“Liluna” แอปพลิเคชัน Carpool ฝีมือคนไทย แปลงร่างโครงการรัฐที่เคยอยู่บนหิ้งลงสู่สนามออนไลน์!

นลิศา เตชะศิริประภา  / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

• แอปพลิเคชันการเดินทางแบบคาร์พูล (Carpool) ฝีมือคนไทย..แปลงร่างโครงการรัฐในอดีตมาอยู่บนออนไลน์
• ยืนยันไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่บริการเรียกรถรับส่ง!
• “น้ำใจในการเดินทาง” คือความต้องการ เพราะ “Liluna” ไม่มีโมเดลธุรกิจ
• หวังคนไทยใช้มากขึ้น ตั้งเป้าปี’61 มียอด 1 ล้านดาวน์โหลด
• จังหวะดี LPN ต่อยอดจับมือทำแอปฯ LPN Share ดีเดย์ต้นเดือนเม.ย.นี้

“โครงการรวมพลังหาร 2”…เชื่อว่าชื่อนี้หลายคนยังคงจำได้ดีเพราะเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมารัฐบาลได้โหมรณรงค์โครงการดังกล่าวให้ประชาชนเดินทางเดียวกันไปด้วยกัน ด้วยวิธีการเดินทางแบบ “คาร์พูล” (Carpool)

ด้วยเหตุผลที่ว่าประหยัดน้ำมัน ประหยังพลัง ลดมลภาวะ และแก้ไขปัญหาการจราจรที่ขึ้นชื่อว่า ‘กรุงเทพฯเป็นเมืองรถติดที่สุดติดอันดับโลก’ แต่ดูเหมือนว่าจะตื่นตัว และได้รับความนิยมแค่ในช่วงแรก แล้วกระแสค่อยๆ จางหายไป โครงการรวมพลังหาร 2 ถูกเก็บขึ้นไปบนหิ้งเฉกเช่นโครงการอื่น…

และด้วยยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กระแส’สตาร์ตอัพ’กำลังมาแรง ผนวกกับปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศไทยที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานทำให้โปรแกรมเมอร์หนุ่มชาวไทยวัย 34 ปี ที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันในเยอรมนีมานานหลายปี หันมาสร้างแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์เรื่องของการเดินทาง และเหมือนได้หยิบยกโครงการรวมพลังหาร 2 ให้กลับมาอีกครั้งกับแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Liluna” (ลิลูน่า) ที่เป็นการเดินทางแบบคาร์พูล…ที่อยากให้คนไทยได้ลองใช้

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ชวนพูดคุยกับซีอีโอหนุ่ม “นาย-นัฐพงษ์ จารวิจิต” ผู้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชัน “Liluna” (ลิลูน่า) ที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 1 ปี มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 แสนดาวน์โหลด

…จุดเริ่มจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน

นัฐพงษ์ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำแอปพลิเคชั่นว่า เมื่อเวลาตัวเองขับรถไปทำงานทีไรเบาะที่นั่งในรถก็ยังมีที่ว่างพอให้สามารถรับคนอื่นได้ บวกกับเห็นเพื่อนบ้านในคอนโดเดียวกันที่ต้องเดินออกไปใช้รถสาธารณะยืนคอยเป็นเวลานาน ทำให้เกิดไอเดียที่จะทำแอปพลิเคชันขึ้น หากเราสามารถเดินทางไปทางเดียวกันได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

“เราเคยเรียกคนขึ้นรถ บอกพี่ไปด้วยกันไหม ผมผ่านทางนี้นะ แต่ก็ไม่มีใครขึ้น…”

ด้วยความช่างสังเกต และเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองทำให้เกิด “Liluna” (ลิลูน่า) แอปพลิเคชันการเดินทางแบบคาร์พูลที่เป็นตัวกลางระหว่างคนขับ และคนนั่งในการหาเพื่อนร่วมเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน โดยคนขับเป็นผู้กำหนดราคาในการช่วยแชร์ค่าน้ำมันเอง หรือจะให้ร่วมเดินทางแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ได้

“ลิลูน่า” ไม่มีโมเดลธุรกิจ…แค่อยากเห็น “น้ำใจ” และเพื่อนรวมทาง

เพราะความสำเร็จคือ “การเดินทางร่วมกัน”

