มาริษ กรัณยวัฒน์: หลังม่านควัน “บุหรี่ไฟฟ้า” กับความปรารถนา “นิโคติน” ทางเลือกใหม่

มาริษ กรัณยวัฒน์

ทันทีที่เขาสูดลมหายใจเข้าไปพร้อมกับอุปกรณ์ซึ่งติดอยู่ที่ริมฝีปากและค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกนั้น กลุ่มควันสีขาวก็ลอยพวงพุ่งขึ้นสูงเหนือระดับสายตา ลอยละล่องไปตามสายลมอ่อนๆ พัดพาไปจนกระทั่งกลุ่มควันเริ่มจางและเบาบางสลายไป!

ทั้งสวยงาม ทั้งน่ากลัว และทั้งแปลกตาในคราเดียวกัน!

สโม๊คกิ้งแอเรียเล็กๆ ที่จัดไว้สำหรับนักสูบคือสถานที่พูดคุยกันระหว่าง “ประชาชาติธุรกิจ” กับเขา “มาริษ กรัณยวัฒน์” ผู้ผันตัวจากการสูบบุหรี่มวนมาสู่บุหรี่ไฟฟ้า และสมาชิกเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) ถึงประสบการณ์ตรงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและความปรารถนาผลักดันให้ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นทางเลือกเสรีสำหรับผู้ต้องการ “นิโคติน” ในประเทศไทย ซึ่ง ณ วันนี้ยังคงถูกตีตราในฐานะสินค้าต้องห้าม และต้องแอบซื้อหากันตามตลาดมืด!

เส้นทางการต่อสู้เพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาอยู่บนดินไม่ใช่เส้นทางที่ง่าย…เป็นเหมือนกับควันบุหรี่ไฟฟ้า หนา แน่น สีขาว แต่แล้วเมื่อลมพัดพาก็สลายหายไป!

เหตุผลที่เปรียบเทียบเช่นนี้ก็เพราะว่า แม้ว่ามาริษจะหยิบยกหลักฐานวิชาการ-งานวิจัยจากทั้งหลากหลายองค์กรและประเทศเพื่อยืนยันกับ “รัฐบาลไทย” ผู้ขีดเส้นกะเกณฑ์ชะตาผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าว่า “ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน” แต่แล้วหลักฐานที่ดูเหมือนจะทั้งหนาทั้งแน่นและดูดีนั้น ก็กลับปลิวกระจายเพียงเมื่อรัฐบาลปฏิเสธที่จะรับฟัง ทั้งยังค้านกลับว่า “บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่มวน”

ควันแรกของมาริษ

“ตัวเองสูบบุหรี่มา 20-30 ปี แต่มีช่วงหนึ่งที่บินเครื่องบินเล็กเล่นกับเพื่อน ถังน้ำมันอยู่บนหัวหรือไม่ก็อยู่ที่ปีกเครื่องบิน การสูบบุหรี่บนนั้นทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย ในยุคนั้นเราจึงต้องหาสิ่งทดแทน” ท่ามกลางกลุ่มควันสีขาวลอยละล่องกับท่าทีผ่อนคลายของมาริษ เขาพาย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน ณ ตอนที่เริ่มต้นรู้จักกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก

“พอใช้แล้ว เราไม่อยากบุหรี่มวน พอใช้ต่อเนื่อง 2-3 วันแล้วไม่สามารถกลับไปสูบบุหรี่มวนได้ กลายเป็นว่าเราเหม็นบุหรี่มวนไปเลย รับเข้าไปไม่ได้ และสิ่งที่ตามมาคือ อาการตอนเช้าที่เคยตื่นมาแล้วฟึดฟัด ไม่สบายตัวเหมือนตอนสูบบุหรี่มวน มันหายไป เราจึงโอเคกับบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า”

ไม่เฉพาะเพียงความเชื่อที่เกิดจากความรู้สึกและประสบการณ์ตรง แต่การศึกษา “งานวิจัยด้านการแพทย์” จากต่างประเทศจำนวนมากก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งให้มาริษยิ่งเชื่อมั่นในบุหรี่ไฟฟ้าและนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเลือกหันหลังให้กับบุหรี่มวนและควันยาสูบ

มาริษ กรัณยวัฒน์

บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่

บุหรี่ไฟฟ้าถือกำเนิดเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ทว่ากฎหมายที่ห้ามนำเข้า-ส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยเพิ่งมีเมื่อปี 2557 นี้ หมายความว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” เคยอยู่เหนือกฏหมาย นำเข้า ส่งออก และใช้ได้อย่างเสรีโดยที่ไม่ถือเป็น “สินค้าต้องห้าม” เช่นทุกวันนี้

สมาชิกเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ มองว่า การที่นิยายและจัดบุหรี่ไฟฟ้าเข้ารวมอยู่ในหมวดเดียวกับ “บารากู่”และ “บารากู่ไฟฟ้า” ถือเป็นจุดผิดพลาดที่สุด เนื่องจากหลักการของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ในขณะที่บารากู่เป็นเช่นนั้น

“เขาคิดว่าเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกัน ในตอนแรกเขาคิดด้วยซ้ำว่ายาเส้นบารากู่เอามาสกัดเป็นน้ำเอามาใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าหรือบารากู่ไฟฟ้า ตอนแรกเขาเรียกบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นบารากู่ไฟฟ้า” มาริษกล่าวและตั้งคำถามว่า “ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เขาเริ่มประชุมว่าทำไมเขาถึงนิยามบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นบารากู่ไฟฟ้า”

การประชุมกับข้อสรุปที่ยังไม่ปรากฎ

ท่าทีสบายๆ ของชายวัยกลางคนในตอนแรกเริ่มเปลี่ยนเป็นจริงจังมากขึ้น เมื่อถามถึงทิศทางการประชุม “ทบทวนมาตรการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เขาเล่าว่า เป็นการร่วมหาทางออกโดยหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต หอการค้าไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

แต่ทว่าการประชุมนานนับ 3 ชั่วโมงที่กระทรวงพาณิชย์อาสาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นนั้นกลับไร้ข้อสรุป และมีการโต้เถียงมากมายระหว่างการประชุม เป็นผลให้มาริษเลือกให้คำจำกัดความของการประชุมที่ผ่านมานั้นว่า “เละ” !

“ต้องบอกว่าข้อสรุปของการประชุมคือยังไม่มีข้อสรุป เราพยายามหาทางออกกันว่าเรื่องนี้จะลงอย่างไร แต่ละหน่วยงานก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พอจะตั้งคณะกรรมการที่จะมาศึกษาเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง ก็ไม่ชัดเจนอีกว่าใครจะขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ทางนั้นก็ขัด ทางนี้ก็มีปัญหา

“บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในพ.ร.บ.ยาสูบตั้งแต่ปี 2560 ที่บังคับใช้ก็คือให้สูบในที่อนุญาตให้สูบ ห้ามสูบในที่ห้าม เหมือนบุหรี่ทวน แต่สมมติคุณถือบุหรี่ไฟฟ้าไปสูบในที่ให้สูบบุหรี่ คุณผิดไหม คุณไม่ผิดพ.ร.บ.ยาสูบ แต่คุณไปผิดพ.ร.บ.ศุลกากร พอจะไปแก้ไขพ.ร.บ.ศุลกากร ของต้องห้ามอย่างอื่นก็จะหลุดตามมาอีก

“หรือหากอนุญาตให้นักท่องเที่ยวถือเข้ามาได้ แปลว่าของสิ่งนั้นถูกกฎหมาย คำถามคือ หากว่านักท่องเที่ยวทิ้งไว้ให้กับคนไทยในขณะที่ตนเองบินกลับประเทศไป ของชิ้นนั้นจะผิดกฎหมายทันทีหรือไม่ แล้วทางออกคืออะไร กลายเป็นว่าถูกต้องหนึ่งเรื่อง แต่กลับไปผิดอีกเรื่องหนึ่ง” มาริษกล่าว

มาริษ กรัณยวัฒน์

ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมกำหนด

ระหว่างบทสนทนาที่มีฉากหลังเป็นควันจากทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนของนักสูบมากหน้าหลายตาที่วนเวียนเข้าออกพื้นที่พิเศษแห่งนี้ มาริษยืดหลังขึ้นตรงเป็นสัญญาณถึงการปฏิวัติกลายๆ และเล่าต่อว่า ประชุมเมื่อวานนี้ เขาบอกว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ร่วมกัน ผมก็เสนอว่า ถ้าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ผมก็ต้องเข้าไปร่วมด้วยในฐานะผู้บริโภค แต่เขาก็พยายามยัดเยียดว่าผมเป็นผู้รับผลประโยชน์จากบริษัทบุหรี่ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง

“ผมถามย้อนกลับไปบ้างครับว่างบประมาณ 100 % ชอง สสส. มาจากไหน เหล้า-บุหรี่ใช่ไหม งบประมาณของมูลนิธิที่รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่มาจากไหน มาจาก สสส. ซึ่งก็รับจากบุหรี่ใช่ไหม ใครคือผู้รับผลประโยชน์จากบุหรี่ครับ”

ถ้าจะแฟร์เพลย์คือ ผู้บริโภคต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมายตรงนี้ เพราะเราคือผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม เราคือผู้ที่รับผลของการควบคุมของกฎหมายนั้น อดีตที่ผ่านมา พ.ร.บ.ยาสูบออกโดยคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เขาไม่เคยฟังเสียงผู้บริโภคหรือคนที่สูบบุหรี่ว่า เราโอเคกับการที่ป้องกันในระดับไหน

ข้อเสนอและคำขอจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ถึงรัฐบาล

ผู้ผันตัวจากการสูบบุหรี่มวนมาสู่บุหรี่ไฟฟ้าเป้นระยะเวลากว่า 7 ปี เสนอว่า ให้มีการทำบัตรสำหรับผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยวางเงื่อนไขให้มีการรูดบัตรก่อนซื้อบุหรี่ไฟฟ้าตามร้านค้า เพื่อเป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการซื้อขายออนไลน์-ตลาดมืด เนื่องจากเด็กจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ออกบัตรและการค้าขายออนไลน์ทำได้เนื่องจากไม่สามารถรูดบัตรได้

“อยากให้ได้รับการยอมรับมากกว่าว่ามันคืออุปกรณ์ลดความเสี่ยง (Harm reduction) มันไม่ได้มีผลแต่กับเฉพาะผู้สูบอย่างเดียว ควันมือสองของมันกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลยมีผลกระทบอันตรายน้อยกว่าควันจากบุหรี่มวนมาก” มาริษกล่าวและต่อว่า 4 ปีมานี้เขาพูดแต่ว่าเด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น คำถามคือ แบนมา 4 ปีแล้ว เด็กใช้มากขึ้น นักท่องเที่ยวโดนจับมาก ทำไมคุณไม่ลองเปลี่ยนวิธีการควบคุม?

ตลาดมืด ณ ขณะนี้  มันคือผลเสีย ผลกระทบเชิงลบให้กับรัฐบาล แต่ถ้าคุณดึง ขึ้นมาเป็นตลาดปกติบนบกเหมือนบุหรี่มวน มันจะกลายเป็นรายได้มหาศาลของรัฐ เพราะหนึ่งคุณสามารถจัดเก็บรายได้  กองทุน สสส. ก็จะขยายตัวโตขึ้น จากเดิม 2 % จากบุหรี่มวนอย่างเดียว อาจจะได้ส่วนบุหรี่ไฟฟ้ามาเพิ่ม คุณสามารนำเงินตรงนี้ไปใช้ใน สปสช. 30 บาท โดยไม่ต้องไปเก็บ 2 บาทจากบุหรี่มวนอีก

มาริษ กรัณยวัฒน์

จวบจนบทสนทนาดำเนินไปกว่า 10 นาที เราถามเขาว่ามีอะไรอยากบอกไหม มาริษ จึงกล่าวอย่างมีความหวังถึงปรารถนาที่จะพลิกฟื้นบุหรี่ไฟฟ้ามาตลาดปกติอีกครั้งว่า

“อยากให้รัฐคิดอย่างเป็นกลาง หน่วยงานที่พยายามต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า เรามาคุยกันดีกว่าว่าจะเอามันขึ้นมาอยู่บนดินอย่างไรเพื่อให้มีมาตรการควบคุมสูงสุด ประโยชน์ตรงนี้อยู่ที่ประเทศ ที่ผู้บริโภค”

และแล้วควันสีขาวที่ออกมาพร้อมลมหายใจของผู้สูบก็พวยพุ่งขึ้นฟ้าอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ในขณะที่เราจบบทสนทนา ร่ำลา “มาริษ กรัณยวัฒน์” และเดินออกมาจากสโม๊คกิ้งแอเรียที่ล้อมรอบด้วยพุ่มไม้ไม่หนาไม่บาง แต่ก็เพียงพอที่จะพรางร่างในพื้นที่นั้นได้ เพียงแต่กลุ่มควันสีขาวที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่อาจอำพรางได้เมื่อมันทั้งหนาและแน่นเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน…

และที่สุดแล้วก็อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ควันขาวที่ยังคงพวงพุ่งอย่างต่อเนื่องในหลายๆ สโม๊คกิ้งแอเรียคือเสียงสะท้อนถึงความต้องการ “บุหรี่ไฟฟ้า” หนึ่งทางเลือกของผู้เสพนิโคตินที่เป็นเสมือนคำยืนยันไปถึงรัฐว่า ไม่ใช่เฉพาะมาริษหรือใคร แต่ยังมีความปรารถนาปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกันนี้ที่แทรกซึมอยู่ในทุกแห่งหน…

ทุกควันสีขาวหนาแน่นคือความปรารถนาร่วมกันของผู้ใช้งานที่รัฐบาลควรจะรับฟัง…นั่นคือเรื่องจริง!