บทบาท “Music Director” คอนเสิร์ต อีกยอดสูงและหัวสิงโตที่ต้องเชิดของ “กบ BIG ASS”

Story : ธรรมธวัช ศรีสุข /Photo : กฤษกรณ์ สว่างการ

 

-ใครจะรู้ ลึก ลึก ฉันคิดถึงอะไร บ่าของฉันมันแบกอะไร
  ยิ่งสูงก็ยิ่งสั่น ยิ่งสูงก็ยิ่งหวั่นหัวใจ-

ส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลง “เชิดสิงโต” โดยปลายปากกาของ “กบ-ขจรเดช พรมรักษา” มือกลอง นักแต่งเพลง วง BIG ASS เขียนเพลงนี้ขึ้นเพื่อพูดถึง “คนตัวเล็ก” ที่ต้องเสี่ยงทำสิ่งที่ใหญ่เกินตัว เปรียบกับคนที่ต้องสวม “หัวสิงโต” ปีนขึ้นไปเชิดบนยอดสูง สร้างความสนุกสนาน เสียงหัวเราะแก่ผู้คนรอบข้าง แต่เสียงดังแค่ไหนก็ไม่อาจกลบเสียงหัวใจคนเชิดที่สั่นระรัว บ่าสองข้างที่หนักอึ้งจากความคาดหวัง แมสเสจนี้ถูกตีความถึง “เจ๋ง” นักร้องนำคนใหม่ที่ต้องเข้ามาแบกคำว่า BIG ASS และชื่อเสียงเก่าๆ ที่วงเคยทำไว้

แต่วันหนึ่ง ถ้อยคำในเนื้อเพลงมันย้อนกลับมาหาผู้แต่ง เมื่อ กบ BIG ASS ต้องวางไม้กลองมาแบกหัวสิงโตในบทบาททั้ง Show และ Music Director คอนเสิร์ต แบกรับงานใหญ่ที่คนทั้งประเทศคาดหวังอย่าง G19 และ BODYSLAM FEST ก่อนจะเห็นภาพความสำเร็จที่สวยงาม ก่อนจะเห็นรอยยิ้มของศิลปิน ก่อนเสียงปรบมือจะดังกึกก้องสนามราชมังฯ หลังฉากนั้นผ่านอะไรมาบ้าง กับแต่ละสเต็ปการปีนขึ้นอีกยอดสูงแห่งความกดดันของผู้ชายคนนี้

-ปีนขึ้นฟ้า เพื่อไปให้ถึง..ที่จุดหมาย แบกเอาความหวังของใครต่อใคร ลากขึ้นไป-

ก้าวแรกสู่สังเวียนการเป็น Director เริ่มจากกบได้ดูแลโชว์ให้คอนเสิร์ตใหญ่วงลาบานูน ที่สนิทสนม รู้ใจกันเหมือนพี่น้อง จึงไร้ความกดดัน แต่การประชุมนัดแรก ไอเดียของเขาถูกเบรคจากทีมงานด้วยประโยคที่ฝังหัวใจจนวันตาย ว่า “มันไม่เป็นแบบที่พี่คิดหรอก คนดูเค้าไม่คิดลึกขนาดนี้” ก่อนที่ไอเดียความคิดฟุ้งๆ เหล่านั้นจะถูกพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ และสัญชาตญาณการเป็นนักดนตรี จนสามารถแบกหัวสิงโตที่ชื่อว่า Director ปีนขึ้นฟ้าไปอีกขั้น กับงานสเกลระดับประเทศอย่าง G19 Fest

“เราทำสคริปต์มาตลอดชีวิต ทั้งวงบิ๊กแอส บอดี้สแลม เราเชื่อมั่นเพราะเราอยู่บนเวที รู้อากัปกิริยาว่าคนเล่นรู้สึกยังไง คนดูรู้สึกยังไง ความได้เปรียบของตำแหน่งมือกลองคือเรานั่งหลังสุด เห็นภาพรวม เห็นว่าเพลงที่เลือกแม่งเวิร์ค บางทีก็แป้ก หรือการต่อเพลงแล้วคนชอบอารมณ์ความต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด 20 ปี สุดท้ายเราผ่านงานนี้ไปได้ ตอบคำถามตัวเอง ตอบคำถามคนที่ดูถูกเรา และมีแฟนเพลงที่ชอบมัน

