กัมพูชา จัดชิงแบด 8 ทอง เพิ่มทีมผสม แต่ห้ามไทย กับ 4 ชาติเข้าแข่ง

ซีเกมส์
ภาพจาก มติชน

กัมพูชา จัดชิงแบด 8 ทอง เพิ่มทีมผสม แต่ห้ามไทย กับ 4 ชาติเข้าแข่ง

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 มติชนรายงานว่า ความเคลื่อนไหวการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะทำการแข่งขันกันระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 โดยเจ้าภาพได้กำหนดและยืนยันอีเวนต์การแข่งขันในครั้งนี้ออกมาสมบูรณ์แล้ว

โดยมีการปรับลดเหรียญรางวัลลงมาจากเดิม 37 ชนิดกีฬา 608 ทอง เหลือเพียง 36 ชนิดกีฬา 581 ทอง ซึ่งตัดกีฬาเพาะกายออกไป ไม่มีการชิงชัยในครั้งนี้ แต่ก็ยังทำให้ซีเกมส์ครั้งนี้ เป็นการชิงเหรียญทองที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพได้ออกระเบียบในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในแต่ละชนิดกีฬาค่อนข้างเยอะ และตัดโอกาสหลายๆ ชาติในการแย่งชิงเหรียญรางวัลกับเจ้าภาพไปในตัว

อย่างเช่นการแข่งขันแบดมินตัน ปกติในมหกรรมกีฬาต่างๆ จะมีการชิงชัยอยู่ที่ประเภทบุคคล 5 เหรียญ ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่ และคู่ผสม กับประเภททีม 2 เหรียญ คือทีมชาย และทีมหญิง แต่ครั้งนี้เจ้าภาพได้เพิ่มเหรียญที่ 8 ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นั่นคือประเภททีมผสม

แต่ทว่าในประเภทนั้นได้กำหนดว่าจะต้องเป็นชาติระดับ เทียร์ 2 ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, บรูไน และติมอร์เลสเต เข้าร่วมแข่งขันเท่านั้น เท่ากับว่าบรรดาชาติชั้นนำในกีฬาแบดมินตันของภูมิภาค ทั้งไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และสิงคโปร์ หมดสิทธิร่วมชิงชัยในเหรียญนี้

หรืออย่างกีฬาซอฟท์เทนนิส ที่มีการชิงชัย 7 เหรียญทอง เจ้าภาพได้กำหนดว่าตัวเองสามารถส่งนักกีฬาได้ครบทุกประเภท แต่ชาติอื่น จะส่งชิงชัยได้แค่ 5 ประเภท และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกิน ชาย 6 หญิง 6 คนเท่านั้น แต่เจ้าภาพสามารถส่งชื่อได้เต็มสตรีม ชาย 12 หญิง 12 คน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดว่า ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะไม่สามารถส่งแข่งขันในประเภทชายคู่ กับคู่ผสม ได้

อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ไทยถูกห้ามส่งแข่งขัน ก็คือเรือยาว ประเภท 3 คนหญิง เจ้าภาพกำหนดไว้ว่ามีแค่ 7 ประเทศเท่านั้นที่เข้าแข่งขันได้คือ กัมพูชา, สิงคโปร์, เวียดนาม, ลาว, บรูไน, ติมอร์เลสเต และมาเลเซีย

ขณะที่กีฬาอื่นๆ ที่มีการชิงชัยหลายเหรียญ อย่างเช่นมวยสากล ที่มีชิงชัย 17 ทอง แบ่งเป็นชาย 12 ทอง และหญิง 5 ทองนั้น เจ้าภาพได้กำหนดว่าชาติอื่นๆ จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้แค่ ชาย 8 จาก 12 รุ่น ส่วนหญิงได้ 3 จาก 5 รุ่นเท่านั้น


ขณะที่เจ้าภาพส่งได้ครบทุกรุ่น หรือกีฬาที่ไทยเป็นเจ้าทองอย่าง เซปักตะกร้อ ที่มีการชิงชัย 10 เหรียญทอง เจ้าภาพกำหนดว่าแต่ละประเทศ จะส่งแข่งทีมชายได้แค่ 3 จาก 6 อีเวนต์ และหญิง ได้แค่ 2 จาก 4 อีเวนต์เท่านั้น และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกิน 12 คนอีกด้วย