คุยกับ “ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ” เรื่องศิลปะ “เหนือกว่าสุนทรียะคือการสร้างชาติ”

ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ-03

หากกล่าวถึง “การพัฒนาชาติ” ใครเลยจะนึกถึงคำว่า “ศิลปะ” …

เพราะเมื่อสังคมไทยให้ค่ากับงาน “ศิลปะ” เป็นเพียง “สุนทรียะ” อันง่อนแง่น กับภาพลักษณ์ของ “ศิลปิน” ที่ดื่มด่ำแต่เพียงความงามอย่างไร้แก่นสาร การให้ศิลปะมีคุณค่าถึงขนาดเชื่อมโยงกับ “การพัฒนาชาติ” ในภาพใหญ่ของประเทศ เฉกเช่นการให้ความสำคัญกับ “ธุรกิจ” หรือ “การเงิน” หรือ “การเมือง” จึงเป็นเรื่องที่เหนือจะจินตนาการ!

แล้วจะแปลกอะไรที่ใครหลายคนมักพูดแสดงความเห็นว่า “สวย” หรือ “ไม่สวย” ต่อผลงานศิลปะที่ได้ชม…ปราศจากการมองเห็นคุณค่าในมิติอื่นๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาคุยกับ “ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ” อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้เคยศึกษาเล่าเรียนและใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสร่วม 10 ปี สนใจงานศิลปะในมิติต่างๆ และมีโอกาสสำรวจหอศิลป์-พิพิธภัณฑ์ในต่างแดน เพื่อล้วงลึกถึงคำตอบว่า “แล้วศิลปะจะสร้างชาติได้จริงไหม-จะสร้างชาติได้อย่างไร”

ศิลปะ: ส่วนผสมของการสำรวจมนุษย์ องค์ความรู้ และเสรีภาพ

“กลไกสำรวจมนุษย์” คือคำจำกัดความที่สั้น กระชับ แต่กินความหมายอย่างลึกซึ้ง ของ “ศิลปะ” ที่ ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ ให้ความหมายไว้ และเน้นย้ำว่า ไม่ใช่แค่ “การดู” แต่คือ “การสำรวจอย่างลึกซึ้ง” ตั้งแต่ตัวมนุษย์ไปจนถึงโลกรอบตัวที่มนุษย์อาศัยอยู่!

“นับตั้งแต่อดีต การวาดรูปเหมือนคือการทำความเข้าใจมนุษย์ในเรื่องลักษณะท่าทางว่าเป็นอย่างไร สำรวจมนุษย์ในเชิงภววิสัย หรือการถ่ายทอดลงจากความจริงที่เป็นอยู่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ถ่ายทอดโลกในเชิงอัตวิสัย หรือการค้นภาวะภายในจิตใจของมนุษย์ รูปเขียนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือน เพราะโลกได้ก้าวข้ามความเหมือนหรือไม่เหมือนไปแล้ว”

ADVERTISMENT

แต่การสำรวจมนุษย์ที่มีความซับซ้อนย่อมต้องอาศัยมุมมองหลากหลายผ่าน “สหวิทยาการ” หรือความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่สังคมศาสตร์จนถึงวิทยาศาสตร์สำหรับการสำรวจ ทำความเข้าใจมนุษย์และโลก นั่นจึงหมายความว่า “ศิลปินทำงานไม่ต่างจากนักวิชาการ เพียงแต่ถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานศิลปะ”

“คุณอยากถ่ายทอดเรื่องชีวิตแรงงานต่างด้าว คุณต้องใช้ศาสตร์ เช่น มนุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือศิลปินอาจจะมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเลยเถิดไปถึงด้านวิทยาศาสตร์” อาจารย์จุฬาฯ กล่าว

ADVERTISMENT

นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่ทำให้งานศิลปะเพื่อการสำรวจมีความลุ่มลึกและทรงพลัง “เสรีภาพ” ก็คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างผลงานศิลปะที่ไม่อาจปล่อยให้ขาดหายได้!

“เสรีภาพในแง่ของศิลปินคือเสรีภาพในการแสดงออก ตั้งแต่รูปแบบ ไม่เฉพาะรูปปั้น รูปวาด บางทีมันเป็นอะไรก็ไม่รู้แล้ว อาจจะเป็นเหตุการณ์ เป็นประสบการณ์ หรือสื่อใหม่ สื่อร่วมสมัย และแน่นอนว่า เสรีภาพของคอนเทนต์ ของประเด็นที่หลากหลายจะต้องถูกนำเสนอ รวมทั้งเสรีภาพของการรับรู้ของผู้ที่ดูงานที่จะปฏิเสธก็ได้ ชื่นชอบก็ได้ มีเสรีภาพในการคิดตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น” ดร.พิชัยวัฒน์ กล่าวถึงเสรีภาพด้านรูปแบบการแสดงผลงาน เสรีภาพด้านประเด็นที่จะสื่อสาร และเสรีภาพการตีความของผู้ชมดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ-03

เสรีภาพทางความคิดเลือนราง…จากความลักลั่นของการประกวดกับวัฒนธรรมการวิจารณ์

จากโลกสังคมเสรีนิยมสุดโต่งอย่าง “ฝรั่งเศส” สู่สังคมอนุรักษ์นิยมขนานแท้อย่าง “ประเทศไทย” ดร.พิชัยวัฒน์ ชวนสะท้อนถึงตอไม้ใหญ่ที่ขวาง “เสรีภาพทางความคิด” ของคนในสังคมไทยมาอย่างช้านาน ว่าคือ “การประกวดงานศิลปะ” โดยมีหัวข้อกำหนด และ “วัฒนธรรมการวิจารณ์” ที่ไม่เข้มแข็ง!

“ยกตัวอย่างการประกวดงานศิลปะหัวข้อชนบทของฉัน คุณจะเห็นว่าศิลปะที่ออกมาก็จะมีภาพเดิมๆ ภาพบ้าน ทุ่งนา เด็กวิ่งเล่นกันอยู่ ดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตก ชาวบ้านกำลังปั่นจักรยานกลับบ้าน ดูแล้วก็สวยดี แต่เป็นเพียงการนำเสนอความคิดเพื่อตอบโจทย์กับกรอบของความคิดหนึ่งๆ เท่านั้น ดร.พิชัยวัฒน์กล่าว และต่อว่า

“งานศิลปะที่ดีควรยั่วล้อให้คิด ทุกชนบทเป็นเช่นนั้นหรือ มีเด็กตั้งเยอะแยะที่ท้องตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน มีเด็กที่ครอบครัวล่มสลายจำนวนมาก หรือการที่เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แล้วไม่ได้ช่วยให้เขาดีขึ้น เพราะปัจจัยอื่นๆ”

ประสบการณ์ศึกษาเล่าเรียนและใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสร่วม 10 ปีทำให้ ดร.พิชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างการเรียนการสอนวิชาศิลปะในฝรั่งเศสได้ว่า เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการคิด การตั้งคำถาม และวิจารณ์ตั้งแต่เด็ก หรืออย่างน้อยๆ ก็สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของงานศิลปะว่า “รูปนี้สวยเพราะอะไร น่าสนใจเพราะอะไร” ในขณะที่พื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กไทยถูกตีกรอบความคิดตั้งแต่ “หัวข้อวาดรูปวันนี้คือ…”

คำว่า วิจาณ์ เป็นคำในเชิงลบมากๆ ในสำนึกไทย เช่น อย่ามาวิจารณ์กัน ดีแต่วิจารณ์ สิ่งนี้ย้อนแย้งกับการพัฒนาของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาการศึกษา อยากให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนตั้งคำถาม จึงเป็นเหตุผลที่ควรมีการวิจารณ์ เมื่อคุณถาม จะมีการคิด ได้ถกเถียง เกิดความรู้ใหม่ แล้วจะเป็นวงล้อไม่มีวันหยุด

แต่ยังอยู่ในกรอบอารยะธรรม เถียงด้วยความคิด เถียงด้วยคำพูด ไม่ใช่ทำร้ายกัน อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวถึงความอ่อนแอของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในไทยที่มีผลต่อการพัฒนามนุษย์และประเทศชาติ

