เปิดโลก “นิยายเกมออนไลน์” กระแสใต้น้ำที่รอวันคืนชีพ และ “นักเขียนไทย” ไส้แห้งจริงหรือ?

เรื่องโดย รณิดา บริบูรณ์ภัทรกุล

“นิยายเกมออนไลน์” หนึ่งในแขนงนิยายแฟนตาซี ที่มีการเล่าเรื่องราวคู่ขนานระหว่างโลกจริงและโลกในเกมซึ่งสามารถแต่งเติมจินตนาการได้ไม่จำกัด โดยทั่วไป นิยายประเภทนี้จะเล่าผ่านการเข้าเล่นเกมของตัวละครเอกด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งส่วนที่เข้าไปโลดเล่นเป็นเพียงจิตและคลื่นสมอง เนื่องจากร่างกายยังคงนอนอยู่ในเครื่องเล่นเกมบนโลกจริงในอนาคตที่จะมีขึ้น

ปัจจุบัน ความนิยมของนิยายแฟนตาซียังคงขายได้เรื่อยๆ รองจากนิยายรักหวานจี๊ดชวนจิ้นที่เป็นมือหนึ่งในวงการนิยาย ด้วยฐานผู้อ่านที่กว้างตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนแก่ ทั้งยังมีความคลาสสิกของพล็อตเรื่องที่ไม่แตกต่างกันทุกยุคทุกสมัย ขณะที่นิยายแฟนตาซีมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกระแสพล็อตฮิตตามกาลเวลา ซึ่ง ณ เวลานี้เป็นเทรนด์ “นิยายสลับร่าง/นิยายย้อนยุค” หากแต่ย้อนกลับไปประมาณ 5 ปีก่อนจำต้องยกตำแหน่งให้ “นิยายเกมออนไลน์” และหากย้อนกลับไปถึง 10 ปีก่อนจะเป็นยุคทองของ “นิยายโรงเรียนเวทมนต์”

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ได้พูดคุยกับ Persona นักเขียนนิยายเกมออนไลน์ชื่อดัง “Monster soul online” ที่ฮิตและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปี 54-55 ที่เรียกได้ว่า เป็นยุคเฟื่องฟูของนิยายเกมออนไลน์ ปัจจุบัน เจ้าตัวยังคงเขียนนิยายอย่างต่อเนื่องบนเว็บไซต์เด็กดี ถึงกระแสความนิยม และแนวโน้มว่า นิยายเกมออนไลน์ จะ “รอด” หรือ”ร่วง” มีโอกาสคืนชีพความนิยมในแวดวงนิยายอีกหรือไม่ และอาชีพ “นักเขียน” ที่ใครก็มองว่า “ไส้แห้ง” จริงหรือไม่?

นิยายเกมออนไลน์ยังอยู่ในวัฏจักร-ต้องสร้างสรรค์ถึงรอด ผู้อ่านจะเป็นคนกรองคุณภาพ

ย้อนกลับไปยุคเฟื่องฟู Persona มองว่า ตั้งแต่นิยายเกมออนไลน์เริ่มฮิต ใครๆ ก็หันมาเอาดีด้านการเขียนนิยายแนวนี้ จนเริ่มมีเกลื่อนตลาด ในทางบวกคือการสร้างตัวเลือกให้คนอ่านมากขึ้น ขณะเดียวกันมองว่า ความหลากหลายนี้กลับปะปนด้วยนิยายด้อยคุณภาพอยู่มาก แต่ผู้อ่านจะเป็นผู้คัดกรองเรื่องที่มีคุณภาพเอง ส่วนโอกาสในการพัฒนา ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนสำคัญ

“กระแสนิยายเกมออนไลน์มันวนมาเวียนไป ก่อนหน้านั้นฮิตนิยายแนวโรงเรียนเวทมนต์ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับกระแส Harry Potter กำลังมา ส่วนปัจจุบันกระแสไปที่นิยายข้ามมิติและย้ายร่าง จริงๆ แล้วนิยายเกมออนไลน์ก็ยังอยู่ในตลาด เพียงแต่มันไม่ใช่กระแสหลัก มันเป็นไปตามวัฏจักรที่ว่าช่วงไหนฮิตอะไรก็จะมีเรื่องแนวนั้นเกลื่อนตลาด”

“มันมีเส้นบางๆ ระหว่างการลอกกับแรงบันดาลใจ ปัจจุบันมีมือใหม่เยอะ หากเขาลอกคนอื่นมา ณ จุดหนึ่งเขาจะหมดมุขแล้วเนื้อเรื่องจะดร็อปลง ซึ่งคนอ่านจะรู้และกรองเขาเอง แต่หากได้รับแรงบันดาลใจโดยมีแก่นของตัวเอง พร้อมทั้งใส่ความคิดใหม่ๆ ลงไป จะทำให้วงการนี้อยู่ได้”

 

“นิยายแฟนตาซี” เขียนง่ายไร้กรอบกฏเกณฑ์ เจาะใจเข้าถึงผู้อ่านง่าย

สำหรับตลาดนิยายทั่วไป นักเขียนผู้คร่ำหวอดในวงการมายาวนานมองว่า นิยายแฟนตาซีเป็นแนวทางที่ง่ายในการเขียนและง่ายในการเจาะใจผู้อ่าน เนื่องจากนิยายแฟนตาซีไร้กรอบกฏเกณฑ์ ทำให้คนอ่านรู้สึกได้ปลดปล่อยและโลดแล่นไปกับตัวละครในโลกเสมือน

หากเทียบเคียงกับนวนิยายรักซึ่งอยู่คู่ตลาดนิยายมาอย่างยาวนานและมีฐานคนอ่านที่กว้างตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ นิยายรักนับว่าง่ายกว่ามากเนื่องจากพล็อตหลักๆ มีอยู่เพียงไม่กี่พล็อต เพียงแต่เปลี่ยนฉาก สถานที่ ฯลฯ ก็จะเป็นนิยายเรื่องใหม่ทันที

ตีพิมพ์ขาย-ปล่อยอ่านออนไลน์ฟรี การตลาดที่ได้ทั้งคนอ่าน และสร้างแบรนด์สำนักพิมพ์

นิยายแนวเกมออนไลน์ยังคงวนเวียนในตลาดนิยายอ่านฟรีบน “Dek-D” เว็บไซต์ที่เป็นสังเวียนให้นักเขียนมือใหม่มาฝึก และอวดฝีมือแก่นักอ่านอยู่เสมอ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการเจาะกลุ่มนักอ่านรุ่นเยาว์ไปจนถึงกลุ่มวัยทำงานช่วงต้นเป็นหลัก โดยเมื่อนิยายเรื่องใดเกิดเป็นที่นิยมขึ้นมาถึงขั้นได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว สิ่งที่มักตามมาพร้อมๆ กัน คือเงื่อนไขจากสำนักพิมพ์ที่ให้ปิดเนื้อหาบนออนไลน์ที่เคยให้อ่านฟรี เพื่อไม่ให้กระทบต่อยอดขายรูปเล่ม แต่สำหรับ Monster soul online นั้นแตกต่างออกไป

“ในตอนนั้นที่ทางสำนักพิมพ์สยาม อินเตอร์ฯ ต้องการเปิดตลาดนิยายเกมออนไลน์ใหม่ๆ เขาจึงกวาดนักเขียนดังๆ มาตีพิมพ์ โดยไม่ได้มีข้อห้ามในการเปิดอ่านฟรีบนเว็บไซต์เด็กดีแต่อย่างใด เพราะว่าเป็นการตลาดอย่างหนึ่งของเขาที่เชื่อว่าเรียกให้คนเข้ามาอ่านและรู้จักสำนักพิมพ์ ซึ่งตรงนี้เองผมก็พอใจด้วย”

ผู้ให้กำเนิด Monster soul online แสดงมุมมองส่วนตัวต่อการเปิดนิยายให้อ่านฟรี แม้จะมีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วก็ตามว่า ตนเคยเป็นเด็กมาก่อนจึงเข้าใจว่าเด็กยังไม่มีรายได้ หนังสือราคาเล่มละ 200 บาทจึงอาจเป็นราคาที่หนักไปเมื่อซื้อหลายเล่ม ทั้งนี้ เชื่อว่าหากผู้อ่านติดใจเนื้อเรื่องจริงๆ จะยินดีจ่ายเพื่อซื้อเป็นเล่มโดยที่ไม่เสียดายเงินที่จ่ายไป

เช่นเดียวกับ Great polar bear ผู้เขียนเรื่อง “Pangea online” มองว่า การเปิดให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์เด็กดี ถือเป็นการสนับสนุนทางอ้อม ซึ่งแม้จะมีผลกระทบด้านยอดขายรูปเล่ม แต่เชื่อมั่นเช่นเดียวกับ Persona ว่าคนอ่านที่ชอบนิยายเรื่องนั้นๆ มากจะซื้อเก็บเป็นเล่มในที่สุด

“ผมเกิดมาจากการเปิดให้อ่านฟรี คนที่ซื้อหนังสือคือกลุ่มที่อยากเก็บเป็นเล่ม เมื่อเขาอ่านแล้วชอบเขาจึงช่วยสนับสนุนเล่ม เป็นการเปิดให้แฟนคลับใหม่ๆ เข้ามาอ่าน และคิดว่าคนยังชอบเปิดอ่านเป็นเล่ม ซึ่งอนาคตจะเป็นอย่างไรผมก็ไม่แน่ คิดว่าก็คงจะมีบ้างที่กระทบยอดขายนิยายเล่ม แต่ในอีกแง่คิดว่าคนเขาช่วยสนับสนุนเรา เขาช่วยอ่านทำให้เรามีแฟนคลับเพิ่มขึ้นมากขึ้น ถือว่าช่วยให้คึกคักขึ้น”

Feedback คนอ่านไม่ใช่แค่การตลาด แต่คือกำลังใจสำคัญ

นอกเหนือจากที่ผู้เขียนไม่ได้มองรายได้เป็นหลักแล้ว ยังบอกด้วยว่าข้อดีของการเปิดให้นักอ่านเข้ามาอ่านฟรีจะทำให้นักเขียนได้รับ Feedback จากผู้อ่าน ซึ่งนับเป็นกำลังใจที่แสนสำคัญ มีส่วนช่วยให้ผู้เขียนฮึกเหิมในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ทั้งยังเป็นครูคอยชี้ทางให้เมื่อผิดพลาด

“นักเขียนแนวปัจุบนมีสิ่งที่เป็นกำลังใจคือ Feedback ของคนอ่าน พอเราอ่าน Feedback ว่าเขาอยากอ่านต่อ เราจะอยากเขียนต่อเช่นกัน หากเป็นยุคก่อนที่ยังไม่มีออนไลน์ก็จะต้องรอนาน ต่างจากตอนนี้ซึ่งเรียกได้ว่าออนไลน์เป็นข้อดีในการรับ Feedback แต่ต้องบอกว่านักเขียนต้องมีจุดยืน เวลาผู้อ่านตอบกลับมา เช่น ไม่ชอบตรงนั้นตรงนี้ เราต้องไม่เปลี่ยนตามเขา ต้องรักษาแก่นเดิมของเราไว้ เว้นแต่บางครั้งที่ผู้อ่านชี้จุดให้เราเก็บมาคิด แต่ผู้อ่านจะต้องไม่ใช่อิทธิพลที่มาเปลี่ยนแปลงนิยายของเรา”

นักเขียนไทยไส้แห้ง-รายได้แค่ 10% จากราคาปก

Persona เผยว่าเคยคิดอยากเป็นนักเขียนอาชีพ แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวทางครอบครัวที่ไม่เหมาะจะผันตัวมาทำงานเป็นนักเขียนอาชีพ ที่ดูจะมั่นคงก็มั่นคง แต่ดูจะไม่มั่นคงก็ไม่มั่นคงเหมือนกัน โดยส่วนแบ่งรายได้ที่สำนักพิมพ์แบ่งให้กับนักเขียนหลังจากการจดลิขสิทธิ์สัญญาตามระยะเวลาที่ตกลงกันนั้น เจ้าตัวเผยว่า มี 2 แบบ ได้แก่ การขอลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นิยายในระยะเวลาที่กำหนดแลกกับเงินก้อนให้นักเขียน และการขอลิขสิทธิ์ตีพิมพ์นิยายในระยะเวลาที่กำหนดแลกกับเปอร์เซ็นต์ยอดขายแบบผูกเล่มหรือเรื่อง(ที่มีหลายเล่ม)

“ตอนนั้นมี 3 สำนักพิมพ์มาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ Monster soul online จากผม ซึ่งผมเลือกตามเงื่อนไขที่ผมสบายใจ โดยภาคแรกตีพิมพ์กับสยามอินเตอร์บุ๊กส์ จำนวน 3,000 เล่ม ได้ประมาณ 8% จากราคาปกโดยคิดทั้งจำนวนพิมพ์ และผูกสัญญาทั้งเรื่องเป็นเวลา 5 ปี”

และหากเป็นนักเขียนชื่อดังที่มีผลงานสม่ำเสมอ จะมีเงื่อนไขอีกประเภทคือผูกพันสัญญาแบบปีต่อปี โดยสำนักพิมพ์จะกำหนดให้นักเขียนคลอดนิยายจำนวนกี่เล่มต่อปีตามแต่ตกลงกัน และสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่หรูที่สุดในแวดวงนักเขียนไทยอยู่ที่ประมาณ 10 % ของราคาหนังสือบนปก

ไทย-ต่างประเทศจ่าย % ส่วนแบ่งคนละระบบ หวังรวยแบบ JK.Rowling ไม่ได้

นอกจากนี้ Persona ยังสะท้อนมุมมองสังคมไทยที่มีต่อแวดวงนักเขียน และความจริงที่แตกต่างระหว่างนักเขียนไทยกับนักเขียนต่างชาติ ซึ่งทำให้ย้อนนึกถึงคำพูดที่ว่า “นักเขียนไส้แห้ง” ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

“หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นนักเขียนนี่คงรวยน่าดูอย่าง JK.Rowling แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะที่ไทยกับต่างประเทศใช้ระบบต่างกัน ในไทยหนังสือต่อเล่มมีต้นทุนประมาณ 25% แบ่งให้นักเขียนประมาณ 10% สำนักพิมพ์ได้ประมาณ 20% สายส่งที่เปรียบเสมือนเสือนอนกินได้ถึง 30% ส่วนที่เหลือเป็นส่วนลดทั่วไป ขณะที่ต่างประเทศสำนักพิมพ์และสายส่งซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันจะเก็บ 40% ส่วนอีก 60% เป็นของนักเขียน รวมทั้งลิขสิทธิ์ยังเป็นของนักเขียนอีกด้วย”

แม้แวดวง “นิยายเกมออนไลน์” จะได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีฐานคนอ่านจำนวนมาก จนเกิดเป็นสังคมที่สร้างนักอ่านและนักเขียนหน้าใหม่มากมาย แม้รายได้ค่าตอบแทนไม่สูงเหมือนต่างประเทศ แต่ก็ยังมีนักเขียนหน้าใหม่ก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ สะท้อนว่า สังคมนิยายออนไลน์ ยังคงบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ เพื่อรอคลื่นลูกใหม่ที่มีคุณภาพ มารันวงการ ทั้งในแง่คนอ่าน-นักเขียน และทำให้นิยายแนวนี้ ยังคงโลดแล่นอยู่ในวัฏจักรได้ต่อไป

ขอบคุณภาพจาก Dek-D.com แฟนเพจ Pangea Online, Monster Soul Online