คุยกับ “ดร.สุรพิชย์” ถอดสลักอีคอมเมิร์ซไทย…อยู่ตรงไหนในโลก เเละ”รัฐบาลดิจิทัล”ยังอีกไกล!

ด้วยกระแสผู้บริโภคหันซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2561 มูลค่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทย จะสูงถึง 10 ล้านล้านบาท และในปี 2563 จะมีรายได้เพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนาคารโลก ระบุปี 2568 ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียน จะรวมกันถึง 6,810 ล้านล้านบาท นับเป็นตลาดที่เติบโตเร็วและแรงมาก

การแข่งขันในปัจจุบัน เป็นแรงขับให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เข้ามาสู่ตลาด ต้องขยันสร้างแบรนด์ให้เด่นดังเป็นที่รู้จัก เเต่ผู้ประกอบการที่เก๋าประสบการณ์ก็ต้องไม่ประมาท…การปรับตัวของธุรกิจในยุคดิจิทัล จึงเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าประเทศไทยจะหมุนเปลี่ยนไปในทิศทางใด ?

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” เปิดประเด็นคุยกับ “ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์” ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติการจัดการสากล (Global Business Management) คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงธุรกิจในยุคดิจิทัล การปรับตัว เปลี่ยนความคิด เผชิญความท้าทาย ฝ่าอุปสรรคเเละเเนวทางการพัฒนาธุรกิจไทย

ดร.สุรพิชย์ ฉายภาพให้เห็นว่า โลกกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจาก Globalization (โลกาภิวัฒน์) สู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ การเข้ามาของอี-คอมเมิร์ซจะเปลี่ยนการค้าโลก มีความแตกต่างด้านธุรกิจที่เห็นได้ชัด เช่น ยุคก่อนเวลาจะทำธุรกิจต่างประเทศต้องศึกษาว่าประเทศไหนน่าไปลงทุน ต้องส่งของไปขายก่อน หรือต้องเริ่มจากการเช่าออฟฟิศหรือมีพาร์ทเนอร์เป็นคนท้องถิ่น เป็นเหมือนการ outreach ขยายในเชิงรุก

เเตกต่างกับปัจจุบันในยุคดิจิทัลที่ทุกคนกลายเป็นซีอีโอได้ด้วยสมาร์ทโฟน สามารถติดต่อลูกค้าปลายทางได้ทันที เมื่อโลกไร้พรมแดนแล้ว ถ้าคุณมีคอนเซปต์ดี สร้างแพลตฟอร์มได้ หาดีมานด์-ซัพพลายเจอก็สามารถทำตลาดได้เองเพียงคลิกเดียว

ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์

@ธุรกิจใหม่มาเเรงต้อง “ง่าย-เข้าถึงชีวิต-Change Maker”

แน่นอนว่าธุรกิจแห่งอนาคตที่มาแรงในยุคนี้ต้องเป็น “ธุรกิจดิจิทัล” ที่นำเทคโนโลยีมาเจาะชีวิตประจำวันของคนได้  กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สร้างผลกระจายเป็นวงกว้าง

“ธุรกิจมาแรงในช่วงนี้ ต้องเป็นธุรกิจที่ง่าย และตอบโจทย์ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น mobike เเละ ofo ที่กำลังมาเเรง ก่อนหน้านี้ใครจะคิดว่าธุรกิจเช่าจักรยานจะส่งผลต่อสังคมขนาดนี้  และการจะสร้างธุรกิจในยุคใหม่ได้คุณต้องเป็น Change Maker ที่นอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์แล้ว ต้องคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงไหม แก้ปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน หมายความว่าธุรกิจรอบตัวเราตอนนี้สามารถหยิบยกมาทำเงินได้หมด”

โดยมองว่า กรณีศึกษาที่น่าสนใจในตอนนี้คือ สตาร์ตอัพ “Mobike” ของจีน หลังประกาศจะตีตลาดทั่วโลก เป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้ามากที่จะออกนอกประเทศ เเละอีกบริษัทที่น่าจับตามองคือ “Didi” สตาร์ตอัพรถร่วมของจีนที่จะขึ้นมาเเข่งกับ “Uber”

“โมเดลธุรกิจเเบบ “Sharing Economy” กำลังบอกคนรุ่นใหม่ว่าต่อไปนี้จะทำธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ไม่จำเป็นจะต้องเก่งเทคโนโลยีแบบขั้นสุดก็ได้ เเค่ต้องหาความเป็น change maker ให้เจอ รู้จักเอาปัญหาสังคมมาแก้ ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตคนได้ จากนั้นนำมาเข้าแพลตฟอร์ม กลายเป็นธุรกิจยุคใหม่

@พลิกโอกาสด้วย “Big Data” อนาคต “บิทคอยน์” มาแน่

สำหรับความท้าทายของผู้ประกอบการทำธุรกิจในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องแพลตฟอร์ม เพราะไม่ว่าจะขายรถยนต์ ขายเสื้อผ้า จากความใกล้ชิดของผู้ซื้อ-ผู้ขายที่มีมากขึ้น  โดยแนะนำให้เปลี่ยนปัญหาเหล่านั้นเป็นโอกาสที่จะได้ประโยชน์มหาศาลจาก “Big Data” จับจุดวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าออกมาให้ได้ ซึ่งในอนาคตเรื่องของข้อมูลจะทำให้ผู้ซื้อเสพติด การทำให้ผู้บริโภคคิดว่ามี “ฟีดเเบ็คดี” นั้นส่งผลให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นกว่าเดิม

“ผู้ประกอบการธุรกิจเเบบดั้งเดิม จะลำบากมากขึ้นเมื่อแพลตฟอร์มเข้ามามีบทบาท ร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศเข้ามามากขึ้น แต่คนขายของหน้าร้านยังไม่เข้าใจว่าภัยมาถึงแล้ว ยังคิดว่าต้องนำเข้าอีกแบบ ลดราคาอีกแบบ เหล่านี้เกิดจากการที่เรายังไม่มี know how เป็นของตัวเองเเละเลือกแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ได้คิดให้รอบด้านครบทุกวงจร พอคิดว่าที่ทำอยู่ทุกวันพออยู่ได้ก็จะชะล่าใจ ไม่ได้คิดเเผนว่าถ้าถึงจุดพีคที่โดน disrupt เข้าเต็มๆเเล้วจะลำบาก”

นอกจากนี้  ดร.สุรพิชย์ ระบุว่า ธุรกิจธนาคารเป็นอีกหนึ่งที่จะโดนผลกระทบจากดิจิทัล ในเร็วๆนี้ “Crypto Currency” เงินดิจิทัลอย่าง “บิทคอยน์” มาแน่นอน ทำให้การมีคนกลางมาดูแลเรื่องเงินนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ไม่ต้องมีคนรับรอง ไม่ต้องมีนายหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิด “อิสระทางการค้า” สูงมาก ธนาคารต้องปรับตัวเปลี่ยนการบริการไปเป็นอย่างอื่นเเละใช้  big data สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่ออนาคต “บิทคอยน์ในไทย” นั้น ดร.สุรพิชย์ตอบว่า ทางเเบงก์ชาติตอนนี้ก็มีทั้งกระแสดีและกระแสต่อต้าน แต่อนาคตต่อไปก็คงลำบากเพราะการซื้อขายจะไม่สามารถจำกัดขอบเขตได้ และประเทศไทยเองก็ยังตามไม่ทัน รวมถึงกฎหมายของไทยก็ยังตามไม่ทัน จึงต้องรีบเร่งปรับตัวให้เร็วขึ้น

ขณะที่การเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทย เขาคิดว่ายังต้องไปต่ออีกหลายก้าว โดยสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เป็นจริงได้ คือรัฐบาลดิจิทัล เเต่กว่าจะเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้ รัฐต้องมีแพลตฟอร์มที่เอกชนยอมมาใช้ ซื้อขายและรายงานยอด ยอมทำอะไรบางอย่างด้วยกันบนเงื่อนไขที่ไม่ซับซ้อนและไม่มองว่าเป็นการเพิ่มภาระ

ของไทยตอนนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าจะเก็บภาษี แล้วออกระบบหนึ่งๆมา มันก็เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาพัฒนามากับภาคเอกชน ทำให้ผู้ค้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำและทำให้เห็นว่าทำแล้วมันได้อะไร ต้องพึ่งพิงข้อมูลบางส่วนร่วมกัน ถึงจะเป็นดิจิทัล 100 %”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คาดภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยปี 2560 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2559 ที่มีมูลค่า 2.52 ล้านล้านบาท เติบโต 12.5% ในจำนวนนี้เป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มเอสเอ็มอีและร้านค้าออนไลน์รายย่อย มูลค่า 509,998 ล้านบาท แต่เติบโตถึง 43% สูงกว่าปีก่อนโต 37.2% ส่วนใหญ่เป็นการค้าออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ

 @อาเซียนยังไม่เหมาะกับรายเล็ก คิดจะขาย…ต้องไปทั่วโลก

กระแสอาเซียนกำลังมาเเรง หลายคนบอกว่าเป็นเหมือนขุมพลังทางเศรษฐกิจ ที่นักลงทุนจากทั่วโลกต้องการเข้ามาปักหมุด ช่วงชิงกำลังซื้อจากประชากรกว่า 625 ล้านคน เเละเป็นสปริงบอร์ดเชื่อมไปสู่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนเเละอินเดีย เเต่อีกด้านก็มีอุปสรรคที่ก้าวผ่านยากเช่นกัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีตัวเล็กตัวน้อย

ดร.สุรพิชย์ กล่าวว่า อาเซียนเป็นโอกาสของบริษัทใหญ่  ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอุปสรรคของกับผู้ประกอบการรายเล็ก ด้วยข้อจำกัดที่ต้องมีพาร์ทเนอร์ หรือต้นทุนบางอย่างอาจจะแพงกว่าที่คิด ทำให้ภาพรวมของธุรกิจในอาเซียนธุรกิจขนาดใหญ่มักจะประสบความสำเร็จ เช่น เอสซีจี ปตท.เเละซี.พี. เเต่ไม่ใช่การที่ร้านกาแฟเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จในกรุงเทพแล้วจะก้าวไปเปิดสาขาที่เวียดนาม ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ในประเทศจะต้องแข็งแรงพอ มีข้อมูล มีอินไซด์ในระดับหนึ่งเพื่อจะก้าวต่อไป

“ยุคนี้ไม่ต้องพูดถึงอาเซียนอีกแล้ว คือถ้าต้องขาย…ก็ต้องขายที่ไหนในโลกก็ได้” 

จากข้อมูลระบุว่า ปีนี้อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 1 (เฉพาะ B2C) เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ตัวเลขที่สวนทางคือ จำนวนยอดเงินที่ใช้จ่ายของไทยยังเป็นที่ 3 เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เเม้ไทยจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุด แต่การซื้อสินค้าต่อหัวต่อคน ยังมีมูลค่าน้อยกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย

 

@ SMEs ไทยอยู่ตรงไหน…ปรับความคิด “ไม่เปลี่ยนจนกว่าจะวิกฤต”  

ดร.สุรพิชย์ ชี้ว่าปัญหาของเจ้าของธุรกิจรายย่อยของไทยคือ ถ้าไม่มีนวัตกรรม ไม่มีแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการก็จะขายแบบเดิม และการที่จะออกจากวังวนเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเยอะ ทั้งดิจิทัล โกลบอลมาร์เก็ต รัฐต้องสนับสนุนข้อมูลให้ประชาชน และการที่รัฐบาลเอา 4.0 เข้าไปใส่ทั้งสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สมาร์ทฟู้ด ก็เพื่อจะให้ทุกคนมีโอกาส ซึ่งกว่าจะเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้จะต้องมีแอปฯ ที่บริหารข้อมูลได้ เเต่ของเรายังซับซ้อนอยู่ ในขณะที่ความเป็นจริงต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ง่ายและเร็ว

“การจะเปลี่ยนประเทศได้ต้องย้อนกลับมาถามว่า รัฐบาลเป็นดิจิทัลหรือยัง เราถึงยังไม่ลำบากพอที่จะเป็นดิจิทัล คือความรู้สึกพอทนได้ ถ้าไม่วิกฤตเราก็อยู่ได้ในแบบนี้ แต่ในระยะยาวจะลำบากเพราะมันไม่เห็นผลว่าสิ่งที่จะแก้ในอีก 10-15 ปีคืออะไร จะเสร็จแบบไหน และอาจเป็นเพราะว่าเปลี่ยนการบริหารบ่อยด้วย แผนพัฒนาประเทศก็ต้องดีเลย์ไปเรื่อยๆ”

-ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์

การค่อยเป็นค่อยไปนั้นเร็วเพียงพอกับสิ่งที่ตลาดเป็นหรือไม่ ซึ่งการทำให้ทันเวลาได้มันก็ต้องอาศัยความพร้อมหลายด้าน เราอาจกำลังทำในแบบของเรา แต่เผอิญว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินเดีย เวียดนาม เริ่มไปเร็วเเล้ว เราจะไปอยู่จุดไหนของกระบวนการนี้ จีนมีอาลีบาบา ญี่ปุ่นมีธนาคารรับบิทคอยน์ แล้วเราทำอะไรในขณะที่บอกว่า เราจะทำมาหากินเรื่องดิจิทัลเหมือนกัน

กลายเป็นว่าในอาเซียนเหมือนไทยจะก้าวหน้า แต่ความจริงไทยเป็นแค่ขุมทรัพย์ที่มีคนรอซื้อของ คนก็พร้อมขายของ แต่เราก็ยังไม่ได้มีอะไรใหม่

เรายังไม่เดือดร้อนพอ คือยังรู้สึกว่ายังไปได้อยู่เรื่อยๆ แต่อาจจะไม่ทัน ในขณะที่ทุกคนไปเร็ว ความเร็วของไทยมีปัญหา เพราะว่าในยุคใหม่ต้องมี mind set ซึ่งการมี mind set ต้องมาจากหลายอย่างทั้งการศึกษา ครอบครัว บริบทสังคม เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เเละหากทั้งหมดนี้ยังเหมือนเดิม แล้ว mind set เปลี่ยนได้อย่างไร”

@เเนะปลูกความเป็นนักธุรกิจตั้งเเต่เด็ก  เเก้จุดอ่อนต่าง “เจเนอเรชั่น”

ดร.สุรพิชย์ แนะถึงการปรับตัวของธุรกิจไทยในระยะยาว ว่าจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่จิตสำนึก และต้องทำไปพร้อมกันหลายด้านโดยเฉพาะการศึกษา เช่น สิงคโปร์ ให้สอนเรื่องผู้ประกอบการตั้งแต่ป.4  เป็นหลักสูตรให้ลองออกไปขายของ ทำธุรกิจเอง เรียนรู้ถึงความผิดพลาด สอนว่าจะต้องใช้ big data ให้เป็นประโชยน์ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ได้ใช้เวลาแค่ 2-3 วัน ไม่เหมือนการไปฟัง startup training

นอกจากนี้ เรื่อง “เจเนอเรชั่น”  มีผลมาก เรามักจะโทษว่าธุรกิจไปไม่ได้เพราะช่วงอายุคนต่างกัน เกิดไม่ทันกัน แต่จริงๆ ทุกเจนเนอเรชั่นมีจุดอ่อนจุดแข็งทั้งสิ้น แต่การจะเสริมให้ทันเวลามันน้อยเกินไป

โดยมองว่าไทยยังไม่ได้แก้ปัญหาจุดอ่อนของแต่ละเจนเนอเรชั่นให้ทันเวลา ในขณะที่เพื่อนบ้านนั้นเตรียมมาตลอด อย่างสิงคโปร์มีหน่วยงาน WDA (Workforce Development Agency) รัฐบาลให้ทุน 90%  ประชาชนออกแค่ 10 %  พลเมืองก็จะมาหาความรู้ใหม่ๆให้ตัวเอง เพราะเชื่อว่าทุกคนนั้นเปลี่ยนได้ ไม่ว่าแก่หรือเด็ก

“เราควรต้องเปรียบเทียบต่างประเทศอย่างจริงจัง สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่สิ่งใหม่ มีคนทำสำเร็จมาเยอะมาก แต่การที่เราจะเอาบทเรียนของคนอื่น มาประยุกต์ใช้กับข้อจำกัดของตัวเองนี่คือความท้าทาย ว่าจะเอาอะไรจากซิลิคอนวัลเลย์ สิงคโปร์ อินเดีย มาเรียนรู้ได้บ้าง เรียนรู้แบบก้าวกระโดด ไม่ใช่เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยแก้ รัฐบาลตั้งเป้าสำเร็จในอีก 20 ปี แต่เราจะรอกันไหวไหมดร.สุรพิชย์กล่าวทิ้งท้าย