เผย 4 เรื่องที่นักการตลาดต้องรู้หลุดกับดักการตลาด 2019….ปีหน้าต้องเปลี่ยนแปลง!

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดในงาน “unlock the future 2019” ที่ M Academy ชั้น 6 บิ๊กซี ราชดำริ ภายใต้หัวข้อ “กับดักการตลาดปี 2019” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปีหน้าเป็นปีที่ต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นปีที่โลกของดิจิทัลเข้าสู่ปีที่ 16 ซึ่งถือได้ว่ามันล้าสมัยแล้ว กล่าวคืออะไรที่มีอายุเกิน 15 ปีแล้วมันจะโบราณ ดังนั้นในปีหน้าดิจิทัลก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

“ดิจิทัลรวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากขึ้น ซึ่งมันเข้ามาทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น เช่น ในอีกไม่กี่เดือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการขนส่งหนังสือโดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขนส่งที่ตั้งค่าที่รถแล้วมันจะไปส่งตามสถานที่ที่เรากำหนดไว้เอง เป็นต้น ซึ่งความน่ากลัวของเทคโนโลยี คือ เราตามมันทันหรือเปล่าเท่านั้นเอง” ดร.เอกก์ กล่าวและว่า

สิ่งที่จะเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนโลกของนักการตลาดในปีหน้านั้น เริ่มที่เรื่องของ Technology ที่เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนักต่อการทำธุรกิจ แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเทคโนโลยีมันไม่มีส่วนช่วยที่ทำให้ธุรกิจก้าวหน้าได้ กล่าวคือการใช้เทคโนโลยีผู้ใช้จะต้องเข้าใจก่อนว่าเทคโนโลยีตัวนั้นมันเป็นอย่างไร และจะใช้งานอย่างไร

“อย่างเช่นการเพิ่มยอดขายของไส้กรอกซีพี ที่มีการใช้ทวีทเตอร์ ในการโปรโมท ด้วยการจัดแคมเปญ #ไส้กรอกซีพีเพื่อนซี้แบมแบม ในทวิตเตอร์ ซึ่งแคมเปญนี้ก็ได้ส่งผลทำให้ยอดขายของไส้กรอกซีพีเพิ่มขึ้นมาได้หลายเปอร์เซ็นเลยทีเดียว เนื่องจากในปัจจุบันมีเด็กไทยที่อายุน้อยกว่า 18 ปี มีแนวโน้มหันมาใช้ทวิตเตอร์มากขึ้นกว่าdารใช้เฟสบุ๊ก ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่ทำการตลาดโดยการรู้จักเทคโนโลยีนั้นสามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้”

ดังนั้นจึงควรต้องเปลี่ยนจาการใช้ Technology มาเป็น Original model แทน คือ การทำธุรกิจจะต้องไม่เริ่มการพัฒนาจากเทคโนโลยี แต่ต้องเริ่มการพัฒนาจากปัญหาของลูกค้าก่อนว่าพวกเขาต้องการอะไร และจะต้องมองหาช่องว่างของคู่แข่งให้ออกด้วยว่าเขาขาดอะไร เช่น Grab ที่เป็น Business Model ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแท็กซี่รายใหญ่ที่มีคนใช้บริการสูงชนะสหกรณ์รถแท็กซี่ โดยที่ Grab ไม่มีแท็กซี่เลยสักคันเดียว เนื่องจาก Grab สามารถมองเห็นช่องโหว่ของธุรกิจนี้

ต่อมาคือเรื่องของการทำงาน ในปีหน้าคำถามที่ว่าอะไรคือ Online อะไรคือ Offline ควรจะต้องหมดไป เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ามันคือ Online หรือ Offline ดังนั้นควรเปลี่ยนจาก Online หรือ Offline มาเป็น Onlife แทนดีกว่า ในต่างประเทศมีร้านขายยาที่ผู้ป่วยสามารถเดินเข้าไปซื้อได้ทันที โดยนำบาร์โค้ดที่แพทย์ให้มาไปแสกนที่ร้านขายยาได้ทันที แล้วหุ่นยนต์ก็จะจัดยาตามที่แพทย์สั่งมาให้ทันที โดยไม่ต้องมีเภสัชกรอยู่ในขณะนั้นด้วย (เภสัชกรจะเป็นผู้จัดเรียงยาไว้ให้ตามช่องต่าง ๆ ก่อนไว้แล้ว) ซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่การใช้ Online เข้ามาช่วยในความสะดวกในการจ่ายยาให้ผู้ป่วย แต่จะเห็นได้ว่าป่วยยังคงเป็นใช้รูปแบบ Offline โดยการเดินไปซื้อที่ร้านขายยาอยู่ดี

Ecosystem ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ที่องค์กรต่าง ๆ ควรเปลี่ยนมาเป็นแบบ Open source เพื่อให้ธุรกิจของตนเองสามารถดำเนินต่อไปได้ อย่าง Apple ที่มีการออกผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ลูกค้าต้องใช้สินค้าในเครือเพียงอย่างเดียวถึงจะเชื่อมต่อ และรับส่งข้อมูลได้ดี ซึ่งวิธีการนี้ในปัจจุบันมันใช้ไม่ได้แล้ว จะเห็นได้จากยอดขายในปีนี้ Apple มีมูลค่าแบรนด์ตกลง เนื่องจากคนเริ่มอยากจะได้รับอิสระมากขึ้น ดังนั้นการทำธุรกิจควรเปลี่ยนมาเป็นแบบ Open source ที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น

เรื่องสุดท้ายที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นคือ Make-up story หรือ การสร้างเรื่องราวขึ้นมา ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บริษัททำอะไรผิดก็สามารถโทรหาบก. สื่อต่าง ๆ ให้ช่วยปิดข่าวได้ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันคนดูรู้หมดแล้วว่าเรื่องอะไรจริง อะไรไม่จริง ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้หมด ซึ่งถ้ามันมีเรื่องอะไรระเบิดออกมาแล้วมันจะขยายไปได้ไกลมากจากการแชร์ของคน เช่น กรณีของ ดีแอนด์จี ที่ทำโฆษณาเหยียดจีน ที่ทำให้ต้องยกเลิกงานแฟชั่นโชว์ในจีนไป เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเราทำอะไรผิด เราต้องยอมรับไปเลย เราต้องทำธุรกิจเป็นแบบ Organic คือ ต้องยอมรับความผิดพลาดถ้าทำผิดจริง เพราะ ลูกค้าต้องความจริงใจ