นิยายรัก “แจ่มใส” 17 ปีพัฒนาการไกล…แต่โลกทั้งใบก็ยังเป็นสีชมพู

jamsai-cover

หากให้ผู้หญิงลิสต์ชื่อสำนักพิมพ์ “นิยายรัก” ในใจขึ้นมา 3 ชื่อ เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องติดชื่อ สำนักพิมพ์แจ่มใส มาด้วยอย่างแน่นอน! เพราะนี้คือ แบรนด์นิยายรักที่ปูพรมตอบโจทย์ความสุขให้กับกลุ่มผู้หญิงทุกช่วงวัย ปลุกปั้นคอนเทนต์โลกสีชมพูในเฉดต่างๆ อย่างหลากหลาย จึงไม่ต้องแปลกใจที่แจ่มใสจะอยู่คู่สังคมไทยมานานเกือบ 2 ทศวรรษ กับภาพลักษณ์ติดตาถึง นิยายรักใสๆ” ไร้เดียงสา

และในวันที่อากาศแจ่มใสวันหนึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์” กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์แจ่มใส ถึงพัฒนาการด้านเนื้อหาของนิยายแจ่มใสที่มีการเปลี่ยนแปลงมาในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนอุปสรรคและความท้าทายระหว่างทางที่แจ่มใสต้องเผชิญเมื่อถูกประทับตรา “ความใส” ไว้ในความทรงจำของใครหลายคน!

นิยายรัก

การอุบัติของ everY กับ JLS (18+) : จุดเริ่มต้นของโลก “ใสๆ” ที่ถูกเขย่า

การเปิดหมวดหมู่นิยายแนวใหม่อย่าง “everY” หรือนิยายรักเพศหลากหลายของสำนักพิมพ์แจ่มใส คือก้าวแรกของการเขย่าโลกนิยายรัก ที่แต่เดิมกรุ่นกลิ่นอายหวานละมุมระหว่างเพศสภาพชาย-หญิง ให้นักอ่านได้ลิ้มลองความแปลกใหม่ ทั้งยังมีส่วนช่วยให้ “นิยายใต้ดิน” ประเภทนี้ขึ้นมามีตัวตนเทียบชั้นนิยายรักทั่วไป

นิยายรักชาย-ชาย

กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์แจ่มใส เผยว่า ช่วงที่เปิดตัวนิยายวายใหม่ๆ มีคนมองมาที่แจ่มใสหลากหลายแบบ แต่ตนเองก็ไม่ได้ต้องการให้แจ่มใสถูกจำกัดกรอบแนวทางเฉพาะนิยายรัก ‘ใสๆ’ เนื่องจากเป้าหมายของสำนักพิมพ์คือการเป็นคนกลางที่ทำให้คนอ่านแต่ละกลุ่มแฮปปี้กับสิ่งที่เขาชอบ

“ผู้ชายอาจจะชอบการต่อสู้ เราก็ทำให้เขา ส่วนผู้หญิงอาจจะแฮปปี้กับความรักสวยๆ…แล้วถ้าเราไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง เราจะอยากอ่าน fiction แบบไหนดี ณ ตอนนั้นก็เลยลองทำนิยายวายดู” ศศกร ระบุถึงฟีคแบ็คว่า มีผลตอบรับดี และเผยว่า ลูกค้าบางรายไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่านิยายวายเล่มนั้นๆ เป็นนิยายของสำนักพิมพ์แจ่มใส

เช่นเดียวกับหมวดหมู่นิยายที่เพิ่งเปิดใหม่ไม่นานมานี้ “JLS(18+) ซึ่ง ศศกรมองว่า นิยายแนวใหม่นี้คือช่องว่างตรงกลางระหว่างนิยายรักใสๆ อย่างแนว “Jamsai Love series (JLS)” นิยายรักกุ๊กกิ๊กชวนฝันสำหรับ “เด็กประถมปลาย-มัธยมต้น” ที่อยู่ในช่วง “Puppy love” กับนิยายรักผู้ใหญ่อย่าง “LOVE” และ มากกว่ารัก” ที่เกิดมาเพื่อเป็นที่หลบภัยให้กับ “คนวัยทำงาน” ที่อาจเหน็ดเหนื่อยกับ “ความรักบนโลกแห่งความจริง”