จากรากวัฒนธรรมการขาดการถกเถียงและวิจารณ์ รวมถึงการตีกรอบความคิดต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ ผลพวงที่เห็นได้ชัดคือ “เสรีภาพทางความคิดที่เลือนราง” หรือคือ “อุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์และประเทศชาติ”

ดร.พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ-02

บทเรียนหอศิลป์-พิพิธภัณฑ์ต่างแดน: จากศิลปะ สู่เสรีภาพ ถึงการพัฒนามนุษย์เพื่อชาติ

นอกเหนือจากการไปเรียนและใช้ชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศศูนย์กลางแวดวงศิลปะแล้ว ความสนใจด้านศิลปะ หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ยังเป็นแรงผลักดันให้ ดร.พิชัยวัฒน์ ออกเดินทางไปชมงานในหลายๆ ประเทศ

อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ เล่าถึงประสบการณ์การเข้าถึงศิลปะสมัยเป็นนักเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสว่ามีความง่ายในการเข้าถึง และเชื่อว่าไอเดียของชาติฝรั่งเศสคือเสรีภาพ การพัฒนาทั้งแวดวงศิลปะ ทั้งประเทศชาติ จึงเติบโตเคียงคู่กันมา!

ผมตื่นเช้ามาดูรายการโทรทัศน์ตอนเช้าวันอาทิตย์ เป็นสารคดีเกี่ยวกับจิตรกรเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว นำมาพูดถึงคุณค่าในมิติต่างๆ เขาสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร ภายใต้บริบทแบบใด เขาคิดอะไร สะท้อนอะไร มีการอธิบายอย่างชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่เลื่อนลอย เพียงแค่สวยหรือไม่สวย แต่เป็นข้อมูลที่มีความหลากหลาย เข้าหาคน ดูทีวีก็เจอได้ ยังไม่ต้องไปพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำ

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ ดร.พิชัยวัฒน์ บอกว่าทั้งอึ้ง ทั้งทึ่ง และทั้งชื่นชม คือ การจัดแสดงงานประวัติศาสตร์ศิลปะของอาเซียนผ่านการจัดแบ่งยุคศิลปะตามไทม์ไลน์ประเทศสิงคโปร์ คุณคิดดู คุณเป็นคนสิงคโปร์คนหนึ่ง เข้าไปในพิพิธภัณฑ์นี้ คุณจะเข้าใจประเทศไทยอย่างย่นย่อและลึกซึ้ง”

สิงคโปร์เขาทำให้ศิลปะมีมูลค่า ขายได้ แต่ความเป็นจริงคุณอาจจะต้องคำนึงมูลค่าอื่นๆ เช่น ความผูกพันธ์ของสังคมกับศิลปะ มูลค่าภูมิปัญญา ให้คนไคร่ครวญ ตั้งคำถาม มีเสรีภาพ หรือรวมๆ คือ มูลค่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสิงคโปร์ตีโจทย์แตก เขาลงทุนเต็มที่ อาจารย์จุฬาฯ กล่าว และต่อว่า

หากคุณมองว่ามนุษย์คือต้นทุนการผลิตที่สำคัญของประเทศ การที่คุณส่งเสริมให้ศิลปะกระตุ้นความคิด ให้คนถกเถียงอย่างมีเสรีภาพ นี่อาจเป็นโอกาสที่ดีที่สังคมต้องการมาทำความเข้าใจว่าศิลปะสำคัญกับสังคมเพียงไร เรามองข้ามอะไรไปหรือเปล่า…”

ฉะนั้นแล้ว ปัญหาจึงไม่ใช่ว่า “ศิลปะ” ไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะ “สร้างชาติ” เพียงแต่ “ผู้นำของชาติ” เล็งเห็นและเข้าใจความสำคัญของ “ศิลปะ” อย่างลุ่มลึกพอที่จะเชื่อมโยงถึง “ปมปัญหา” ที่ละข้อต่อ และแก้ไข เพื่อ “ลงทุน” กับต้นทุนมนุษย์…ต้นทุนอันสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ หรือไม่?

 

ชมคลิป หนึ่งคำตอบของการพัฒนาคน คือศิลปะที่กระตุ้นให้คิดและจินตนาการ