อะไรคือไทยเเท้ ? ชวนคิดลึกเเบบ “ถอดรหัสไทย” ท้าทาย “เชื่อ-ไม่เชื่อ” ณ มิวเซียมสยาม

“ความเป็นไทย” คืออะไร เป็นหนึ่งในคำถามที่ไม่สามารถ “ฟันธง” ได้ เพราะหากพิจารณาแล้ว “ไทย” ดูเหมือนจะมีความชัดเจน แต่ทว่ากลับคลุมเครือ ด้วยการเป็นสังคมที่หลอมรวมวัฒนธรรมจากหลายองค์ประกอบ

ไทยแท้คืออะไร หากจะให้ยึดถือตามตำราเรียน คำสอนคำบอกเล่าที่เรารับรู้มาแต่เด็ก หรืออาจเห็นตาม “พิพิธภัณฑ์” ….เเล้วสิ่งเหล่านั้น “ควรเชื่อ” หรือไม่  

เพียงแค่การฉุกคิดขึ้นมาว่า “อะไรคือไทยแท้” อาจเป็นเสมือนการเปิดประตูแรกเริ่มของความคิด ให้เรากลับมาพินิจ วิเคราะห์และคิดให้ลึก คิดให้หลายตลบ…

“นิทรรศการถอดรหัสไทย จะลบภาพจำของการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่น่าเบื่อ จำเจ แต่จะมอบความรู้และความสนุกให้คนไทยยิ่งกว่าเดิม ให้ทุกคนได้ตั้งคำถามว่าความเป็นไทยที่แท้จริงคืออะไร ผ่านเรื่องราวสังคมมิติต่างๆ อย่างประวัติศาสตร์ ความเชื่อ อาหารการกิน แฟชั่น รวมไปถึงโซเชียลมีเดีย” ผู้อำนวยการมิวเซียมสยามระบุ

เป็นเวลายาวนาน กว่า 8 ปีที่ “เรียงความประเทศไทย” นิทรรศการถาวรประจำมิวเซียมสยาม ได้ให้ความรู้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมทั้งไทยและเทศ ต้องถึงวัน “จากลา” ยอมถอยให้ “ถอดรหัสไทย” เปิดฉากนำเสนอความเป็นไทยชุดใหม่ ด้วยเนื้อหาแหวกแนว มีการวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชน เพื่อปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัล แต่ก็ยังชวนให้คิดถึงอดีต โดยใช้เวลาสร้างสรรค์กว่า 18 เดือน ก่อนจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

แกะกล่องมิวเซียมสยามโฉมใหม่ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ชวนขบคิด ผูกโยงเรื่องราว และตั้งคำถามกับ “ความเป็นไทย” ที่เราถูกปลูกฝังในความคิด ความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม ผู้คนและการศึกษา กับ 14 ห้องนิทรรศการของ “ถอดรหัสไทย” ผ่านเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคม วัตถุจัดแสดงที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน

สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย…แต่ก็ยังมี “ความเดิมๆ” อยู่บ้าง

ห้องเรียกแขกของนิทรรศการ ประเดิมเริ่มด้วย “ห้องไทยรึเปล่า” ชูโรงด้วยหุ่นเลดี้ กาก้าสวมชฎา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทย และชุดประจำชาติมิสยูนิเวิร์ส พร้อมคำถาม “Really Thai ? ”

ต่อมากับห้อง “ไทยแปลไทย” ดีไซน์การนำเสนอน่าสนใจด้วย “ลิ้นชัก” ให้เราได้เปิดค้นหาและเรียนรู้ความเป็นไทยจากสิ่งของที่ส่งผลถึงอัตลักษณ์ในปัจจุบันด้วยตนเอง ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่เราต้องดูและคิดตามไปด้วย ไม่ได้แค่ให้อ่านหรือเรียนรู้เรื่องราวเพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้เราก็ต่างเป็น “ผู้สร้าง” ความเป็นไทยคนหนึ่งเหมือนกัน

ใกล้ๆเป็น “ห้องไทยตั้งแต่เกิด” สีสันดึงดูดใจยิ่งนัก โดยมีการนำเทคโนโลยี “โมดูลไฮดรอลิก” ผสมกราฟฟิกและเทคนิคแสง มานำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

“ความเป็นไทยในยุคใดยุคหนึ่งอาจถูกนำมาผลิตซ้ำได้อีก บางยุคก็อาจถูกหยิบใช้ในยุคอื่น และบางยุคก็มีการสร้างความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ ตามความคิดและความต้องการของคนในสังคมยุคนั้นๆ อีกทั้งความเป็นไทยยังถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการรณรงค์ต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ชาตินิยม การท่องเที่ยว การค้าขาย วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และ 3 สถาบันหลัก”

จากนั้นเป็น “ห้องไทยสถาบัน” นำเสนอเรื่อง 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ผ่านการใช้เทคโนโลยี “เออาร์” พร้อมมีเกมจิ๊กซอว์ให้เล่นทวนความจำ และห้องไทยอลังการ” จำลองบรรยากาศของท้องพระโรงและพระที่นั่ง แสดงสถาปัตยกรรมและงานหัตถศิลป์ไทย รวมถึงความเชื่อฮินดู พุทธศาสนาที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมากับการ “เสียดสี” ความเป็นไทย ด้วยโซน “ห้องไทย Only”  ไฮไลต์เด็ดคือ “คุณเอิบทรัพย์” นางกวักหุ่นสะบึ้ม ความสูงกว่า 4 เมตร วางบูชาด้วยน้ำแดงและเครื่องสำอาง สะท้อนความชอบดัดแปลงของคนไทย นอกจากนี้ยังจัดโชว์ข้าวของเครื่องใช้ที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่เห็นแล้วต้องบอกว่า “เป็นไทย” อย่าง ถุงหิ้วกาแฟผูกหนังยาง เสื้อวินมอเตอร์ไซค์ มาม่าสารพัดรส และพวงเครื่องปรุง เป็นต้น

และยังมี “ห้องไทยแค่ไหน” จุดแสดงสัญลักษณ์สถานะความเป็นไทย ผ่าน “การแต่งกาย” โดยมีหุ่นใส่เสื้อผ้าวางกระจายบนฐานก้นหอยจากสูงลงมาต่ำ ให้เห็นถึงความเข้มข้นที่ “ถูกมอง” ว่าเป็นไทย ฉุกคิดด้วยการนำหุ่น “แมคโดนัลด์สวัสดี” มาวางแอบไว้ตรงมุมห้อง

แล้วมุมมอง “ความเป็นไทย” จากต่างชาตินั้นเป็นแบบไหน มาดูได้ใน “ห้องไทย Inter” เรือสุพรรณหงส์คู่กับเรือหางยาว ผลไม้แกะสลักกับผลไม้รถเข็น อาหารชาววังกับอาหารดั้งเดิม รำไทยกับคาบาเรต์ นำเสนอเก๋ไก๋ด้วยกล่องที่มีช่องมอง 3 มิติให้เราได้ดูและตัดสินใจเลือกระหว่าง “สิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นเห็น กับ สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น”

ย้อนอดีตกลับไปวัยเรียนด้วย “ห้องไทยวิทยา” จำลองบรรยากาศห้องเรียน 4 ยุคสมัย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย 2475 ความเป็นไทยยุค 2500 ความเป็นไทยยุคโลกาภิวัตน์ และความเป็นไทยยุคเศรษฐกิจพอเพียง สะท้อนถึงการปลูกฝัง “ความเป็นชาติไทย” ผ่านตำราเรียน

โดยเนื้อหาแต่ละยุคจะมีทั้งเรื่องความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่ถูกสอดแทรกไว้ผ่านการศึกษา แบบเรียน และบทเพลงแต่ละยุคสมัย ทำให้คิดตั้งคำถามขึ้นมาว่า “เราต้องเชื่อทั้งหมดที่เรียนมาหรือไม่”

 

  ต่ออีกขั้นกับ “ห้องไทยดีโคตร” ถอดรหัสที่มาที่ไปของพระปรางค์วัดอรุณฯ ศิลปะไทยที่ไม่ได้มีที่มาจากดินแดนไทย ความเป็นมาของตัวอักษรไทย รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกนำเสนอให้เข้าใจง่ายด้วยเทคนิคเลเซอร์ คัท 3 มิติ โซโทรปและฟลิปบุ๊ก

รวมถึง “ห้องเชื่อ” ที่รวมรวบวัตถุด้านความเชื่อของเมืองไทย กว่า 108 สิ่ง ทั้งเรื่อง ผี-พราหมณ์-พุทธ และความเชื่อไทยที่เราเห็นทั่วไปซึ่งมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิต  ภายในห้องนี้ยังเปิดโอกาสผู้ชมได้ทดลองความเชื่อรูปแบบต่างๆตามอัธยาศัย เช่น การทำนายโชคชะตา การเสี่ยงทายหวย

“เรามีผีเป็นความเชื่อดั้งเดิม หลอมรวมเข้ากับพุทธและพราหมณ์อย่างแนบสนิท จนเกิดเป็นความเชื่อหลากหลายในสังคมไทย อีกทั้งเรายังสร้างความเชื่อใหม่ๆ จนถึงขั้นปลุกเสกการ์ตูนญี่ปุ่น ตุ๊กตาสมัยใหม่ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้”

ผ่อนคลายด้วยมุมเกมสนุกๆ ที่แฝงความรู้ด้านวัฒนธรรมกับ “ห้องไทยชิม” ห้องครัวมีชีวิตที่บอกเล่าที่มาที่ไปของ “อาหารไทย” ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง “คิวอาร์สแกน” และ “โมชั่นกราฟฟิก” ชวนตั้งคำถามอาหารไทยที่มีชื่อต่างประเทศอย่าง ขนมจีน ข้าวผัดอเมริกันและขนมโตเกียว ฯลฯ

 

จากนั้นเป็นโซนที่ตกแต่งคล้ายห้องเก็บของ ที่มี “เกมกระดาน” (บอร์ดเกม) ให้เล่น กับ “ห้องไทยประเพณี” ร่วมสนุกกับเกมที่เพิ่มสาระความรู้ด้านประเพณี เทศกาลและมารยาทไทย

และพักเหนื่อยด้วย “ห้องไทยแชะ” สตูดิโอถ่ายภาพ ที่ผู้ชมสามารถเลือกชุด เครื่องประดับ ฉาก และเครื่องประกอบฉาก สำหรับถ่ายภาพบันทึกความทรงจำไว้ได้ตามอัธยาศัย โดยจะเป็นการแต่งกายของคนไทยในแต่ละยุค แต่ละภูมิภาค

สุดท้ายนั้นการชม “ถอดรหัสไทย” จำเป็นต้องพกวิจารณญาณมาด้วย เพราะนอกจากจะเกิดคำถามว่า “อะไรคือไทย” “ไทยแค่ไหน” และ “ไทยอย่างไร” แล้ว เราอาจต้องไปให้ไกลกว่านั้นถึงกระบวนการหล่อหลอมของสังคม สิ่งของ เรื่องราว ผู้คนและอำนาจที่แฝงในแต่ละยุค ที่มีทั้งวันหมดอายุ มีการสร้างใหม่และมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา