จากรุ่นสู่รุ่น! คุยกับทายาท “สวนลุงเทิ้น” ผันตัวสู่เกษตรกร รับไม้ต่อดูแล “ชมพู่เพชรสายรุ้ง”

เรื่องโดย กรกนก มาอินทร์ / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อีกหนึ่งของดีที่ไปเยือนจังหวัดเพชรบุรีคือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เขียนไว้ในหนังสือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง ” ว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นไม้ผลที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อประมาณ 176 ปีที่แล้ว เดิมมีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ชมพู่เขียวเสวย ชมพู่สายน้ำผึ้ง

ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เพื่อเจาะจงลงไปว่าเป็นพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าอันไหนคือชมพู่เพชรแท้ๆ

หากลองเสิร์ชข้อมูลในกูเกิลว่า “ชมพู่เมืองเพชร” รายชื่อสวนอันดับเเรกที่ปรากฎคือ “สวนชมพู่ลุงเทิ้น” ตั้งอยู่ที่ ตำบล หนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี เพชรบุรี อีกหนึ่งสวนชมพู่ที่เป็นที่รู้จัก เเละได้รับความนิยม

เรณู ผิวขำ หรือพี่น้ำ ลูกสาว “ลุงเทิ้น” อาสาเป็นคนพาชมสวนชมพู่ที่มีอายุเท่าตนเองก็ว่าได้ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น พื้นที่กว่า 2 ไร่ ต้นชมพู่อายุนับ 40 ปี ขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยนั่งล้านทำจากไม้ เพื่อให้คนงานปีนขึ้นไปห่อชมพู่ เก็บผลผลิต เเละในบางครั้ง พี่น้ำเล่าด้วยน้ำเสียงขบขันว่า “ลูกค้าก็มีปีนขึ้นไปถ่ายภาพ”

เรณู ผิวขำ

“พี่น้ำ” เล่าย้อนกลับไปกว่า 40 ปีที่เเล้ว “ลุงเทิ้น” เดิมมีอาชีพทำนา ซึ่งในตอนนั้นปลูกข้าวนาปี 6 เดือนทำนา 1 ครั้ง พอพ้นหน้าทำนา รายได้ก็เริ่มหาย จึงหันมาปลูกชมพู่ ซึ่งเเต่ก่อน “ชมพู่เพชรสายรุ้ง กิโลกรัมละ 40 บาทเท่านั้นเอง”

เวลาผ่านไป อายุของลุงเทิ้นมากขึ้น ร่างกายไม่ได้เเข็งเเรงเหมือนตอนยังหนุ่ม เริ่มทำงานไม่ไหว จึงได้ไอเดียว่า ควรเก็บชมพู่เอาไว้ พี่น้ำตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เเล้วมุ่งสานต่องานที่พ่อสร้างไว้ ด้วยการเป็นเกษตรกรแบบเต็มตัวมากขึ้น

ต้นชมพู่เพชรสายรุ้งอายุนับ 40 ปี

“เกือบ 3 ปีนะ ที่พี่เปิดเพจทางเฟซบุ๊ก ช่วงเเรกที่ทำเพื่อให้คนรู้จักกับชมพู่มากขึ้น พอนานเข้าเริ่มมีคนมาพูดว่ามาเมืองเพชรไม่ได้กินชมพู่เพชรเลย เวลาไปชิมหวานมาก เเต่พอซื้อกลับบ้าน จืดบ้าง เน่าบ้างก็มี” พี่น้ำเล่าขณะพาเราเดินเข้าไปใต้นั่งล้านท่ามกลางต้นชมพู่อายุ 40 ปี ขนาดใหญ่ พร้อมเล่าต่อว่า

ทำไมเเม่ค้าไม่ซื่อสัตย์ในอาชีพตนเอง ชมพู่ที่คนมักเข้าใจผิด เพราะคิดว่าถ้ามาถึงเพชรบุรี ชมพู่ทุกพันธุ์คือ “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” เเต่จริงๆ มักเอาชมพู่เพชรสุวรรณ ที่ซื้อขายกันไม่กี่สิบบาท เเต่กลับเอาไปหลอกขายกิโลละเป็นร้อย จึงบอกเล่าข้อมูลลงในเพจ เริ่มมีลูกค้าสนใจ มาซื้อหน้าสวน เกิดการบอกต่อ โดยลูกค้ากลุ่มนี้ไม่เกี่ยงราคา ขอเเค่คุณภาพของชมพู่พอ

ชมพู่เพชรสายรุ้ง@สวนลุงเทิ้น

 

หลังจากกระโดดลงสู่สนามค้าขายออนไลน์ “พี่น้ำ” บอกว่าลูกค้ามาจากทางออนไลน์มากกว่าหน้าสวน เนื่องจากระยะทาง เเละการเดินทางมาหน้าสวนยังคงติดขัดสำหรับลูกค้า

ตอนนี้สวนลุงเทิ้นมีการส่งชมพู่เข้าไปในกรุงเทพฯ 3 จุด ได้เเก่ สายใต้ใหม่ สายใต้เก่า หมอชิต เพิ่มการส่งคือ SCG เเต่จะได้ในตัวเมืองที่ 1 วันของไปถึง สำหรับสายใต้ทั้งหมดจะส่งทางรถทัวร์ ให้ลงตามจุด ลูกค้าก็มารับ ถ้าสายอีสานจะไม่มีรถจริงๆ ก็จะเเก้ด้วยการรวมออเดอร์ 1 วันเเล้วไปส่งที่นครชัยเเอร์ ถนนกำเเพงเพชร เเล้วกระจายของไป กรณีที่ไม่ได้ไปออกบูธ จะส่งของไปที่กรุงเทพฯ 1 จุด เเล้วเรียกไลน์เเมนส่งให้ลูกค้า ส่วนระยะไกล ได้ในบางจังหวัด เพราะชมพู่จะต้องส่งให้เร็วที่สุด

ลุงเทิ้น/พี่น้ำ

“การที่เราซื่อสัตย์กับลูกค้า เค้าจะไปบอกต่อ เเล้วกลับมาซื้อ จากที่ซื้อครั้งเเรก 2 กิโลกรัม ก็กลับมาซื้อเพิ่มเป็น 10 กิโลกรัมก็มี ถ้าส่งไปเเล้วชมพู่เกิดเสียหายระหว่างส่ง ทางสวนจะเคลมให้ ด้วยการส่งผลไม้ชุดใหม่ไปให้ ทำให้เราได้ใจลูกค้ามากขึ้น” พี่น้ำเล่า ขณะหยิบชมพู่ที่เก็บไว้ในชะลอมมาให้ได้ชมเเละชิม

ชมพู่เพชรสายรุ้ง

หลังจากลิ้มรสเเละได้สัมผัสชมพู่กันไปพอสมควร เกิดข้อสงสัยที่ว่าจุดเด่นของชมพู่เพชรสายรุ้งของสวนลุงเทิ้นอยู่ที่ไหน? “พี่น้ำ” ตอบว่า ชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นผลไม้ GI (สิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ติด 1 ใน 75 สินค้า GI ของประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ปลูกอยู่ไม่ไกลจากเเม่น้ำเพชร เเละได้ชื่อว่าเป็น “ดินน้ำไหลทรายมูล” มีการทับถมของซากตะกอน ดินมีเเร่ธาตุ เเละความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่มาของรสชาติที่ดีของชมพู่เมืองเพชร

“เพชรสายรุ้งเเท้จะมีก้นเเคบ รสชาติหวาน ผิวสวย สีของผลจะมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อนปนชมพูมีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว ขายกันหน้าสวนที่ 150 200 250 300 ตามขนาดของชมพู่ เมื่อส่งไปขายที่กรุงเทพฯ ไซซ์ใหญ่สุดอยู่ที่ราคา 400 บาท กรณีลูกค้าไม่มั่นใจว่าได้ชมพู่เพชรสายรุ้งหรือเพชรสุวรรณนั้น ให้ดูเลยว่า ชมพู่เพชรสุวรรณก้นจะกว้าง ผิวสีเขียวเข้ม รสชาติจืด”

(ซ้าย) ชมพู่เพชรสายรุ้ง / (ขวา) ชมพู่เพชรสุวรรณ
(ซ้าย) ชมพู่เพชรสายรุ้ง / (ขวา) ชมพู่เพชรสุวรรณ

เมื่อถามต่อไปถึง กระบวนการ ขั้นตอนการปลูก “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ได้รับคำตอบพร้อมรอยยิ้มว่า การดูเเลเริ่มตั้งเเต่ชมพู่ออกดอก เเละทิ้งเกสร หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ จะใช้ถุงกระดาษสีน้ำตาลมาห่อหุ้มผลเอาไว้ เรียกได้ว่า ผลผลิต 1 ตัน ก็ห่อกันทั้งหมดนั่นเลย

เเล้วการห่อด้วยถุงกระดาษต่างจากการห่อด้วยถุงพลาสติกที่เราเห็นกันอย่างไรนั้น “พี่น้ำ” เล่าว่า จากการลองถุงพลาสติกห่อ ชมพู่จะผิวไม่สวย คลายน้ำ รสชาติเสีย เเต่การใช้ถุงกระดาษสีน้ำตาลห่อนั้นจะช่วยให้ผิวของชมพู่สวย ใส รสชาติของชมพู่จะหวานกรอบ ทั้งยังกันเเมลงได้

ซึ่งหลังจากห่อถุงกระดาษสีน้ำตาลเป็นเวลากว่า 25-30 วัน จะเริ่มเก็บผลผลิตได้เเล้ว เเต่ถ้ากรณีเปิดออกมาเเล้วชมพู่ยังไม่ได้ที่ก็จะรอต่อไปจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งผลผลิตต่อครั้งอาจได้ถึง 1 ตัน สวนรายได้นั่น “พี่น้ำ” แอบกระซิบว่า อยู่ที่หลักเเสนเลยทีเดียว

“หลายคนอาจบ่นกันว่าชมพู่มันราคาเเพง เเต่จริงๆ การดูเเล ต้นทุน พร้อมทั้งคุณภาพมันเหมาะสมกับราคา ส่วนที่ว่าชมพู่เราฉีดยาฆ่าเเมลงทำให้ผิวสวยนั้น จริงๆ เเล้วเราห่อกันทุกผลต่างหาก”

เเล้วต้นชมพู่อายุกี่ปีกันนะ…ถึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้คุณภาพ? คำตอบจากลูกสาวลุงเทิ้น คือ ต้นชมพู่มีอายุนับร้อยปี ประมาณ 5-7 ปีขึ้นไป ต้นชมพู่จะให้ผลผลิตที่หวาน มีคุณภาพ สามารถเก็บเกี่ยวได้ ในส่วนนี้การบำรุงมีผลต่อรสชาติของชมพู่ สำหรับสวนลุงเทิ้น เเน่นอนว่า ต้นชมพู่อายุกว่า 40 ปี รสชาติไม่แพ้ใครเเน่นอน

เป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของเพชรบุรี ที่ใครมีโอกาสเเวะไปเยือนต้องห้ามพลาด “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” จากสวนลุงเทิ้น นอกจากนี้ยังมีทุเรียนเเละผลไม้อื่นๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของสวนลุงเทิ้น มาพร้อมกับคติที่ว่า “ถ้าเราซื่อสัตย์กับลูกค้า เราจะอยู่ได้ อยู่นาน”

ภาพบรรยากาศ “สวนลุงเทิ้น”