ชีวิตดีๆที่ลงตัว! เปิดโผ “สิทธิ์เยียวยา BTS ขัดข้อง” และคนกรุงฯต้องวัดดวง “รถเจ๊ง” อีกนานหรือไม่?

นอกเหนือจากรถโดยสารประจำทางหรือ “รถเมล์” ที่เป็นขนส่งมวลชนที่พึ่งของคนกรุงเทพแล้ว “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ก็ถือเป็นที่พึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน มาตรว่าปัจจุบันยังวางโครงข่ายทางรางไม่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับรถเมล์ แต่อย่างน้อยก็มีจุดแข็งสำคัญที่ชนชั้นกลางส่วนมากในเมืองยอมควักเงินจ่าย นั่นคือ “ความเร็ว”

ทว่า “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ของคนกรุงเทพกลับปั่นป่วนขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. ช่วง 6.00-10.00 น. ที่ผ่านมา เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดขัดข้องจากการส่งอาณัติสัญญาณเดินรถ ทำให้ทั้งคนทำงานและเด็กนักเรียนต่างตกค้างบนสถานีบีทีเอสจำนวนมากเป็นประวัติการณ์

ความขัดข้องของระบบยังส่งผลจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. กลายเป็นความเสียหายระลอกสำคัญที่บีทีเอสถูกถล่มเละบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาค่าโดยสารต่อรอบและต่อเที่ยว ความขัดข้องที่เกิดบ่อยครั้งบริเวณคอขวดสถานีสะพานตากสิน ผลจากความล่าช้าที่เกิดขึ้นจนส่งผลต่อเวลาเข้างาน-เข้าเรียน ตลอดจนคำถามถึงสาเหตุของปัญหาและมาตรการเยียวยาและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

รถไฟฟ้า…มาช้านะเธอ สรุปปัญหา BTS ใครผิด ใครแพะ? 

ส่องสถิติปีนี้เสียแล้วเกิน 30 ครั้ง!

เมื่อย้อนดูสถิติความล่าช้าของบีทีเอสในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2560 บีทีเอสหยุดให้บริการเดินรถกว่า 40 เที่ยว และในครึ่งแรกของปี 2561 บีทีเอสขัดข้องกว่า 30 ครั้ง โดยเฉพาะเดือนมิ.ย. ที่ขัดข้องกว่า 10 ครั้ง

เดือนมกราคม – 2 ครั้ง

เดือนกุมภาพันธ์ – 7 ครั้ง

เดือนมีนาคม – 4 ครั้ง

เดือนเมษายน – 3 ครั้ง

เดือนพฤษภาคม – 3 ครั้ง

เดือนมิถุนายน ระหว่างวันที่ 1-26  – 12 ครั้ง (และยังคงขัดข้องอีกเป็นระยะหลายครั้ง)

เดือนกรกฎาคม – ยังคงขัดข้องอีกเป็นระยะ

 

บีทีเอสเร่งแจงคืนเงิน-เคลมเที่ยวผู้โดยสาร

ล่าสุด วันที่ 5 ก.ค. นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ดร.อาณัติ อาภาภิรม ประธานการการฝ่ายจัดการ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ร่วมแถลงกรณีรถไฟฟ้าขัดข้องว่า บริษัทฯ ได้เพิ่มมาตรฐานในกรณีมีประกาศเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องทำให้เกิดความล่าช้าเกิน 30 นาที ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

โดยผู้ใช้บัตรประเภทตั๋วเที่ยวเดียว (Single Journey Ticket) ผู้โดยสารสามารถนำบัตรโดยสารมาขอคืนเงินค่าโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วภายในวันเดียวกัน หรือ ขอรับบัตรโดยสารกลับไป โดยสามารถนำมาใช้เดินทางได้ภายใน 14 วันนับจากวันที่ออกบัตร

ผู้ใช้บัตรโดยสารบีทีเอสประเภทเติมเงิน (Rabbit card) สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สูงอายุ บัตรโดยสารจะไม่ถูกตัดเงินค่าโดยสาร ในกรณีที่เกิดความล่าช้า โดยผู้โดยสารจะต้องออกประตูที่เจ้าหน้าที่สถานีกำหนด

ส่วนบัตรโดยสารบีทีเอสประเภทเที่ยวเดินทาง 30 วัน (30-day Pass) สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สูงอายุ บัตรโดยสารจะไม่ถูกตัดเที่ยวเดินทางในกรณีที่เกิดความล่าช้า โดยผู้โดยสารจะต้องออกประตูที่เจ้าหน้าที่สถานีกำหนด และบริษัทฯ จะพิจารณาให้เที่ยวเดินทางพิเศษจำนวน 2 เที่ยวต่อวันที่เกิดความล่าช้า

 

 

เร่งเสริมอุปกรณ์-ทดสอบระบบ-เตรียมเปิดแอพ 1 ส.ค.

