อ้อมกอดเเห่งขุนเขา “คีรีวง” เปลี่ยนเเปลง-ปรับตัว รับกระเเสท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

โดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.prachachat.net

อากาศที่นั่นดีจริงไหมดียังไงเป็นคำถามยอดนิยมที่เพื่อนหลายคนส่งมาไถ่ถาม หลังโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกดเลือกสถานที่เช็กอินว่า…“คีรีวง หมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในไทย”

นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย…มาที่นี่เพื่อพิสูจน์ประโยคดึงดูดนั้น ยุคนี้ใครๆก็ต่างถวิลหาอากาศดีๆ ที่หาได้ยากในเมืองใหญ่สุดเเออัดกันทั้งนั้น ประกอบกับคำโปรโมททันสมัยอย่าง “สโลวไลฟ์” ก็ยิ่งทำให้อยากมาใช้ชีวิตวันหยุดที่นี่  เเค่วันสองวันก็ยังดี

“คีรีวง” หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาตำบลกำโลน อำเภอลานสภา เมืองอารยธรรมภาคใต้อย่างนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในชุมชนเก่าเเก่ที่อาศัยอยู่เชิงเขาหลวง ยอดเขาสูงสุดของภาคใต้ ณ ระดับความสูง 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล

โดยย้อนไปเมื่อปี 2531 คีรีวงต้องเผชิญความวิปโยคครั้งใหญ่ น้ำป่าจากเทือกเขาหลวงพัดเอาสารพัดสิ่งถาโถมเข้าถล่มหมู่บ้าน ผู้คนสูญหายไปกับสายน้ำ

ผ่านมาหลายทศวรรษ หมู่บ้านคีรีวงได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เคยได้รับรางวัลต้นเเบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เเละรางวัลยอดเยี่ยมด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางเข้ามาตามหา “อากาศบริสุทธิ์”

อากาศดีในที่นี้ จะเย็นจะร้อนก็คงขึ้นอยู่กับความชอบเเต่ละบุคคล เเต่ถ้าหมายถึงปริมาณสิ่งเเปลกปลอมอากาศที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับระดับมาตรฐาน โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากสำนักงานจัดการคุณภาพอากาศเเละเสียง กรมควบคุมมลพิษ ปี 2552 ก็คงต้องยกให้ที่นี่

เเต่นั้นก็นำมาสู่ความสงสัย…เเล้ววันนี้ คีรีวงเป็นเช่นไร  ยังอากาศดีอยู่หรือเปล่า มีปัญหา “ขยะล้น” ตามเเหล่งท่องเที่ยวมีบ้างไหม ชุมชนมีเเผนจัดการเเละพัฒนาต่อไปอย่างไร

เป็นเรื่องเเน่นอนว่า เมื่อเป็นเเหล่งท่องเที่ยว “เต็มรูปแบบ” วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ชาวบ้านมีอาชีพการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น ไกด์เดินป่า โฮมสเตย์ ร้านค้าร้านอาหาร ทำผ้ามัดย้อม แปรรูปสมุนไพร รวมถึงสร้างสรรค์สินค้าโอท็อปเเละของที่ระลึก

ขณะเดียวกันยังคงอาชีพหลักอย่างการทำเกษตรกรรม ปลูกสวนผลไม้แบบผสมผสานหลายอย่าง หรือที่เรียกกันว่า “สวนสมรม” คือ ในแต่ละสวนจะมีปลูกทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน และที่ขาดไม่ได้ คือ สะตอ ส่วนที่ขึ้นชื่อฮือฮาที่สุด คือ “มังคุดคีรีวง” มีวางขายตามห้างหรูในเมืองหลวง

การท่องเที่ยวชุมชน กลายเป็นตัวชูโรงเด็ดของการมาเยือนที่นี่ นอกเหนือจากการนั่งมองสายน้ำเเละขุนเขาที่โอบล้อมเเบบวงสมชื่อ ซึ่งเป็นฉากหลังสวยงามบน “สะพานข้ามคลองท่าดี” จุดเเลนมาร์กยอดฮิต

โดยนักท่องเที่ยวชื่นชอบจะ “เช่าจักรยาน” ปั่นท่องไปตามจุดชมวิวสวยงาม เเวะเก็บภาพสวยๆ ชิมของร้านอร่อย เเละพูดคุยกับชาวบ้านตามกลุ่มงานฝีมือต่างๆ เก็บของฝากติดไม้ติดมือเบาๆ เเอบกระซิบว่า “สบู่มังคุด” ของดีราคาถูก ลองใช้เเล้วชอบมาก

โดยหมู่บ้านคีรีวง มีการพัฒนาเป็นชุมชนเข้มเเข็ง เริ่มต้นด้วยความกระตือรือร้นของชาวบ้านเอง และมาจากความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเเบ่งเป็น กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ , กลุ่มแม่บ้านทุเรียนกวนบ้านคีรีวง , กลุ่มใบไม้ , กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน , กลุ่มบ้านสมุนไพร ,กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคีรีวง , กลุ่มลายเทียนบาติกสีธรรมชาติ , โฮมสเตย์ท่องเที่ยว , กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ชุมชนเเละกลุ่มอาชีพสวนผลไม้ชุมชนคีรีวง

“ยุงยุทธ กระจ่างโลก” ประธานชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านคีรีวง บอกถึงความร่วมมือพัฒนาชุมชนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการประชุม การรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเเละยังคงต้องทำต่อไป ส่วนในเรื่องของการบริหารจัดการเพื่อรับการท่องเที่ยวนั้น กำลังจะจัดทำเเผนชุมชนที่จะเสนอให้จังหวัดในปี 2561 นี้ เพื่อให้เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมเเละแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้น ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมายาวหลายปี

“ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่นสงกรานต์เเละปีใหม่ คนจะเยอะเป็นพิเศษ เกิดปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ รถติดจราจรเเออัด มีห้องน้ำไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาขยะ ต้องเพิ่มกล้องวงจรปิดให้มากขึ้น เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว คนในพื้นที่เเละภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อรักษาเเละพัฒนาคีรีวงไปพร้อมๆกัน”

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างการเรียนรู้ในชุมชน ปลูกฝังให้มีความรักท้องถิ่น เช่นเปิดให้มีการพูดคุยระหว่างคนต่างวัย ให้เยาวชนได้คำนึงถึงความสำคัญของบ้านเกิด เเละการให้ความรู้-ข่าวสารผ่านเสียงตามสาย เป็นต้น

“ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชนนั้น จำเป็นต้องจัดให้มีการอบรม โดยเน้นความร่วมมือร่วมใจ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสร้างพลัง อีกส่วนจะมีนักวิชาการมาให้ความรู้ด้านการพัฒนาโปรดักส์ เเละมาช่วยกันสร้างจุดเด่นของเเต่ละสินค้า โดยเน้นวัตถุดิบจากชุมชน ขณะเดียวกันด้านการท่องเที่ยวก็จะสนับสนุนให้วัยรุ่นในชุมชน มาให้บริการนำเที่ยวหรือพาขึ้นเขา ให้พวกเขามีรายได้จากที่บ้าน ไม่ต้องย้ายเข้าไปในเมือง”

เมื่อถามถึงไฮไลต์ธรรมชาติสุดเด็ดของคีรีวงนั้นคือที่ไหน คุณยงยุทธ ตอบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาพักเฉพาะบริเวณด้านล่างเท่านั้น หากมีเวลาเเละต้องการสัมผัสธรรมชาติเเละอากาศบริสุทธิ์ที่เดินขึ้นบนเขา ซึ่งด้วยเขาสูงชันของขุนเขา นักท่องเที่ยวไม่ชำนาญทางไม่ควรขึ้นไปเพียงลำพัง โดยต้องมีชาวบ้านนำทางไปด้วย

 

ส่วนปัญหาเร่งด่วนของชุมชน นั่นคือ “ขยะ” ซึ่งตามมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว  โดยกำลังประสานกับรัฐเพื่อหาเเนวทางจัดการขยะเเละจัดการท่องเที่ยวให้เป็นระบบมากขึ้น

“อากาศบรรจุกระป๋องขาย ที่เห็นขายกันเยอะเเยะ ไม่ได้มาจากชาวบ้านหรอก เป็นของคนที่อื่นทั้งนั้น …” คุณป้าในชมรมผ้ามัดย้อมกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

หมู่บ้านเล็กๆ ที่น่าอบอุ่นนี้ จะปรับรับการท่องเที่ยวที่ “เฟื่องฟู” ขึ้นมาได้ในทิศทางใด ก็คงขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากผู้อยู่ ผู้มาเยือนเเละภาครัฐ  เพราะการรักษาสถานะ “หมู่บ้านอากาศดีที่สุดในไทย” นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ …