่พยายามปกป้องผืนป่า แต่ผืนป่ามันใหญ่มาก สามารถเข้าได้หลายทิศ ทุ่งใหญ่นเรศวรครอบคลุมหลายจังหวัด มีที่ให้เข้าเยอะ เราต้องให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ ใส่ใจกับสวัสดิการ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่สมัยก่อนเจ้าหน้าที่มีปืนลูกซองยิงได้ในระยะ 9 เมตร แต่นายพราน คนลักลอบตัดป่ามีปืนไรเฟิล M16 ที่ยิงระยะไกลได้ ต้องกลับมามองว่า เราให้ความสำคัญในการดูแลป่ามากขนาดไหน หรือพวกเราเองใส่ใจมากพอหรือยัง เรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่พูดกันได้อีกนานเลย
 
เพราะเมื่อสัตว์ป่า หรีอต้นไม้หายไปจากวงจรธรรมชาติ จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าวันหนึ่งไม่มี ตอนนี้เราอาจจะไม่เห็นภาพ แต่ลูกหลานเราจะเห็นและรู้สึก ซึ่งเราเห็นสัญญาณเตือนกันแล้วว่าธรรมชาติมันผิดเพี้ยน”
กระแสชั่ววูบ และการตื่นตัวของสังคม
หลายครั้ง…ประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น หรือการเรียกร้องความยุติธรรม แม้กระทั่งด่าซ้ำคนทำผิดจนจมดิน จะอยู่ในกระแสสังคมเพียงแค่ช่วงหนึ่ง เพื่อรอส่งไม้ต่อให้กับเรื่องใหม่ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ก็ลืม โอ๊คมองว่า ถ้าการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้อง ถึงจะเป็นกระแส ก็ควรทำ
 
“เราเรียกว่า “การตื่นตัว” จะแค่สองสามวัน เป็นเดือน หรือตลอดชีวิต ก็แล้วแต่คน แต่อย่างน้อยก็ตื่นตัวและพยายามทำอะไรบางอย่าง เพราะตอนนี้สังคมต้องการการตื่นตัว ทุกคนเอาแต่ด่าว่าสังคมห่วย ทั้งที่ตัวเองยังไม่ทำอะไร ทั้งที่มีคนที่เค้าพยายามทำอะไรบางอยู่
 
ศิลปะกับการเปลี่ยนแปลงสังคม คนบางคนสามารถดีขึ้นได้ด้วยการดูละคร?
 
มือเบสในร่างอาร์ทติสพูดถึงประเด็นนี้ว่า เราอาจเปลี่ยนสังคมในระดับภาพใหญ่ไม่ได้ แต่ในฐานะคนทำงานศิลปะ การถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง เพื่อเตือนใจ และมีคนหลายวงการที่พยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม
 
“ถ้าดูละคร ดนตรี หรืองานแสดงต่างๆ เค้าจะพยายามสะท้อนปัญหาสังคมตลอด แม้แต่ละครน้ำเน่าทั่วไป เค้าจะพยายามอะไรให้สังคมหรือเปล่า? เค้าทำนะ เราเชื่อว่าคนบางคนสามารถดีขึ้นได้ด้วยการดูละครด้วยซ้ำ อย่างตอนนี้เราพูดไม่อายว่าติดละครเรื่องล่ามาก (หัวเราะ) เคยดูตั้งแต่เวอร์ชั่นเก่า อันนี้ก็ปรับให้มันเข้ากับยุค ที่พูดถึงเรื่องโซเชียล เด็กเข้ามาเสพความรุนแรง ภาพโป๊อนาจารกันเป็นเรื่องปกติ เรื่องคดีความข่มขืนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม คนทำผิดไม่กี่ปีก็ออกมาเดินสบาย มันสะท้อนสังคมตอนนี้อย่างมาก ถ้าเราจับแมสเสจละครดีๆ ระบบความยุติธรรมมันก็มี แต่มันมีช่องโหว่เยอะ
ก่อนจบบทสนทนา โอ๊คมองถึงการให้ค่างานศิลปะของคนว่า ไม่แปลก ที่ศิลปะจะถูกนำมาซัพพอร์ตการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ เช่น โครงการก้าวคนละก้าว หรือปมเสือดำก็ตาม มันคือกลไก เพราะแอ็คชั่น หรือสิ่งที่เกิดขึ้น จะมาก่อนภาพเสมอ แต่หากวันหนึ่ง มีงานศิลปะที่สามารถสร้าอิมแพ็คกับคนหมู่มาก ที่คนให้ค่ากับงานศิลปะเป็นอันดับแรก ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งโอ๊ค มองเรื่องศิลปะว่า ตอนนี้ศิลปิน คนทำงานศิลปะในประเทศไทยมีพื้นที่ มีอิสระทางความคิด และสามารถสื่อสารด้วยผลงานได้ง่ายกว่ายุคอดีต ที่ต้องแสดงงานที่แกลเลอรี่ หรือหอศิลป์เท่านั้น
 
“ศิลปะไม่ทำให้คนอิ่มท้อง แต่ศิลปะคือความจรรโลงใจ ต่างประเทศที่เจริญแล้ว คนจะให้ความสำคัญกับศิลปะสูงมาก ในออสเตรเลีย หรืออเมริกา จะเห็นภาพใหญ่ๆ ที่ติดตามผนัง ศิลปินข้างถนนส่วนใหญ่มีศักดิ์ศรีในการทำงานสูง ศิลปะจะมีทุกที่ที่เราเดินไป เค้าให้ความสำคัญกับศิลปะมาก ศิลปะคือสิ่งสำคัญที่บอกวัฒนธรรมว่าคนในสังคมนี้เป็นอย่างไร”
สามารถสั่งเสื้อ No More Killing ราคาตัวละ 300 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำไปให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และและโครงการอื่นๆ ที่ดูแลรักษาป่าไม้และสัตว์ป่า ได้ที่ เบอร์ 095-472-3437 Line : nomorekilling