จากใจนักเขียน โอดละเมิดลิขสิทธิ์ 4.0 แจกไฟล์นิยายทั้งเล่ม หนุนเอาผิดคดี “รอมแพง” บทลงโทษตัวอย่าง

กระแสความนิยมในละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ดังเป็นพลุแตก ชนิดที่พูดติดปาก ออเจ้ากันทั้งเมือง ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาส นำนวนิยายเรื่องนี้ทั้งเล่มมาสแกนเป็นไฟล์และเผยแพร่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต สร้างความเสียหายให้กับผู้ประพันธ์เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่การสูญเสียรายได้และกระทบความรู้สึกของเจ้าของผลงาน

ในเวทีเสวนาหัวข้อ “คิดให้ Click สู่มิติของวรรณกรรมไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0” จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยกันในบางช่วงบางตอน

นายชัยวัฒน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เจ้าของนายปากกา ‘ปราปต์’ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง กาหลมหรทึก เล่าย้อนให้ฟังว่าถึงที่มาที่ไปของงานเขียนชิ้นนี้ว่า  ได้แรงบันดาลใจมาจากการฟังสกู๊ปผ่านวิทยุเรื่องกลโคลงที่มีการจารึกไว้ที่วัดโพธิ์ ทำให้นึกถึงผลงานของ ‘แดน บราวน์’ นักเขียนที่เขาชื่นชอบ จึงคิดว่ากลโคลงคนของไทยนั้นก็เหมือนกับรหัสลับที่ ‘แดน บราวน์’ ทำก็เลยรู้สึกว่าน่าจะนำมาเขียนเป็นแบบของไทยได้ แต่กว่าจะผลิตผลงานกาหลมหรทึกได้นั้น ต้องค้นคว้าอย่างหนัก

“ในบทประพันธ์มีการนำคำไทยมาใช้ เช่น เรื่องของอักขระวิบัติ ซึ่งก็คือคำที่อยู่ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงต้องใช้ให้เชื่อมโยงกับยุคสมัยนั้น ที่นี่เลยกลายเป็นงานยาก ต้องเจาะลึก ค้นคว้าข้อมูลจากจดหมายเหตุ จากนั้นจึงนำมาผูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราว”

จุดนี้เองที่ทำให้นักเขียนหนุ่มรายนี้เข้าใจความรู้สึกเมื่อถูกถามถึงเรื่องการถูกละเมิด โดยเขาแบ่งปันประสบการณ์ตรงให้ฟังว่า บางครั้งอยากเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับของผลงานหนังสือของตนเองแต่เมื่อเสิร์ชชื่อนวนิยายในกูเกิล กลับเจอไฟล์ PDF ขึ้นมาทันที

สิ่งที่เกิดขึ้นบั่นทอนกำลังใจคนเขียนเป็นอย่างมาก

อีกกรณีที่พบคือมีคนนำนวนิยายไปอ่านผ่านยูทูบ เวลาจะแจ้งให้ยูทูบเอาลงก็มีขั้นตอนยากมาก ต้องมีการยืนยันตัวเอง ทั้งที่เราเป็นเจ้าของนวนิยายแท้ๆ แต่ดูเหมือนว่ากลายเป็นเราที่กระทำความผิด สุดท้ายจึงต้องไปขอให้คนที่อัพขึ้นยูทูบลบให้แทน!

“บางกรณีที่ผมเจอ พบว่าเป็นเด็กที่นำไปลง เขาเข้าใจแค่ว่าระบุชื่อเราลงไปในคลิปเพื่อให้เครดิตก็พอแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ส่วนจะให้ไปเรียกร้องฟ้องร้อง เขาก็คงไม่มีจ่าย” ปราปต์บอกอย่างนั้น ก่อนทิ้งท้ายว่า อยากให้กรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของ ‘รอมแพง’ ที่นำไฟล์หนังสือทั้งเล่มไปเผยแพร่ผ่านโซเชียล มีบทลงโทษเกิดขึ้น เพื่อเป็นคดีตัวอย่างแก่สังคม