จนคอนเสิร์ต G19 วันประชุมศิลปินที่บ้านพี่นิค 19 วงดนตรี มีคนจัดงานมานั่งคุย จำได้ว่าคุยกันนานมากก็ยังสรุปไม่ได้ เราเลยโยนระเบิดลงไปเลยว่า ไอเดียที่คิดกัน…ไม่รอดหรอก เพราะคุณคิดให้ศิลปินทำ แต่ วงร็อกอย่างพวกเรามันมีสัญชาตญาณ ไม่ใช่จิ๊กซอว์ที่จะวางตรงไหนก็ได้ คุณทำแบบนี้กับโชว์บิซอื่นได้ แต่กับเทศกาลดนตรีร็อก..ไม่ได้ แล้ววงแตกเลย (หัวเราะ) สุดท้ายเป็นเราต้องทำ ประมาณว่า มึงแน่นัก..ลองมาทำเลย ตอนนั้นเรารู้สึกมันใหญ่ไป ทำไม่ได้ การไปคุยกับศิลปิน 19 เบอร์ ตายห่าแน่ งานนี้แม่งต้องใช้คนที่ศิลปินเชื่อมั่น แล้วเราเป็นใครวะ?”

-ใครจะรู้ ลึก ลึก ฉันคิดถึงอะไร บ่าของฉันมันแบกอะไร ยิ่งสูงก็ยิ่งสั่น ยิ่งสูงก็ยิ่งหวั่นหัวใจ-

ชิบหายแล้ว! เสียงอุทานในใจของ กบ BIG ASS ที่ไม่ต่างจากเสียงแห่งความหวาดกลัวของเด็กน้อยที่ต้องแบกหัวสิงโตปีนขึ้นยอดสูงเสียดฟ้า เมื่อกบต้องรับบทบาทหัวใจสำคัญในคอนเสิร์ต G19 ต้องเจอกับอุปสรรคที่ละเอียดอ่อนทางความรู้สึก ด้วยการรับมือกับความฝันของวงดนตรี 19 วง ทั้งยังเจอตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมวง จนการทำงานต้องแลกมาด้วยน้ำตา แต่ท้ายที่สุด..ทั้งกบและเด็กน้อยคนนั้น ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเสี่ยงปีนขึ้นไปอยู่ดี

“ความเป็นนักดนตรี เป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง อย่างแรกคือ ห้ามไปสั่งเค้า เราไม่ชอบอะไรอย่าทำแบบนั้น มองวงให้ออกว่าเค้าเป็นใคร แต่ละวงมันมีที่ทาง มีตำแหน่งของมัน วงนี้ถนัดเป็นกองหน้า วงนี้เป็นกองกลาง จะจัดวางยังไงให้เค้าแฮปปี้ที่จะเล่นตรงนี้ นี่คือความท้าทาย

แต่ความจริงมันไม่ราบรื่น มี 2-3 วงที่ถึงขั้นงัดกันเลย ไม่ได้ปะทะตรงๆ แต่มันงัดทางความรู้สึก แน่นอนไม่มีใครได้ตามต้องการ 100% ทุกคนอยากเล่นตรงไพรม์ไทม์ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของคอนเสิร์ต เราทำให้ทุกวงพอใจไม่ได้ ต้องยอมกัดฟันมองภาพรวม สุดท้ายเราไม่ได้ทำร้ายเค้า เราไม่ได้เอาวงไปวางตรงนั้นแล้วฆ่าเค้า 19 วงคือ ตัวโดมิโน่ ที่ส่งต่อกัน ตัวแรกจะผลักไปหาตัวสอง ตัวสองจะผลักและส่งพลังต่อไปเรื่อยๆ และอย่าหวังจะเอาบอดี้สแลมเล่นปิด กูเอาไว้ตรงกลางเลย (หัวเราะ) แต่เรามีวิธีอธิบายของเรา เหมือนการเสิร์ฟอาหารทีละจาน จานนี้อาจจะขม แต่มันจะส่งรสชาติที่ทำให้จานต่อไปหวานขึ้น เราเชื่อว่าพอเค้าเห็นภาพสุดท้ายแล้ว คงเห็นว่ามันไม่ขี้เหร่จนเกินไป งานนี้ร้องไห้ไป 2-3 รอบ (หัวเราะ) ไม่ไหว กดดันมาก ทุกคนมีความต้องการ ถ้ามันออกมาพังคือเราคนเดียว

แม้กระทั่งวงตัวเอง ร้องไห้หนักสุด เพื่อนถาม เฮ้ย..ทำไมวงเราเปิดวะ ทำไมไม่เลือกเวลาดีๆ ทุกคนมองว่าคือการเสียสละ จริงๆ ไม่ใช่เลย สคริปต์ที่กูทำมันคือหนังเรื่องหนึ่ง มันคือ Saving Private Ryan ที่ 15 นาทีแรกแม่งยิงกันเละ หลังจากนั้นค่อยผ่อน เพราะนี่คือคอนเสิร์ตร็อก จะทำยังไงให้ให้คนเข้าไปในงานรู้สึกว่าแม่งร็อกจริง ไปไล่ระดับเบาๆ ขึ้นไปคนจะไม่เชื่อ การจะเปิดให้คนเชื่อ..มันมีไม่กี่วง โห..มึงเอาบิ๊กแอสเปิด กูเดาไม่ได้ละว่าต่อไปจะวงอะไร เราตั้งใจทำให้คนไม่กล้าไปเข้าห้องน้ำ เพราะกลัวว่าจะพลาดวงต่อไป เรามองว่านี่คือเท่และขลังสุดสำหรับบิ๊กแอสแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่คิดแบบนั้น”

 

-แรงแค่นี้ หัวใจเท่านั้นที่ยังไหว มันคือสิ่งนี้ที่เลือกมาแล้ว..ก็ต้องไป-

จากความสำเร็จคอนเสิร์ต G19 กบได้รับประสบการณ์ คำสอนที่ล้ำค่า และค้นพบว่าหัวใจของการเป็น Director ในแบบของเขา คือการผลักดันวงดนตรีเหล่านั้นให้เดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง รวมไปถึงภาพสะท้อนกลับมาถึงชีวิตนักดนตรีของตัวเอง ที่หันกลับมามองผู้คนข้างหลัง เคารพต่อทีมงานที่ส่งพวกเขาขึ้นไป โดยที่แสงไฟไม่เคยส่องถึงตัวเอง เสียงหัวใจที่เปลี่ยนจาก ชิบหายแล้ว! กลายเป็น เอาวะ! ทำให้ก้าวแห่งการปีนขึ้นยอดมั่นคงขึ้น โดยการซ้ำรอยความสำเร็จอีกครั้งกับคอนเสิร์ต Bodyslam Fest

“Bodyslam เป็นวงที่แฝงอะไรในตัวงานเยอะ คอนเสิร์ตนี้จะเบาบาง เอาแต่สนุกไม่ได้ เดินออกจากงานคนต้องรู้สึกว่า บอดี้สแลมยังเจ๋งอยู่ จนเกิดการดีไซน์เวที ก่อนจะเป็นสัญลักษณ์อินฟินิตี้ ทาง Duck Unit บอกว่าเค้าคิดเวทีไม่ออก ถ้าไม่รู้สคริปต์ แต่บอดี้สแลมไม่เคยทำสคริปต์ล่วงหน้า 3-4 เดือนก่อนคอนเสิร์ต เราเลยทำเป็นลายแทงคร่าวๆ นึกเป็นสัญลักษณ์ว่า ถ้าคอนเสิร์ตมี 6-7 ช่วง จะมีสัญลักษณ์อะไรบ้าง

ช่วงแรกเป็นเครื่องหมายคำถาม “?” เพลงที่จะอยู่ในโหมดนี้อย่าง Who we are เพื่อตั้งคำถามว่าชีวิตคืออะไร ต่อไปคือเครื่องหมายเดินหน้า “>” หลังตั้งคำถาม เราก็เริ่มเดินหน้าหาความหมาย เป็นเพลงพวก เรือเล็กควรออกจากฝั่ง ต่อไปคือเครื่องหมายถูก อ้อ..ที่เราเดินหน้ามามันถูกทางนี่หว่า ก็คือช่วงเพลงร่าเริงของชีวิต ช่วงที่สี่เป็นเครื่องหมายตกใจ “!” เป็นช่วงที่เพลงค่อนข้างแรง ดำมืด พอตกใจ เราพบว่าทางเดินนี้มันผิด มันไม่ใช่ ก็เป็นเครื่องหมายผิด จะเป็นเพลงเศร้า เพลงผิดหวังในชีวิต

ต่อมาเราผ่านทุกข้อต่อจนพบว่าชีวิตคืออะไร ก็คือเครื่องหมายเท่ากับ “=” ชีวิตที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งไอ้เท่ากับมันคือการเข้าใจว่า ชีวิตคือไม่เท่ากับ มันคือสัญลักษณ์ของดัมมะชาติ พอเราเข้าใจว่าชีวิตมันคือการไม่เท่ากับ ไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป สุดท้าย ชีวิตคือการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด เลยปิดด้วยอินฟิตี้ เรารู้สึกมันมีอารมณ์ มันมีความหมาย มันมีสัญลักษณ์ เราเลยเอาไอเดียนี้ไปเสนอตูน กับคนทำเวที เลยออกมาเป็นเวทีอินฟินิตี้ ทั้งหมดมันคือคอนเซ็ป คนดูอาจจะถามว่าคืออะไร ไม่เก็ท แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง แต่แค่คนทำรู้สึกว่าทำอะไร และมุ่งไปหาอะไร มันจะไม่ออกมาเละ ทุกอย่างตอบคำถามได้หมด

สำหรับเรา หัวใจหลักของ Director คือการตอบความรู้สึก ตอบความต้องการของทั้งคนดูและคนเล่น พูดแบบนี้อาจจะเหิมเกริม แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นที่เราหวังมากๆ คือ เราอยากจะพาวงเจ้าของคอนเสิร์ตขยับไปอีกหนึ่งก้าว หรือครึ่งก้าวเป็นอย่างน้อย ออกจากที่ตัวเองอยู่ ไม่เล่นแบบเดิมๆ ไม่ใช่สูงขึ้น แต่เป็นการเดินหน้า ในแง่ทัศนคติ การยอมรับ และความเชื่อในตัวเอง เราไม่ได้ทำคอนเสิร์ตแล้วจบไป มันคือการแนะนำตัวว่าศิลปินนี้เป็นใคร จะต่อยอดไปหาอะไรอีก ทำไมมีซีนยากๆ เกิดขึ้น ซีนดูไม่รู้เรื่อง ถ้ามันแลกกับการพาวงดนตรีนี้เดินหน้า เรายอมแลก คนดูอาจจะรู้สึก ซีนนี้เจ๋งว่ะ..แต่ดูไม่รู้เรื่องเลย เพลงอะไรก็ไม่รู้ แต่ทำไมกลับบ้านเรายังจำซีนนั้นอยู่เลย นั่นคือเราได้ฝังทัศนคติบางอย่างลงไปหัวใจคนดู แต่ความโชคดีของเราคือแต่ละวงมีของอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยเราอยากชวนเดินไปอีกก้าว ได้ท้าทายวง

งานนี้ไม่เหมือนเขียนเพลงกับทีม 3-4 คน เล่นดนตรีกับเพื่อนที่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่มันเป็นงานที่เราต้องทำงานกับคนเป็นหลักร้อยเป็นพัน มันต้องใจเค้าใจเรา ประนีประนอมมากขึ้น มองคนรอบข้าง ลดอีโก้ และสะท้อนกลับมายังชีวิตนักดนตรีของตัวเองมากขึ้น มึงรู้มั้ยว่าตอนอยู่บนเวที มีคนข้างหลังมากมายที่ส่งเราขึ้นไปอยู่บนนั้น เพื่อทำซีนนี้ให้มึง มึงจะมั่วๆ เมาๆ ขึ้นมาเล่นไม่ได้ สิ่งที่ศิลปินพูดออกมามันคือคำสั่งกลายๆ ซีนนี้ผมอยากมีคนเดินไปปล่อยลูกโป่งตรงด้านบนสุดของราชมัง มึงรู้มั้ยว่าเค้าต้องลากลูกโป่งกี่ร้อยลูกขึ้นไป แค่เดินตัวเปล่าก็เหนื่อยแล้ว หรือตั้งเวทีซาวด์เช็คบ่ายๆ ทุกคนจะร้อนมั้ย ทุกอย่างมีคนรับผิดชอบ มีความหมาย มีคนเหนื่อยหมด คนที่อยู่บนนั่งร้านสูงๆ ไม่ได้นอนอีกเท่าไหร่ เวทีนี้ขึ้นไปต้องเคารพคนเหล่านี้”

-ปีน..ขึ้นฟ้าเพื่อไปจนถึงที่จุดหมาย ไม่มีสิทธิ์ท้อหัวใจจะขอเชิดต่อไป-

จุดสูงสุดบนยอดท่ามกลางเสียงเชียร์ เด็กน้อยคนนั้นเชิดหัวสิงโตอย่างสง่าผ่าเผย หัวใจพองโต ผู้คนรายล้อมปรบมือชื่นชม ไม่ต่างจากภาพความสำเร็จของคอนเสิร์ตที่ในฐานะ Director จะมองเห็น ทุกไอเดียจากแผ่นกระดาษถูกต่อเติม ประกอบเป็นภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นจริง แฟนเพลงที่สนุกกับโชว์ ศิลปินที่มีความสุขกับดนตรีที่ตัวเองเล่น กบ เล่าถึงความรู้สึกเมื่อเห็นภาพที่สวยที่สุดเมื่อเขาปีนถึงยอด

“เราเพิ่งเก็ทกับคำว่า “หลงเสน่ห์การทำคอนเสิร์ต” ตอนเป็นคนเล่นมันก็มีความสุข มีคนร้องเพลงของเรา นึกว่าคงได้รับอะไรคล้ายๆ กัน แต่กลายเป็นว่าคนละเรื่องเลย ได้เห็นคนเก็ทกับสิ่งที่เราคิด อ้าว..ซีนนี้เงียบกริบเลยว่ะ (หัวเราะ) เข้าใจแล้วว่าทำไมคนอยากเป็นผู้กำกับ มันไม่ใช่ความอยากเท่เลย แต่มันฟิน กับการนั่งมอง อ๋อ…เวทีนี้มันมาจากที่เราคิดแบบนี้ มีส่วนร่วมคิดแบบนี้ ซีนนี้เป็นมายังไง มันอิ่มเอม เหมือนนั่งดูประติมากรรมขนาดใหญ่ที่เราไม่นึกว่าจะเกิดขึ้นได้”

ก่อนจบบทสนทนา กบทิ้งท้ายว่า ยอดที่ปีนมาถึง อาจยังไม่ใช่จุดที่สูงที่สุด ขณะเดียวกันจุดๆ นั้นอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ เพราะเขายังไม่เคยก้าวพลาดแล้วตกลงมา

“เรายังไม่เจอความแป้ก เหมือนกับแต่งเพลง แรกๆ ก็โดน แต่พอเริ่มวืด หนังชีวิตจริงแม่งมาละ (หัวเราะ) ถ้าคอนเสิร์ตมันวืดอีกดอกสองดอก คงไม่มีใครให้ทำแล้วล่ะ (หัวเราะ) ช่วงเพลงวืดแรกๆ จ๋อยเลย ไหนจะเพลงไม่ผ่าน เมื่อก่อนเราเคยเหลิงกับความสำเร็จ แต่งเพลงดัง รู้สึกตัวเองแม่งแจ๋ว แต่พอส่งเพลงไม่ผ่านเลย มันเหมือนตบหน้ากลับมาหาความเป็นจริง ซึ่งมันสอนเราว่า อย่าไปกร่าง อย่าไปเคลมอะไรเยอะ อย่าพูดอะไรที่มึงไม่ได้ทำ นี่คือภูมิคุ้มกันของเรา แต่อันไหนที่เราทำ พูดให้ชัดๆ อย่าไปเขียมอาย เพราะมันคือความจริง

ถ้าคอนเสิร์ตต่อไปมันแป้กขึ้นมา ซึ่งเราอยากให้มันแป้กบ้าง แต่พูดไปเดี๋ยวจะไม่มีวงไหนให้ทำ (หัวเราะ) เพราะถ้าสำเร็จตลอด เราจะไม่ได้เรียนรู้ คนส่วนใหญ่จะผิดมาก่อนแล้วค่อยถูก แต่เราเริ่มมามันเหมือนจะถูกไปเรื่อยๆ แบบนี้อันตราย เพราะเราจะไม่รู้ว่าแบบไหนคือผิด นี่คือสิ่งที่เรากลัว แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยอมให้ผิดไม่ได้ สิ่งเดียวคือเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้มากที่สุดในช่วงเวลาจำกัด ทำการบ้านเยอะๆ ไปดูคอนเสิร์ต ไปเฟสติวัล ทำตัวให้โง่ อย่าคิดว่าตัวเองฉลาด เพราะมีคนรอซ้ำอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีความสุข เราก็ไม่อยากทำ เพราะมันไม่ใช่อาชีพในฝัน สุดท้ายเราก็อยู่กับวงบิ๊กแอส ที่เราบอกได้คือ ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่อย่าปิดกั้นความรู้ อย่าปิดกั้นและดูถูกตัวเอง”