เอกชนลงขัน 1,400 ล้าน หาร 7 ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก “คิงเพาเวอร์” หัวหอกคุยฟีฟ่า

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ห้องประชุมชั้น 4 การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เชิญผู้แทนจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด หรือ ช้าง, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางการการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 2018 ที่ประเทศรัสเซีย

ทั้งนี้ภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมหน้า ประกอบด้วย นายพรอนันต์ เกิดประเสริฐ ผู้แทนบริษัท คิง เพาเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, นางอารดา จินดาวัฒน์ ผู้แทน บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน), สุรพล อุทินทุ ผู้แทนบริษัท ไทยเปฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นางสาวชมพูนุช บุญประเสริฐ ผู้แทนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), นางตุ้มทอง มุสิกรัตน์ ผู้แทน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, นายนิวัตร์ ไวทยะมงคล ผู้แทน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการกกท. เปิดเผยหลังการประชุมว่า การหารือวันนี้เป็นการเชิญภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ 7 บริษัทมาร่วมพูดคุยหาแนวทางในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้าย ซึ่งทุกบริษัทพร้อมช่วยเหลือในการนำฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับชม ต้องขอบคุณ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ช่วยประสานงานให้เกิดขึ้น

เบื้องต้น กกท. ได้พูดคุยกับทุกบริษัทมีความเห็นพ้องต้องกันว่า กกท.จะให้ คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เชั่นแนล เป็นผู้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), ประเทศรัสเซีย เจ้าภาพ และ ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เจ้าของสิทธิ์โดยตรง ตั้งแต่ขั้นตอนการทำสัญญา ซึ่งกกท.จะพยายามดูแลเรื่องการลดหย่อนภาษีต่างๆ ให้อย่างเต็มที่

“การดำเนินการโดยภาครัฐไม่คล่องตัวนัก สาเหตุที่เราเลือกคิงเพาเวอร์ เนื่องจากเป็นภาคเอกชนที่มีความคล่องตัว มีสายสัมพันธ์เกี่ยวกับวงการฟุตบอลในระดับนานาชาติ และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญกว่ากกท. ในส่วนขอรัฐวิสาหกิจจะต้องพูดคุยเรื่องของกฏหมายต่างให้ชัดเจนด้วย โดยการประชุมอีกครั้งจะมีขึ้นในเดือนก.พ.”

ในส่วนของงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์นั้น ตัวเงินอยู่ระหว่าง 1,200-1,400 ล้านบาท โดยภาคเอกชนจะลงขันกันเพื่อจ่ายให้ครบภายในเดือนก.พ.นี้ แบ่งจ่ายทั้งหมด 4 งวด คือ มกราคม, กุมภาพันธ์, มีนาคม และ เมษายน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมครั้งนี้ กสทช.ได้แนะนำแนวทางหรือไม่ ในเรื่องกฏระเบียบต่างๆ รวมทั้งจะร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ นายสกลระบุว่า กสทช. ให้ข้อแนะนำหลายๆประเด็นในเรื่องการถ่ายทอดสด ซึ่งกฏมัสแฮฟที่มี 7 ชนิดกีฬาที่ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีนั้น ถือว่าเป็นความหวังดี แต่เนื่องจากบางกีฬามีค่าลิขสิทธิ์แพงมาก จึงเป็นปัญหาที่เอกชนไม่กล้าลงทุน ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น กสทช. ไม่ได้มีงบประมาณส่วนนี้ช่วยเหลือ แหล่งที่มาของงบประมาณ ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจจะหารเท่าๆ กันคือ หาร 7 ไปเลย

ต่อข้อถามว่าจะถ่ายทอดสดช่องทางใด ผู้ว่าการกกท.ระบุว่า จะหารือกันอีกครั้ง ช่องที่จะถ่ายทอดสดนั้นจะต้องจ่ายเพิ่มหรือไม่คงต้องคุยกัน เพราะตอนนี้ช่องฟรีทีวีมี 26 ช่อง โดยในส่วนของแพ็กเกจนั้น การซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ในแพ็กเกจ ซี คือ เป็นการซื้อแพ็กเกจใหญ่ที่สุดทุกช่องทาง รวมถึงการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งจะต้องหารือเรื่องของการบล็อก และเรื่องของการบังคับใช้กฏหมายด้วย

“หากจะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาเพิ่ม คงไม่เปิดให้เพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากที่ประชุมจะผนึกกำลังในกลุ่มนี้ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ระหว่างการถ่ายทอดสดจะไม่มีโฆษณาคั่น จะมีเพียงก่อนเตะ พักครึ่ง และ หลังการแข่งขันเท่านั้น” ผู้ว่าการกกท. กล่าว

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์