ลิขสิทธิ์เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้

ขณะที่ นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการบริหารบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  ที่มาร่วมแบ่งปันมุมมองในเวทีเสวนาครั้งนี้ อธิบายถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไว้ว่า เป็นเรื่องที่กำลังบูมในยุคนี้ เพราะเป็นเรื่องของทุนที่ไม่มีต้นทุนเลย ยกตัวอย่าง เจ.เค.โรว์ลิ่ง หรือบิลเกตส์ มีซอฟต์แวร์ตัวเดียวเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ก็สามารถเกิดได้ กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก

แนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นเรื่องของการบาลานซ์ (Balance) ระหว่างสิ่งที่ปัจเจกชนจะได้ นั่นก็คือเรื่องของสิทธิผูกขาด (Monopoly right) ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า การผูกขาดไม่ใช่สิ่งที่ดี ฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างสมดุล ผูกขาดโดยมีเงื่อนเวลา และจากนั้นต้องตกเป็นของสาธารณสมบัติ ที่ใครก็สามารถนำไปใช้ได้

อย่างเช่น ในประเทศไทยสิทธิบัตรมีอายุ 20 ปี ลิขสิทธิ์มีอายุตลอดชีวิตของผู้สร้าง บวกไปอีก 50 ปีนับจากที่ผู้สร้างเสียชีวิต ก็ค่อนข้างยาวพอสมควร ส่วนในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 90 ปี ในยุโรปบางประเทศอยู่ที่ประมาณ 75- 80 ปี เมื่อครบตามเงื่อนเวลา รูปภาพโมนาลิซา ก็สามารถเอามาเติมหนวด เอามาสกรีนเสื้อได้ หรือผลงานดีๆ ที่ไม่ถูกหยิบนำมาใช้ ก็สามารถนำมาแปลได้โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ แบบนี้เราเรียกว่าเป็นสาธารณสมบัติ และสิ่งที่สังคมจะได้รับ

กรรมการบริหารรายนี้ ยังกล่าวถึงมุมนักเขียนทั้งหลายด้วยว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ที่อยู่กับเรา ต้องปกป้องสุดชีวิต ยกตัวอย่างกรณีนวนิยายเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ มีผู้นำเนื้อหาจากหนังสือไปอ่านเผยแพร่ผ่านยูทูบแบบนี้ หากไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ถือเป็นการละเมิด เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิไล่ไปตามเก็บได้หมด บอกยูทูบให้เอาลงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า หากพบว่ามีผู้ใดนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง เช่น นำนวนิยายภาษาไทยไปแปลเป็นภาษาจีน หรือเป็นอังกฤษ แม้จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป แต่สุดท้ายก็เป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี ซึ่งหากมีการฟ้องร้องกันขึ้นมา งานดัดแปลงชิ้นนั้นๆ ก็จะต้องตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์

‘ของถูกลิขสิทธิ์’ ให้ประสบการณ์ที่ของละเมิดให้ไม่ได้

ปิดท้ายที่ นายรวิวร มะหะสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ได้สะท้อนปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเขามองว่า การรณรงค์ในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เป็นวิธีการแก้ทางหนึ่ง แต่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ สิ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดที่ดีที่สุดคือ การมอบประสบการณ์ ‘ของถูกลิขสิทธิ์’ ที่ของละเมิดลิขสิทธิ์ให้ไม่ได้ อย่างเช่นกรณีอีบุ๊กให้ความคมชัดเหมือนกับของจริงมากกว่าของที่สแกนแน่นอน เพราะเตรียมมาเพื่อรองรับการอ่านผ่านอุปกรณ์ไอแพด โทรศัพท์มือถือมากกว่า  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีนำมาซึ่งเครื่องมือในการต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ เพราะเพียงแต่การไปอ้อนวอนให้คนอย่าละเมิดลิขสิทธิ์ อ้อนวอนอย่างไรก็ไม่จบ