“เราทำเพราะเรารัก ลิลูน่าจึงไม่มีโมเดลธุรกิจ ไม่ได้มองเรื่องของกำไร แค่อยากจะทำขึ้นแล้วให้ทุกมาใช้เท่านั้น แต่ก็เกิดคำถามตามมาที่ว่า คุณทำแล้วคุณจะอยู่ได้อย่างไร คือแค่เราทำแล้วมีคนใช้มันก็คือความสุขแล้ว” นัฐพงษ์ระบุและว่า ในอนาคตหากลิลูน่าเป็นที่รู้จักมากขึ้นรายได้ก็น่าจะมาจากการโฆษณา และมุ่งเจาะโมเดลธุรกิจกับกลุ่มองค์กรใหญ่

เหมือนแต่แตกต่างกับ “Grab” และ “Uber” ยันไม่ผิดกฎหมาย!

เมื่อถามถึงความเหมือนและความต่างเทียบกับ “Grab” และ “Uber” นั้น นัฐพงษ์กล่าวว่า สามารถเทียบกันได้เพราะเป็นการเดินทางเหมือนกัน แต่มีความต่างกันอยู่เยอะ เพราะอันนั้นคือ บริการเรียกรถแท็กซี่รับ-ส่งที่สามารถเรียกให้ไปที่ไหนก็ได้ ขณะที่ “ลิลูน่า”นั้นไม่สามารถเรียกให้มารับได้ แต่เป็นการเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน แล้วสามารถลงระหว่างทางได้

นอกจากนั้นยังต่างในเรื่องของราคา เพราะคนที่มาขับนั้นไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ หรือสร้างเส้นทางเพื่อหากำไรราคาที่เกิดจากแอปพิเคชันลิลูน่าคือเรื่องของน้ำใจมากกว่า

ขณะเดียวกันกระแสเรื่องของกฎหมายที่หลายคนอาจมองว่าอาจจะผิดกฎหมายของกรมขนส่งฯเหมือนกับแอปฯให้บริการเรียกรถรับ-ส่งชื่อดังนั้น เขาระบุว่า ไม่ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะเราไม่ใช่บริการเรียกแท็กซี่รับ-ส่ง แต่สิ่งที่เราทำนั้นมันมีมานานแล้วอย่างโครงการรวมพลังหาร 2 ทางเดียวกันไปด้วยของภาครัฐ เราเอาสิ่งเหล่านี้มาแปลงร่างให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน

ฟีดแบก 2 กระแส คอนเฟิร์มความปลอดภัยเรามีมากกว่า!

หลังจากเปิดตัวมาได้ 1 ปีกว่า ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 101,000 ดาวน์โหลด กระแสตอบรับของแอปพลิเคชั่นนั้น นัฐพงษ์เล่าว่ามี 2 ส่วนทั้งยอมรับ บอกว่าเป็นไอดียที่เจ๋งดี ขณะเดียวกันบางส่วนกลับไม่ได้มองเช่นนั้นและกังวลเรื่องความปลอดภัยมากกว่า

“แค่เป็นสิ่งใหม่ของคนไทย คนเลยมีคำถามแบบนี้”

“เขาบอกว่าลูลิน่าเป็นแอปฯโลกสวยอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เป็นแอปฯหาคู่ดูไม่เหมาะกับเมืองไทย และอาจจะทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องลองนึกก่อนว่าถ้าหากคนจะทำผิดนั้นเขาจะมาใช้แอปฯของผมหรอ เพราะเราต้องลงทะเบียนในระบบมีหลักฐานอยู่ทุกอย่างทั้งคนนั่งและคนขับ”

ขณะที่เรื่องของความปลอดภัยนั้น ซีอีโอหนุ่มคนนี้กลับตั้งคำถามกลับมาให้ได้ลองขบคิดกันว่า “ถ้าเราลองไปเรียกแท็กซี่ด้านหน้าตรงนี้ เราก็ไม่รู้จักแท็กซี่เหมือนกันแต่ทำไมเรากล้าขึ้นไปนั่ง หรือลองเคยสังเกตมั้ยว่าป้ายชื่อ กับหน้าคนขับรถบริการนั้นมันตรงกันสักกี่คัน”

เขายังได้อธิบายย้ำว่า เรื่องตรงนี้ไม่ได้ต่างกับลูลิน่าเลย ซึ่งลูลิน่ามีระบบข้อมูลทุกอย่าง และก็ขึ้นอยู่กับทั้งผู้ขับ และผู้ร่วมเดินทางมากกว่าจะกดตกลงให้ร่วมเดินทางไปด้วยกันหรือไม่

ทั้งนี้แอปพลิเคชันลิลูน่ายังมีระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินแบบเรียลไทม์ ที่เรียกว่า “police i lert you” ที่เป็นระบบแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งผู้ให้บริการเรียกรับ-ส่งยักษ์ใหญ่ยังไม่มี!

วิธีใช้ไม่ยาก เจาะกลุ่มวัยกลางคน เร่งพัฒนาระบบ Real time รับเพื่อนร่วมทางกลางทางได้!

วิธีใช้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือของฝั่งคนนั่ง และฝั่งคนขับ โดยผู้ใช้เลือกลงทะเบียน กรอกข้อมูลตามขั้นตอน แล้วจะได้รับรหัส OTP เพื่อใช้ยืนยัน โดยฝั่งของคนที่ลงทะเบียนเป็นคนขับนั้นจะต้องอัพโหลดใบขับขี่ พร้อมกับป้ายภาษีแนบมาด้วย (ข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปเผยแพร่) จากนั้นค้นหาเส้นทาง หรือขอร่วมเดินทางตามต้องการ

โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเป็นคนขับในระบบมากกว่า 4,200 คน ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย และคนนั่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ทั้งนี้ในอนาคตนัฐพงษ์ระบุว่า กำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีระบบแบบเรียลไทม์ ที่จะสามารถให้เห็นเส้นทางระหว่างขับ และสามารถขอร่วมเดินทางระหว่างเส้นทางได้

บิ๊กอสังหาจับมือพัฒนาเป็น LPN Share ตอกย้ำชุมชนน่าอยู่

มุมมองในการสร้าง “ลิลูน่า” ที่ต้องการแบ่งปัน สร้างมิตรภาพของเพื่อนร่วมโลกระหว่างการเดินทางของสตาร์ตอัพหนุ่มรายนี้ตอบโจทย์กับบิ๊กอสังหาอย่าง แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ ที่ตอกย้ำในแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่” จึงทำให้เกิดแอปพลิเคชั่น “LPN Share” ขึ้น โดยจะใช้เฉพาะลูกบ้านของลุมพินีอย่างเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้เริ่มทดลองใช้กับลูกบ้านคอนโดลุมพินี เพลส พระราม9-รัชดา เป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังโครงการอื่นพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง>> LPN ส่งแอป LPN SHARE ชูฟีเจอร์แรก “คาร์พูล” ลดปัญหาจราจร)

สตาร์ตอัพของไทยยังเป็นแค่เทรนด์ ทำจริงและอยู่รอดเป็นเรื่องยาก!

ปิดท้ายกับคำถามเกี่ยกับมุมมองสตาร์ตอัพของประเทศไทยที่รัฐบาลพยายามพลักดัน และหวังให้คนรุ่นใหม่หันมาทำสตาร์ตอัพกันมากขึ้น

“ตอนนี้คิดว่ากระแสเริ่มลดลงแล้ว แต่หากเป็นปีก่อนๆนั้นบูมมาก ถ้าถามผมการทำสตาร์ตอัพมันเป็นสิ่งที่ยากมากก อย่างไอเดียที่ผมทำนี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่การทำให้สำเร็จ และทำให้ทุกคนเปิดใจรับเป็นเรื่องยาก มันยังเป็นแค่เทรนด์ เด็กรุ่นใหม่แค่คิดไอเดียเจ๋งๆ สร้างแอปฯออกมา มองหานายทุน แต่คือเดี๋ยวนี้นายทุนก็เลือกเหมือนกันเพราะเขาก็เจ็บมาเยอะ” นัฐพงษ์ระบุทิ้งท้าย

 

“เหนื่อยแต่ไม่ท้อ ไม่มีคนใช้ไม่เป็นไร ผมทำในสิ่งที่รัก ผมทำแอปเจ๋งๆ ขึ้นมา ผมมีความสุขกับการทำ ถ้าเกิดมันไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็แค่กลับไปทำงานประจำ หรือหาอย่างอื่นทำ”