ไม่มี HOW TO เล่มไหนตรงใจเป๊ะๆ บริหารเวลาอย่างไรให้เหมาะกับตัวคุณ?

24 ชั่วโมง คุณทำอะไรบ้าง?

ถ้าตามแบบฉบับ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ก็ประมาณว่า เคลียร์งานประจำงานเอกสาร, ประชุมวันละหลายๆ วงประชุม , ตอบไลน์กลุ่มออฟฟิศ ไลน์เจ้านายที่เด้งเตือนตลอดเวลา แถมยังเหนื่อยกับการเดินทางฝ่ารถติดวันละอีกเป็นชั่วโมงๆ กลับถึงบ้านก็หมดวัน อยากทิ้งตัวลงนอนเสียแล้ว

และแบบนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเอง ไปทำงานอดิเรกที่ชอบกัน?

3 หนุ่มนักเขียน ที่บางคนก็ยังเป็นพนักงานประจำอยู่ พวกเขาได้นำ ‘เคล็บลับบริหารเวลา เพิ่มมูลค่าให้ชั่วโมงทำงาน’ ตามแบบฉบับของแต่ละคนมาเล่าสู่กันฟัง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 เมื่อ 4 เมษายนที่ผ่านมา

‘เธมส์นที สุวรรณพลาย’ เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง ‘เปลี่ยนงานประจำธรรมดา เป็นวิชาสร้างชีวิตเล่าว่า เขาก็เป็นพนักงานประจำเหมือนกับคนทั่วไป แต่ในเมื่อมีหลายอย่างที่ต้องทำ เขาบอกว่าสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือการตั้งเป้าหมาย เพราะเมื่อคนเรารู้เป้าหมายแล้ว ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตัวเอง  และหลังจากนั้นวิธีการก็จะตามมา

“ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่าๆ กันครับ ซึ่งไอเดียของผมที่นำมาใช้ในบริหารเวลาก็คือ จะแบ่งเวลาออกเป็น 3 ช่วงคือ 8 ชั่วโมงแรกสำหรับพักผ่อน, 8 ชั่วโมงต่อมาคือทำงาน, ส่วน 8 ชั่วโมงหลังคือ เวลาที่ทุกคนจะได้เลือกใช้ เพื่อเลือกทำในสิ่งที่ตรงกับเป้าหมายของตัวเอง ตัวอย่างของผมก็คือ การเอาเวลามาเขียนหนังสือ เขียนเพจเฟซบุ๊ก แบ่งปันเรื่องราว”

ส่วนจะบริหารเวลาในแต่ละช่วงให้ดีขึ้นได้อย่างไรนั้น ผมมีทริกอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ พัฒนาตัวเอง ทำอย่างไรให้ตัวเองทำสิ่งต่างได้ดีขึ้นเก่งขึ้น เช่น คุณจะทำงานให้เสร็จในเวลางาน 8 ชั่วโมงได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องทำโอที หรือไม่ต้องเอางานกลับมาทำงานที่บ้าน

ข้อสอง ช่วง 8 ชั่วโมงหลัง ก็ลองมาดูว่า มีงานอะไรไหมที่เราไม่ต้องทำด้วยตัวเอง เช่น ซักผ้า แบบนี้เราจะจ้างได้หรือไม่ คุ้มไหม? ถ้าลองมานั่งคิดดูแบบง่ายๆ นะครับ สมมติเราเงินเดือน 20,000 บาท ทำงาน 20 วันต่อเดือน วันละ 8 ชั่วโมง  มูลค่าของตัวเราต่อชั่วโมงอยู่ที่เท่าไหร่ หากอะไรที่ต้องจ้างคนอื่นทำแล้วถูกกว่า เราก็อาจจะจ้าง เพื่อนำเวลาไปทำอย่างอื่น

ข้อสุดท้ายคือ ‘multi-tasking’ ทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมกัน เช่น เวลานั่งรถหรือรออะไรสักอย่าง ก็สามารถทำอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันได้ หรือเวลาขับรถก็ฟังอะไรดีๆ ที่เราอยากฟัง เพื่อประหยัดเวลาในชีวิต

มองงานประจำ เป็นโรงเรียนฝึกศักยภาพ

สำหรับใครที่เป็นพนักงานประจำ เธมส์นที  ยังให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ด้วยว่า โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่า คนที่ทำงานประจำมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือ กลุ่มที่ต้องการเติบโตในงานประจำต่อไปเรื่อยๆ และแบบที่สองคือ มีความฝันว่าจะกระโดดออกมาทำอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะป็นแบบไหน ถ้าย้อนมาดูในปัจจุบันเราก็ยังเป็นพนักงานประจำอยู่ดี!