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กล่าวว่า “ตั้งแต่คืนวันที่ 29 เราเปลี่ยนวิทยุสื่อสารที่ใช้ในอาณัติสัญญาณเสร็จสิ้น ได้ย้ายคลื่นย่าน 2400 MHz มาอยู่ใกล้ๆ ย่าน 2500 MHz ซึ่งเปิดให้บริการรถไฟฟ้าในช่วงกลางวันเป็นปกติด้วยระบบเก่า ส่วนช่วงกลางคืนเป็นการทดสอบระบบใหม่ การให้บริการยังมีกระตุกบ้างจึงยังต้องมีการปรับปรุง เชื่อว่าภายในสัปดาห์นี้จะเรียบร้อย”

“ในอนาคตอาจจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบมีความเสถียรจริงๆ ทั้งนี้จะมีการวิเคราะห์และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้คลื่น เพื่อเป็นแผนป้องกันและเตรียมรับมือในกรณีที่จะมีคลื่นใหม่ๆ เข้ามากระทบ”

นอกจากนี้ บีทีเอสเตรียมแผนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับผู้โดยสาร โดยจัดทำแอพลิเคชัน BTS Skytrain ซึ่งจะใช้ได้ทั้งแอนดรอยด์ (android) และไอโอเอส (ios) ให้บริการข้อมูลการเดินรถ ประกาศการเดินรถขัดข้อง ข้อมูลความหนาแน่นในแต่ละสถานี และข้อมูลอื่น คาดว่าเปิดใช้บริการ 1 ส.ค. 2561 นี้

หัวเรือใหญ่บีทีเอสขออภัย คาดเสียหายหลักสิบล้าน

นายคีรี กาญจนพาสน์ กล่าวถึงการวางมาตรการดูแลผู้โดยสารเรื่องค่าโดยสารหลังจากเกิดกรณีรถไฟฟ้าเกิดความล่าช้าว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ โดยแต่เดิมก็มีการปฏิบัติมาอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีของบีทีเอสทีเผชิญกับการรบกวนของคลื่นอาณัติสัญญาณ

“การต่อว่าที่รุนแรงบนโซเชียลมีเดีย ผมเข้าใจ ถ้าผมเป็นคนหนึ่งถือยืนอยู่บนสถานีและต้องรอนานขนาดนั้น ทุกคนอยากกลับบ้าน ทุกคนอยากไปทำงานให้ตรงเวลา ทุกคนอยากไปถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด ผมต้องขออภัยจริงๆ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น” ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแถลงข่าว

สำหรับงบประมาณการเยียวยาที่จะคืนเงิน-คืนเที่ยวให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบในวันที่ 25-27 มิ.ย. นายคีรีคาดว่าจะเป็นเงินถึงหลักสิบล้านบาทขึ้นไป

“ทั้งนี้จะดูแลเรื่องเงินที่ท่านจ่ายมาก่อน ไม่ให้ท่านเสียหาย แต่อย่าลืมว่านั่นก็คือความเสียหายของเราเช่นกัน แต่ในความรู้สึกของผม ไม่มีใครผิด ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชน นั่นคือภารกิจ เป็นความจริง แต่ผมไม่เคยคิดว่าผมจะเอากำไรมากๆ อย่างเดียว”

คีรี: “ถ้าผมรู้เท่าถึงการณ์ ผมคงไม่ลงทุน”

นายคีรีเผยว่า อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนเองที่เลือกลงทุนลงทุนรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

“เรายอมรับว่ามันรุนแรง แต่อย่าให้บริษัทรับทุกอย่าง ความจริงผมไม่อยากกลับไปพูดเรื่อง 20 ปีที่แล้ว มันไม่ใช่การลงทุนที่คุ้ม 100% แต่เป็นความที่ผมรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กทม.ไม่ได้ให้อะไรผมสักบาท ถ้าผมรู้เท่าถึงการณ์ ผมคงไม่ลงทุน แต่มาถึงวันนี้แล้ว บริษัทแข็งแรงแล้ว ก็จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่พยายามจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไป”

โทษคอขวดสะพานตากสิน ทำให้จราจรหนาแน่น

เมื่อนักข่าวถามถึงเหตุผลที่บีทีเอสกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาเมื่อเกิดความล่าช้าเป็นเวลามากกว่า 30 นาที นายคีรี ชี้แจงว่า เป็นระยะเวลาที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนที่อย่างไรก็มีโอกาสล่าช้าเล็กน้อย ประกอบกับปัญหาคอขวดที่สถานีสะพานตากสินที่ขบวนรถมักเกิดความล่าช้าในการจัดการจราจร

“ในชั่วโมงเร่งด่วน เราอาจจะต้องรอถึง 3 ขบวน เพราะส่วนใหญ่ 15 นาทียังไม่ไป ความเป็นจริงคือ แม้ว่าจะมีการเพิ่มขบวนรถมากเท่าไหร่ แต่ก็ยังต้องรอการจัดการขบวนรถบริเวณคอขวดที่สถานีสะพานตากสิน หวังว่าวันหนึ่งปัญหาคอขวดจะแก้ไขได้ เราพร้อมจะลงทุนอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ นายคีรี เผยว่า แผนการขยายสถานีสะพานตากสินให้สามารถวิ่งสวนกันได้ยังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะมีการหารือกับกทม.ต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่าเงินจะไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างขยายสถานีล่าช้าอย่างแน่นอน

ระหว่างนี้ก็ขอให้ชาวกรุงเผื่อเวลาในการเดินทางกันสักนิด ให้เวลากับบีทีเอสในการแก้ไขสักหน่อย อีกไม่นานบีทีเอสคงพลิกฟื้นคืนความมั่นใจ มาตอบสนอง “ความเร็ว” ที่สะดวกสบายต่อชีวิตการเดินทางของคนกรุงเทพให้รู้สึก “คุ้มค่า” กับค่าโดยสารที่ต้องแลกในแต่ละเที่ยวเดินทาง!

แต่ถ้ายังดีเลย์อีกเมื่อไหร่…บีทีเอสเขาก็พร้อมรับผิดชอบนะเออ!