นักเขียนเติบโต + การยอมรับโลกแห่งความจริง = สมการพัฒนาการด้านเนื้อหา

อีกหนึ่งเหตุผลของจุดกำเนิดหมวดนิยายรักรสเผ็ดอย่าง JLS(18+) คือ การเติบโตของนักเขียน ซึ่งการเติบโตก็ย่อมมาพร้อมกับประสบการณ์ชีวิตอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น นักเขียนจึงอยากนำเรื่องราวที่พบเจอจากชีวิตจริง จากสังคมรอบตัวมาถ่ายทอดให้กับนักอ่าน…จนกลายมาเป็นสมการพัฒนาการด้านเนื้อหาของนิยายรักที่แปรผันตรงกับอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์
ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์

กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์แจ่มใส ระบุว่า “เป็นเพราะคนเขียนเราอยู่ในสังคม เขาโตแล้ว ด้วยอายุเองเขาก็เป็นวัยรุ่น เขาสัมผัสกลุ่มทาร์เก็ต เขาหยิบยกชีวิตรอบตัวอย่าง เพื่อน น้อง มาเขียน ถามว่าจริงๆ แล้ว โลกมันใสอย่างที่เราเคยจะพรีเซ็นต์ไหม มันไม่ใช่แล้ว มันจึงเกิดซีรีส์แบบฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซึ่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม อยู่ที่ว่าคุณเห็นแล้วคุณกล้ายอมรับหรือเปล่าว่านี่เกิดขึ้นจริง

“ตัวละครในนิยายอาจจะไม่ได้โตมาก อายุช่วง 22-25 ปี ซึ่งทำให้นักอ่านวัยรุ่นยังอิน แต่ก็เรียลขึ้นนิดหนึ่ง ส่วนตัวเราจะดูเทรนด์อยู่ตลอด เราจะตามว่าเด็กๆ ชอบอะไร ซึ่งมันก็จะเห็นชัดในแพลตฟอร์มออนไลน์ ว่าช่วงนี้มีเรื่องแนวไหนขึ้นอันดับ ขึ้นท็อป 10 เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่เนื้อหามีความแซ่บขึ้น เรียลขึ้น แต่ตัวละครยังวัยรุ่นอยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์แจ่มใส ยอมรับว่า เนื้อหานิยายรักสีชมพูที่ว่าแซ่บก็ยังต้องมีขอบเขต ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะบางครั้งผู้ปกครองยังช่วยคัดเลือกนิยายให้บุตรหลานอยู่ “JLS ก็มีลิมิต เรายังอยากเป็นแบรนด์ที่ผู้ปกครองไว้เนื้อเชื่อใจอยู่ ในเมื่อเราเป็นตัวกลางที่คัดเลือกเข้ามา ทำให้บางทีก็มีขัดใจนักเขียนบ้าง”

Young Adult รัก-มิตรภาพ-สังคม-ครอบครัว : ประตูบานใหม่ที่อยากให้เด็กไทยลองเปิด

นอกเหนือจากนิยายรักของนักเขียนไทย และนิยายแปลจากเอเชียแล้ว แจ่มใสยังมีนิยายรักอีกหนึ่งหัวที่เรียกว่า “Young Adult” นิยายรักวัยรุ่นจากฟากตะวันตกที่แจ่มใสมองว่ามีแก่นสารและคุณค่าที่มากกว่าแค่ “เรื่องรัก” เพราะสอดแทรกบทเรียนมิตรภาพ สังคม และการก้าวข้ามในแต่ละช่วงวัยให้ผู้อ่านได้เรียนรู้