เพราะฉะนั้นคำถามก็เกิดขึ้นคือ เราจะใช้เวลาทั้งหมดที่มีทำอย่างไรให้สามารถพาตัวเองไปสู่จุดที่ต้องการได้ เช่น ถ้าต้องการเติบโตในงานประจำต่อไป คำถามคือ คุณจะใช้เวลาเรียนรู้ตรงไหนอย่างไรทีจะทำให้คุณเติบโตได้ และเช่นเดียวกันหากอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณจะใช้เวลาในการทำงานประจำอย่างไร เพื่อฝึกฝนให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีได้

“ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ บางคนอาจมองว่างานประจำเหมือนอยู่ในคุก แต่ผมมองว่ามันเป็นโรงเรียนที่ช่วยฝึกศักยภาพของคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแต่เราต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า” เขาทิ้งท้าย

จดบันทึกสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่แค่คิดลอยๆ

อีกหนึ่งหนุ่ม ‘ภัทรพล เหลือบุญชู เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง วิ่งตามฝัน ยังไงก็ชนะและเจ้าของเพจ ‘JapanSalaryman’ เขานำประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นกว่า 7 ปีมาถ่ายทอดให้ฟัง โดยเขาเล่าว่าการทำงานกับคนญี่ปุ่นไม่แค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่บางครั้งคือ 12-13 ชั่วโมง เพราะต้องมีไปกินเลี้ยงหลังเลิกงานบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลือก็ต้องมองว่าจะทำอย่างไร ทำอะไรที่จะมาเติมเต็มชีวิต ซึ่งสำหรับตัวเขาเองเลือกทำสิ่งที่สร้างพลังให้กับตัวเอง อย่างเช่นการนำเรื่องราวมาเขียนเล่าผ่านเพจเฟซบุ๊ก

“ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ผมได้รับจากคนญี่ปุ่นก็คือ ปกติแล้วเราทุกคนมีสิ่งที่อยากทำ แต่ก็มักจะเป็นแค่ความคิดว่า อยากทำโน่นทำนี่ อยากออกกำลังกาย แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ความคิดลอยๆ ซึ่งตรงนี้คนญี่ปุ่นเขาจะใช้วิธีจดลงสมุดบันทึก (Organizer) หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ‘เทะโจ’ ในหน้าแรก โดยเขียนเป้าหมายทั้งหมดลงไป เช่น อยากมีซิกแพค อยากลดน้ำหนัก แต่เวลาเขียนต้องเจาะจงลงไปด้วยเช่นจะลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และก็ให้เขียนไปให้ครบทุกมิติของชีวิต ทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน การพัฒนาตัวเอง ฯลฯ จากนั้นก็คือวิธีการต่างๆ ก็จะตามมา ซึ่งคนญี่ปุ่นจะใช้วิธีการแบบ PDCA (Plan, Do, Check และ Act )

“คนญี่ปุ่นมักใช้สมุดบันทึกปีละเล่มครับ พอครบปีเขาก็จะไปดูว่าทำสำเร็จกี่ข้อ ทำได้ไม่ครบไม่เป็นไรครับ แต่เราจะได้ไม่ใช่แค่คิดลอยๆ” นี่คือตัวอย่างเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่เขานำมาฝากกัน

อย่าใช้เวลาแบบทิ้งขว้าง

สุดท้ายคือโปรกอล์ฟที่ผันตัวเองมาเขียนหนังสือ ‘สหรัฐ มานิตยกุล’ หรือ โปรเชน เจ้าของผลงานเรื่อง (ก่อน) เวลาสุดท้าย เล่าถึงที่มาที่ไปส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ให้ฟังว่า เป็นการแบ่งเวลามาทำอะไรที่ระบายความเจ็บปวด!

“บางคนมีความเจ็บปวดครับ อย่างผมรู้สึกว่า ตัวเองเป็นเด็กที่ใช้เวลาแบบทิ้งขว้าง จนวันหนึ่งมีคนที่เรารักจากไป ผมจึงเปลี่ยนความเจ็บปวดตรงนี้มาเขียนหนังสือ และผมพบว่าการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงความเจ็บปวด ไปในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่าง มันทำให้เราพบว่าชีวิตมีคุณค่า มีความสุขมากขึ้น”

“ตอนเด็กๆ ผมมานั่งคิดว่า อะไรเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็ได้คำตอบว่า คือการทิ้งระเบิดปรมาณูฆ่าคนที่ฮิโรชิมา พอโตขึ้นมาศึกษาประวัติศาสตร์ก็พบว่า การเป็นผู้นำไร้อำนาจไร้ศีลธรรมก็น่ากลัว อย่างเช่นฮิตเลอร์ พอโตต่อมาก็พบว่า สัตว์ตัวเล็กๆ อย่างยุงก็น่ากลัว แต่ถึงวันนี้พอมานั่งถามตัวเอง ก็พบว่าต่อให้เอาสิ่งที่พูดมารวมกันก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับ ‘เวลา’ เพราะเวลาเหลือน้อยลงทุกครั้งที่เราหายใจ เป็นสัจธรรมของชีวิต เพราะฉะนั้นอยากทำอะไรทำเลย” เจ้าของผลงาน ‘(ก่อน) เวลาสุดท้าย’ ฝากเป็นข้อคิด