“จีน” ในลูกหนังโลก ทีมอาตี๋ติดอันดับ 4 สโมสรการเงินแกร่งของโลก

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ปี 2018 ของคนกีฬาเริ่มต้นกันแบบคึกคักในทุกพื้นที่ สีสันในแต่ละแวดวงกระตุ้นให้คอกีฬาตื่นตัวกับบรรยากาศที่กำลังจะตามมาตลอด ทั้งปี โดยเฉพาะสำหรับวงการลูกหนังที่เพิ่งมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการเงินในโลก ฟุตบอลเผยแพร่รายงานทางการเงินของสโมสรทั่วโลก

Soccerex หน่วยงานผู้จัดงานประชุมด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอล เผยแพร่รายงานประจำปีว่าด้วยผลการจัดอันดับสถานะการเงินของสโมสรฟุตบอลทั่ว โลก 100 อันดับแรก โดยใช้ตัวชี้วัดหลาย

ปัจจัยจากองค์ประกอบตั้งแต่ สินทรัพย์, เงินหมุนเวียน, ศักยภาพของเจ้าของทีมในแง่การลงทุน และหนี้สิน มาแปรเป็นคะแนนและรวบรวมเป็นแต้มเพื่อจัดอันดับสโมสร10 อันดับแรกมีสโมสรจากลีกอังกฤษถึง 5 ทีม โดยทีมที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากสุดในโลกคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จ่าฝูงพรีเมียร์ลีก ที่มีคะแนนรวม 4.883 ตามมาด้วยชื่อที่เซอร์ไพรส์แฟนบอลอย่างอาร์เซนอล ที่ได้แต้ม 4.559 นำหน้า ปารีส แซงต์ แชร์กแมง จากลีกเอิง ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทีมเจ้าของสถิติซื้อเนย์มาร์ เป็นนักเตะค่าตัวแพงสุดในโลกที่มูลค่ากว่า 220 ล้านยูโร

หลายประเด็นในรายงานประจำปีน่าสนใจไม่แพ้เซอร์ไพรส์ที่อาร์เซนอลมีคะแนนรวมด้าน การเงินมากกว่าเปแอสเช เมื่อลองสำรวจชื่อสโมสรทั่วโลกจาก 100 อันดับในรายงาน จะพบว่ามี 9 สโมสรจากซูเปอร์ลีกจีนติดเข้ามาด้วย และใน 10 อันดับแรกมีชื่อทีมกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ติดอันดับ 4 ซึ่งถือว่าอันดับเหนือทีมดังจากสเปน ทั้งเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรอย่าง กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และอีก 8 ทีมติดอันดับเข้ามาด้วยคือรายงานนี้

นับรวมศักยภาพการลงทุนของเจ้าของสโมสรมาคิดเป็นคะแนนด้วย ซึ่งเจ้าของที่ถือครองสโมสรกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ คือ 2 นักธุรกิจที่รวยที่สุดของจีนในอันดับเศรษฐีจีน 3 อันดับแรก ตามข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส

เมื่อปี 2014 แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีจากจีนเข้าซื้อหุ้นทีมกว่างโจว

เอเวอร์แกรนด์ ซึ่ง ณ เวลานั้น สโมสรมี สวี่ เจีย อิ้น นักธุรกิจเจ้าของเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เข้ามาลงทุนก่อน และเปลี่ยนชื่อสโมสรท้องถิ่นเดิมกลายเป็น “กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์” ตามที่ได้ยินกันในวันนี้

ปัจจุบัน สวี่ เจีย อิ้น และแจ็ก หม่า 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีม เป็น 2 นักธุรกิจที่ติดอันดับเศรษฐีจีนที่รวยที่สุด 3 อันดับแรก โดยอันดับแรกเป็น หม่า ฮั่ว เถิง เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับต้นของจีน อย่าง WeChat รายงานยังเผยว่า มูลค่าทรัพย์สินรวมของบรรดาเศรษฐีเจ้าของ 9 สโมสรรวมกันเป็นมูลค่ามากถึง 75,100 ล้านยูโร

กลับมาที่ประเด็นของแจ็ก หม่า และสวี่ เจีย อิ้น ทั้งคู่มีชื่อติดลิสต์มหาเศรษฐีรวยสุดในโลก 20 อันดับแรกของฟอร์บส จึงไม่แปลกที่รายงานซึ่งเอาศักยภาพการลงทุนของเจ้าของทีมเข้ามาคำนวณด้วยจะทำให้มีรายชื่อกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ติดอันดับ 4 แตกต่างจากการจัดอันดับของบริษัทเดลอยต์ เมื่อปี 2017 ซึ่งยกให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก ตามมาด้วยบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ในรายงานของ Soccerex ติดอันดับ 5

ในยุคที่เศรษฐี จีนกระจายรากฐานอาณาจักรของตัวเอง การลงทุนในฟุตบอลที่รัฐบาลแดนมังกรกระตุ้นและให้การสนับสนุนมาตลอดเบ่งบาน ทำให้วงการลูกหนังเริ่มเห็นทีมจากลีกจีนเฉิดฉายในเวทีลูกหนังระดับทวีปทั้ง ในสนามที่กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ คว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อปี 2015 และชื่อเสียงด้านการเงินจากรายงานครั้งล่าสุด ไม่ต่างจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ชูถ้วยพรีเมียร์ลีก กำตั๋วไปเล่นฟุตบอลชิงถ้วยสโมสรยุโรป และทีมอื่นทั่วโลกถูกเศรษฐีตะวันออกกลางเข้ามาเทกโอเวอร์ ลงทุนมหาศาลเพื่อแปลงโฉมทีมตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อนาคตทางการเงินที่สดใส (จากมุมมองของสำนักการเงิน Seccerex) และความนิยมต่อกีฬาฟุตบอลที่มากขึ้นในจีนเรียกได้ว่าแซงบาสเกตบอลหรือปิงปองไปแล้ว เป้าหมายหลักที่น่าสนใจของจีนเรื่อง “มหาอำนาจ” ฟุตบอลในอีก 20 ปีข้างหน้าล้วนสอดคล้องกับมาตรการด้านการเงินของจีนที่เอื้อต่อนักลงทุนทั้งคนในประเทศเองและจากต่างชาติที่สนใจธุรกิจฟุตบอล

รัฐบาลลดภาษีและตัดทอนขั้นตอนยุ่งยากสำหรับบริษัทสัญชาติใดก็ตามที่ต้องการลงทุนใน ด้านกีฬาเพื่อตอบสนองนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจกลุ่มวงการกีฬาของจีนให้มีมูลค่า 671 ล้านยูโรภายในปี 2025 จีนยังจับมือกับมหาอำนาจลูกหนังในยุโรปนำองค์ความรู้ และบุคลากรจากบริษัทและสโมสรฟุตบอลชั้นนำในสหราชอาณาจักรเข้ามาพัฒนาฟุตบอล ในประเทศเพื่อสร้างฐานรากของวงการฟุตบอลอย่างแข็งแกร่ง พร้อม ๆ ไปกับการดึงนักเตะซูเปอร์สตาร์ระดับโลกซึ่งช่วยส่งเสริมด้านการตลาดและเม็ดเงินทางอ้อมให้เข้ามาสู่ลีก

ถ้า จีนเดินตามเป้าหมายได้อย่างราบรื่น และจัดระเบียบเรื่องการลงทุนของนักธุรกิจที่ไปลงทุนนอกประเทศและในประเทศได้ ดีขึ้น เป้าหมายมหาอำนาจด้านกีฬาของโลกในปี 2050 อาจไม่ไกลเกินเอื้อม