นิยายรัก

“แจ่มใสเคยลองแนว Young Adult จากต่างประเทศมาทำ 2 เรื่อง คือ Tell me three things กับ Everything, Everything เรื่องหลังนี้มีทำเป็นภาพยนตร์ แต่ไปๆ มาๆ ไม่เข้าประเทศไทย ตอนนั้นที่นำเข้ามาแปลเพราะเห็นว่าเป็นคอนเทนต์ดี ถ้าสามารถบิ้วท์ให้เด็กไทยอ่านได้จะดี เพราะ Young Adult เมืองนอกจะมีแง่มุมของการเติบโตทางจิตใจ การก้าวข้ามช่วงของชีวิต ไม่ใช่เฉพาะมิติความรัก แต่มีทั้งมิตรภาพ สังคม ครอบครัว การยอมรับตนเองอยู่เยอะ เราก็พยามหาเรื่องที่ดีๆ ที่ทำให้เด็กไทยชอบเรื่องแนวนี้” ศศกร เล่า

ทว่าประตูบานใหม่ที่แจ่มใสต้องการให้เด็กไทยลองเปิดนี้ ถือว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จดี ด้วยเพราะความแตกต่างของบริบททางสังคมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และเรื่องของ “จริต” ที่อาจจะยังไม่โดนใจผู้อ่านชาวไทย

“ต่างประเทศจำกัดอายุผู้อ่านไว้ที่ 13+ ซึ่งตัวละครในเรื่องก็จะอายุ 13, 14, 15 เหมือนอย่าง 13 Reasons why ซึ่งถูกเอาไปทำเป็นซีรีส์ แต่พอมาเมืองไทยกลายเป็นว่าผู้อ่านเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก 13, 14 ปี แนวเรื่องเขามีความโตกว่าทั้งๆ ที่อายุยังไม่ได้เยอะ”

งานหนังสือ
แฟ้มภาพ

ศศกร กล่าวต่อว่า คอมมูนิตี้ Young Adult ในเมืองไทยยังไม่ได้บูมมาก แม้ว่าหลายสำนักพิมพ์จะพยายามลองหยิบนิยายประเภทนี้เข้ามาแปลให้ผู้อ่านชาวไทยแล้ว แต่กระแสตอบรับยังถือว่าไม่ดีเท่าที่ควร เว้นแต่ว่านิยายเรื่องนั้นๆ จะได้รับอิทธิพลจากสื่ออื่นๆ จนเป็นแรงกระตุ้นมายังหนังสือ

“โดยทั่วไปถ้าออกมาตามธรรมชาติเป็นแนวที่ไม่ได้ถูกจริตคนไทยเท่าไหร่ น้อยครั้งมากที่จะเห็นว่าติดชาร์ตขายดี ซึ่งก็พบว่าเพราะมีตุผลอื่นซับพอร์ต เช่น เป็นละคร ซีรีส์ หนัง อื่นๆ หรือไอดอลฉันอ่าน”

อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์แจ่มใสยังคงแสดงจุดยืนในการเป็นผู้คัดสรรคอนเทนต์คุณภาพและหลากหลายว่า “จะยังดูนิยาย Young Adult อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้ Pick up เป็นสินค้าหลัก ถ้าเจอเรื่องที่น่าสนใจจริงๆ อย่างเช่นในแง่เนื้อหา หรือสิ่งที่พยามจะสื่อสารออกมา ก็มีแนวโน้มอาจจะลองเอามาขาย แต่ทั้งนี้สำหรับเมืองไทยอาจจะต้องมีสื่ออื่นช่วยผลักดัน เช่น เรื่องนี้อาจจทำซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ซึ่งจะช่วยให้คนกล้าทดลองอ่านมากยิ่งขั้น” ศศกร ระบุถึงอนาคตของนิยาย Young Adult ในไทย

Cookie ชิ้น (ไม่) พอดีคำ 

“Cookie” คือ นิยายแปลจากประเทศในแถบเอเชียอย่างไต้หวันและญี่ปุ่น หนึ่งในไลน์ย่อยของนิยายแจ่มใส ซึ่งกรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์แจ่มใส เผยประกายไอเดียเริ่มแรกของการทำหนังสือนิยายรักแนวนี้ว่า มาจากปัญหาและความต้องการขอตัวเอง ผู้หญิงกระเป๋าใบใหญ่มากเลย แล้วเราก็ขนของบ้าบออะไรไม่รู้ วันหนึ่งๆ มันหนักมาก แล้วเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็อยากพกหนังสือสักเล่มไว้ พี่ว่ามันน่าจะดีนะถ้ามีหนังสือเล่มเล็กๆ แบบของญี่ปุ่น เวลาเราเห็นเขาอ่านบุงโกะในรถไฟฟ้า เมืองไทยก็ทำได้สิ”

แม้จะเริ่มต้นความคิดอย่างสร้างสรรค์และเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง แต่แจ่มใสก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนอย่าง ข้อจำกัดด้านรูปลักษณ์” ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดพอดีมือและมีความหนาไม่มาก ซึ่งนำมาสู่ “ข้อจำกัดด้านเนื้อหา” ที่ไม่อาจใส่ความซับซ้อนลงในพล็อตเรื่องได้ เป็นผลให้ยอดขายไม่ได้เท่าที่คาดหวัง

นิยายรัก

และแม้ว่าแจ่มใสจะหาช่องทางแก้ไขวิกฤตด้วยการปรับขนาดเล่มให้เป็นไซซ์ “A5” แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์นักอ่าน รวมทั้งไม่ตอบโจทย์ความต้องการดั้งเดิมของ ศศกร ที่อยากจะได้นิยายขนาดเล็กสำหรับพกพา!

“เนื่องจากเป็นนิยายเล่มเล็กจึงไม่สามารถจุตัวหนังสือได้มาก ทำให้ใช้พล็อตซับซ้อนมากไม่ได้ คนอ่านก็จะรู้สึกว่าอ่านแล้วซ้ำ แต่ถ้าจะแตกพล็อตก็ต้องเป็นเล่มหนา ไม่เหมาะกับการทำเล่มเล็ก รวมทั้งเรื่องไซซ์ตัวหนังสือ เพราะเรารู้ว่าคนอ่านนิยายแนวนี้เป็นผู้ใหญ่ ไม่ค่อยเจอเด็กวัยรุ่นอ่าน ณ ตอนนั้นพี่รู้สึกว่ามันผิดกับสิ่งที่เราคิดไว้

 “ก็พยามบิ้วท์น่าดูหลายปี ไม่ได้ขาดทุน แต่แนวอื่นขายได้ดีกว่า เราเลยว่าหยุดดีกว่าเพราะเห็นสิ่งที่ตอบโจทย์ไม่ได้เยอะ ซึ่งจุดที่เราหยุดทำเป็นเวลาที่ทุกคนตามหานิยายที่ดราม่าขึ้น ซับซ้อนขึ้น พีคขึ้น เราพยามหาวิธีแก้ แต่มันไม่ได้ ศศกร กล่าวและต่อว่า ถ้าอยากได้หนังสือเล่มเล็กๆ แล้ว On hand คือ E-book มันก็ตอบโจทย์หรือเปล่า…

โลกรักสีชมพูเฉดใหม่ๆ ที่รู้ว่าเสี่ยงยังไง..ก็ต้องขอลอง

ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แจ่มใสก็เหมือนกับ “เด็กวัยรุ่น” คนหนึ่ง ที่กระหายการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพื่อเปิดโลกใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน

แต่ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อที่มั่นคงต่อหนังสือของ ศศกร ที่มองว่าหนังสือถือเป็นสิ่งพิเศษอย่างหนึ่งที่มีเสน่ห์ในตัวเอง หนังสือมีเนื้อหามีจุดแข็งในตัว ถ้ามันไม่ดีพอ ต่อให้เราใส่งบมาร์เก็ตติ้งให้ตาย มันก็ไม่ขึ้น แต่ถ้าตัวมันดีอยู่แรง มันอาจจะต้องการแรงผลักทางมาร์เก็ตติ้งนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น”

“แจ่มใสมีจุดแข็งเรื่องทีมงานคัดเลือกเรื่อง เราจึงมีนักเขียนที่มีชื่อ เป็นเบสท์เซลเลอร์เข้ามาและขายได้ค่อนข้างเยอะตลอด เขาอาจจะดีอยู่แล้ว แต่ตอนเข้ามาใหม่ๆ เขาก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น รูปเล่ม การโปรโมท กระบวนการทางบรรณาธิกร หรือเรื่องแปล ทีมภาษาที่เป็นคนอ่านจะพิจารณาว่าควรนำเข้ามาทำดีไหม”

ด้วยเพราะจุดแข็งของทีมคัดเลือกเรื่องนี้เอง เป็นผลให้แจ่มใสมักเป็นผู้ริเริ่มแนวเรื่องนิยายรักสีชมพูในเฉดใหม่ๆ เสมอ ศศกร ยอมรับว่า การหยิบนิยายแนวใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ณ ตอนที่ไม่มีใครอยู่ในตลาดเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากไม่รู้ว่าสิ่งที่นำเข้ามาจะถูกใจผู้อ่านหรือไม่ แต่ที่เลือกเข้ามาส่วนมากก็เพราะเห็นว่า คอนเทนต์ดี”

ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์
ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์

พี่มองถึงความท้าทายและความสนุกในการทำงาน ว่าตอนที่ไม่มีใครในตลาดเลย แล้วเราต้องหาอันหนึ่งขึ้นมา เราต้องบิ้วท์มันให้คนอ่านรู้ว่ามันมีหนังสือแนวนี้อยู่ ซึ่งแจ่มใสเป็นมาตลอด ตั้งแต่ตอนเป็นนิยายเกาหลี เป็น Internet Novel หรือตอนที่เอานิยายจีนเข้ามา เราดูกันในทีมว่าคอนเทนต์ดีเลย สนุก แต่ไม่มีคนอ่านแนวนี้มาก่อน ยังไงดี มันจะขายดีหรอ แต่มันเป็นของใหม่ มันสร้างสรรค์ มันสนุกในความรู้สึกเรา มันต้องมีคนคิดเหมือนเราไม่มากก็น้อย เราแค่ใช้เวลาและ Introduce มันให้กับตลาด แล้วก็ Proof ว่ามันโอเค

“แจ่มใสก็เคยมีแนวนิยายที่ทำออกมาแล้วไม่เวิร์ค แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจยุคนี้เลย” ศศกร กล่าวและต่อถึงความกล้าที่จะลงมือเลือกเนื้อหานิยายที่แปลกแตกต่างมาให้กับวงการนิยายรักใหม่ๆ อยู่เสมอ ว่า ถ้าไม่แพ้แปลว่าไม่ทำ มันต้องทำ ซึ่งพอทำก็มีแค่ขายได้กับขายไม่ได้ แต่ถ้าไม่ทำก็มีแต่ขายไม่ได้ ในทีมเราจะคุยกันว่า พี่เลือกยอมให้น้อง Fail ดีกว่า เพราะอย่างน้อยๆ คุณได้ Test ดูว่าคนอ่านชอบหรือเปล่า”

ถึงคอนเทนต์นิยายรักจะเติบโตไปตามกาลเวลาอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เมื่อนักอ่านเปิดนิยายรักแจ่มใสอ่านแล้วล่ะก็…โลกทั้งใบก็จะยังเป็นสีชมพูอยู่เสมอไม่เคยเปลี่ยน…