“เราเคยถามคำถามนี้กันเองเมื่อ 10 ปีก่อน อาลีบาบาจะเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างไรหลังแจ็ก หม่า ออกจากบริษัท เราเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาการสืบทอดการเป็นผู้นำองค์กรได้ คือการพัฒนาระบบที่โปร่งใส ที่อยู่บนวัฒนธรรมอันแตกต่างและวิธีการที่จะพัฒนาคนเก่งและผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งอย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราได้คิดค้นส่วนผสมที่เหมาะสม
ด้วยการที่ถูกสอนมาให้เป็นครู ผมมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ผมได้ประสบความสำเร็จ ครูบาอาจารย์มีความปรารถนาที่จะให้ลูกศิษย์ทำได้ดีกว่าตนเอง ดังนั้น ความรับผิดชอบของผมและบริษัทที่ต้องทำคือการปล่อยให้คนรุ่นใหม่กว่า เก่งกว่า มารับหน้าที่ผู้นำ เพื่อให้เขาสืบทอดภารกิจที่จะ “สร้างความสะดวกสบายในการทำธุรกิจจากที่ไหนก็ได้”…..” คำพูดบางส่วนของแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอาลีบาบา ที่ส่งสารเปิดผนึกถึงลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงานในวันที่เจ้าตัวตัดสินใจแน่วแน่เตรียมลงจากตำแหน่งประธานกรรมการของอาลีบาบา ส่งไม้ต่อให้กับ “แดเนียล จาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ในวันที่อาลีบาบาครบรอบ 20 ปี (10 ก.ย. 2562)
และหันไปทุ่มเทให้งานด้านการศึกษา เดินตามรอย “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ มหาเศรษฐีผู้ใจบุญ…
“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พารู้จัก “แดเนียล จาง” ว่าที่ประธานกรรมการของอาลีบาบา ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้
แดเนียล จาง เกิดใน “เซี่ยงไฮ้” มหานครใหญ่สุดของประเทศจีน เขาอายุ 46 ปี ไปเมื่อต้นปีนี้ ( เกิด 11 ม.ค.1972) ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอของอาลีบาบา กรุ๊ป ตั้งแต่เมื่อปี 2015
แต่ก่อนที่จางจะก้าวเข้ามาสู่อาณาจักรอีคอมเมิร์ซสุดยิ่งใหญ่แห่งนี้ เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Shanghai University of Finance and Economics สาขาการเงิน
เคยทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัท PricewaterhouseCoopers หรือ พีดับบลิวซี ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สาขาในเซี่ยงไฮ้ หลังจากนั้น 2 ปี เขาได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสายการเงิน หรือ CFO ให้กับบริษัทผู้พัฒนาเกมอย่าง Shanda Interactive
ในเดือนสิงหาคมปี 2007 จาง เข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสายการเงินของเว็บไซต์ขายของออนไลน์อย่าง “Taobao” ซึ่งนี่ถือเป็นก้าวแรกในครอบครัวอาลีบาบา (ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Taobao ผ่านโทรศัพท์มือถือต่อวันถึง 189 ล้านคน) ในปีถัดมามุมมองด้านการเงิน และการดำเนินงานของจางก้าวไกลกว่านั้น เพื่อยกระดับมาตรฐานของสินค้าและความน่าเชื่อถือในผู้บริโภค จางขยายธุรกิจของอาลีบาบาไปในแบบแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่เน้นการทำธุรกิจแบบ B2C รีแบรนด์ดิ้ง Taobao Mall เป็น Tmall…หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อนี้เหมือนอย่าง Taobao แต่คงจำได้กับปรากฏการณ์เว็บไซต์ทีมอลล์ ขายทุเรียนไทย 8 หมื่นลูก ได้ภายใน 60 วินาที (ปรากฏการณ์ 60 วินาที “แจ็ค หม่า” VS ทุเรียนไทย 8 หมื่นลูก)
ไม่เพียงแค่นั้น จาง ยังเป็นผู้คิดค้น และริเริ่มเทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสด (11.11) ที่สร้างรายได้เม็ดงามให้กับอาลีบาบา ด้วยความคิดริเริ่มที่คุยกับทีมงานว่า “เราลองมาทำแคมเปญเหมือนกับแบล็กฟรายด์เดย์ เทศกาลช็อปปิ้งของสหรัฐ ซึ่งเราต้องลองหาวันที่ตรงกับเทศกาลของคนจีน มันน่าจะช่วยให้อีเวนต์ยิ่งใหญ่ได้”
“เทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสด” จึงได้เกิดขึ้นในปี 2009 โดยได้ลอนซ์แคมเปญผ่านทีมอลล์ ในปีนั้นเทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสดภายใต้แนวคิดของจาง สร้างรายได้ถึง 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นเทศกาลคนโสดก็มีมาเรื่อยมา เมื่อปีที่ผ่านมานั้นทำสถิติเป็นเทศกาลช็อปปิ้งที่ใหญ่กว่าแบล็กฟรายเดย์ และไซเบอร์มันเดย์ ของสหรัฐรวมกัน ทำยอดขายได้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้นในปี 2015 “แดเนียล จาง” ได้ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของอาลีบาบา ต่อจากแจ็ก หม่า ที่ลงจากตำแหน่งไป ด้วยวิสัยทัศน์ และความสามารถในการเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกับอาลีบาบา และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ็ก หม่า มาเป็นเวลานาน ก็คงพอจะเป็นคำตอบให้ได้แล้วว่า “แดเนียล จาง” ในวัย 46 ปี พร้อมที่ก้าวขึ้นมาสืบทอดนั่งตำแหน่งประธานกรรมการของอาลีบาบา ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ดังคำกล่าวของแจ็ก หม่าที่เขียนไว้ในจดหมายว่า
“แดเนียลร่วมทีมกับอาลีบาบา กรุ๊ปมากว่า 11 ปี นับตั้งแต่ที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยม ความเฉียบคมทางธุรกิจ และความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่น ภายใต้การนำของเขา อาลีบาบาได้เห็นถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอและยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอด 13 ไตรมาสที่ผ่านมา ความคิดเชิงวิเคราะห์ของเขายากที่จะมีใครเทียบ เขาได้ให้ความสำคัญในการสืบทอดพันธกิจและวิสัยทัศน์ ได้รับ เปิดรับหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างกระตือรือร้น
และมีความกล้าที่จะคิดอะไรใหม่ ๆ และทดสอบโมเดลทางธุรกิจที่สร้างสรรค์ สมควรแล้วที่เขาจะได้รับยกย่องจากสื่อข่าวด้านธุรกิจของจีนให้เป็นซีอีโอเบอร์ 1 ประจำปี 2561 (No.1 CEO in 2018) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้เขาและทีมงานได้รับความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น การเริ่มกระบวนการส่งผ่านคบเพลิงสู่แดเนียลและทีมของเขานับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม เพราะผมรู้จากการทำงานกับเขาว่าพวกเขามีความพร้อม และผมก็มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำรุ่นถัดไปของเราอย่างเต็มเปี่ยม”
นับจากนี้อีก 12 เดือน การบริหารอาณาจักรอาลีบาบา กรุ๊ป ภายใต้ผู้นำอย่าง “แดเนียล จาง” จะเดินทางต่อไปในทิศทางไหน และจะนำพาองค์กรให้ยืนยาวไปถึง 102 ปี สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้มากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องน่าติดตาม….
ที่มา About Alibaba Group CEO Daniel Zhang
More Clark Kent than Superman: Meet Daniel Zhang, Alibaba’s next chairman
Daniel Zhang: The CEO Changing the Way China Shops