ถกดราม่า VAR ช่วยยกระดับฟุตบอลอย่างไร

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เทคโนโลยี VAR (video assistant referee) ระบบช่วยตัดสินย้อนหลังด้วยภาพวิดีโอในวงการฟุตบอลผ่านช่วงทดลองในหลายลีกของทวีปยุโรป และเริ่มถูกนำมาใช้ในลีกระดับท็อปหลายลีกตั้งแต่ต้นฤดูกาล 2017-2018 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างน่าสนใจทั้งเชิงบวกและลบ

ในบรรดาลีกที่ใช้งานไป ทั้งเซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีก้า เยอรมนี, เอลีก ออสเตรเลีย, เมเจอร์ ลีก ซอกเกอร์ สหรัฐ และลีกในโปรตุเกส แต่ละลีกมีเหตุการณ์ที่ทั้งเป็นประโยชน์ให้กับทีม และมีทั้งเหตุการณ์ที่สร้างดราม่าของตัวเอง

ขณะที่ทั่วโลกจับตาลีกอังกฤษซึ่งนำร่องทดลองใช้ในรายการฟุตบอลถ้วยระดับลีกคัพ และเอฟเอ คัพ เกมพรีเมียร์ลีกบางนัดก็เริ่มทดลองระบบนี้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นให้ระบบเชื่อมต่อกับผู้ตัดสินใช้ในสนามได้

ระบบ VAR ถูกใช้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษในเกมเอฟเอ คัพ รอบ 3 ระหว่างไบรท์ตัน กับคริสตัล พาเลซ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่เกมที่ทำให้ระบบนี้ถูกทดสอบและตั้งคำถามอย่างแท้จริงคือ เกมระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับฮัดเดอร์สฟีลด์ ทาวน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งประตูของ ฮวน มาต้า มิดฟีลด์ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ เควิน เฟรนด์ ผู้ตัดสินในเกมเป่าให้เป็นประตูแบบถูกต้องแต่มากลับคำตัดสินหลังจากระบบ VAR ชี้ให้เห็นว่ามาต้า อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า

ถึงเกมต้นตอดราม่าจบลงด้วยสกอร์ 2-0 เป็นชัยชนะของฝั่งปีศาจแดง แต่คำถามต่อการตัดสินประตูนี้ยังถูกถกเถียงตามกันมานับสัปดาห์ ปัญหาข้อแรกคือ ช่องว่างระหว่างระยะเวลาที่พิจารณาภาพเพื่อใช้ตัดสินประตู ซึ่งระหว่างนี้เกมถูกดีเลย์ออกไป ผู้ชมทั้งบนอัฒจันทร์และผู้ชมถ่ายทอดสดถูกตัดขาดจากการรับรู้ความเคลื่อนไหวในสนามที่เชื่อมโยงกับเกม

ในเกมปัญหาของลูกหนังอังกฤษ ผู้ชมถ่ายทอดสดจะได้รับชมภาพกราฟิกพิสูจน์ไลน์ล้ำหน้าจากบริษัทฮอว์กอาย บริษัทผู้ดูแลระบบและเป็นผู้ส่งกราฟิกพิสูจน์ประตูกรณีล้ำหน้าไปให้สถานีผู้รับสิทธิถ่ายทอดสด แต่เส้นกราฟิกที่บริษัทลากและส่งไปให้สถานีกลับเป็นเส้นที่ไม่ขนานกับแนวเส้นกรอบเขตโทษ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ตีเส้นกราฟิก “เบี้ยว”

เมื่อลากเส้นกราฟิกแบบปกติที่ขนานกับเส้นประตูอย่างถูกต้อง นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าเข่าของมาต้า ล้ำจากไลน์ของผู้เล่นคนสุดท้ายของฮัดเดอร์สฟีลด์ ทาวน์ เล็กน้อยเท่านั้น ถือว่ากราฟิกที่ถูกต้องก็พิสูจน์ว่ามาต้าล้ำหน้าเช่นกัน ถือว่าเป็นการตัดสินของ VAR ที่ “ถูกต้อง”

แม้เสียงฟากหนึ่งมองว่าระบบ VAR ทำให้การตัดสินเที่ยงตรงขึ้น แต่ระบบที่ยังไม่สมบูรณ์กลับทำให้เกิดประเด็นดราม่าให้ถกเถียงกันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลที่ปรากฏไม่สอดคล้องกับหลักการ ซึ่งเสี่ยงทำให้ผู้ชมสับสน

ขณะที่ระบบ VAR ที่ลื่นไหลและน่าเชื่อถือในกีฬาอื่น ซึ่งมีใช้มาหลายปีสามารถอุดช่องโหว่นี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส ที่ระบบฮอว์กอายมีเพลย์ภาพให้ผู้ชมในสนาม

และผู้ชมถ่ายทอดสดดูเช่นเดียวกับเกมรักบี้ที่มีภาพขึ้นหน้าจอฉายวิดีโอย้อนหลังในสนาม ส่วนผู้ชมถ่ายทอดสดยังได้ยินเสียงผู้ตัดสินปรึกษาหารือกับทีมงาน VAR ได้ด้วย

ประเด็นต่อมาคือ การพิจารณาวิดีโอทำให้เกมลากยาวออกไป เห็นได้ชัดในช่วงต้นของการใช้งานในลีกอิตาลี แต่หลังจากผ่านช่วงแรกไป เวลาเฉลี่ยที่ใช้วิเคราะห์ภาพ VAR เริ่มลดลง เมื่อระบบเริ่มเสถียร สถิติความผิดพลาดของการตัดสินเฉลี่ย 3 ครั้งต่อการแข่งขันแต่ละวันก็เริ่มลดลงเช่นกัน อัตราการทำฟาวล์ จำนวนใบเหลือง-แดงลดลง สืบเนื่องจากผู้เล่นรู้ตัวว่าถูกจับจ้องอยู่ ลูกเล่นนอกเกมก็ลดลงตามเช่นเดียวกับเหตุการณ์ประท้วงจากผู้เล่นที่ลดลง เนื่องจากพวกเขารู้ดีว่ามีวิดีโอที่จะชมภาพย้อนหลัง และวิดีโอไม่เคยโกหก

VAR ยังอยู่ระหว่างทางของการตัดสินใจในหลายประเทศ เช่นเดียวกับอังกฤษที่ยังอยู่ในระยะทดลอง ลีกน่าจะพิจารณาว่าจะใช้จริงในพรีเมียร์ลีกหรือไม่ในเดือนเมษายนนี้ ถ้าใช้งานจริงจำเป็นต้องใช้งานอย่างเท่าเทียมทุกสนาม แต่เชื่อว่าพรีเมียร์อังกฤษที่รับรายได้มหาศาลทุกปีไม่น่าจะมีปัญหากับเรื่องงบฯติดตั้งระบบ ขณะที่ไทยยังต้องพิจารณาเรื่องคุ้มทุน ถ้าใช้งานทุกเกม ค่าใช้จ่ายเกมละประมาณ 6 หมื่นบาท (รวมค่าอุปกรณ์และค่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเข้ามา) จะคุ้มค่าหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกมไหนที่ไม่ได้ใช้งาน 6 หมื่นบาทที่เสียไปจะมองว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร

ถึงจะมีคำถามและเสียงวิจารณ์ต่อการใช้งาน เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างจำนวนครั้งที่ VAR ช่วยให้ตัดสินได้อย่างถูกต้องกับระยะเวลาใช้งานในเกมที่ต้องเพิ่มเข้าไป ซึ่งนั่นมาพร้อมกับความสับสนของผู้อยู่ในสนามจนถึงผู้ชมถ่ายทอดสด แน่นอนว่าในช่วงต้นของการทดลองจะมีเส้นทางขรุขระตามมาด้วยปัญหาอีกมาก

แต่ถ้ามองด้านดี ปัญหาเหล่านี้ช่วยให้เห็นจุดอ่อนของระบบเร็วขึ้น ถ้ารีบนำมาปรับปรุงอุดช่องโหว่และเร่งสร้างความเข้าใจ สร้างความคุ้นเคยให้ผู้ตัดสินเพื่อลดเวลาพิจารณาภาพลง จำกัดกรอบลักษณะนิยามจังหวะที่ต้องใช้งาน VAR ให้ชัดเจน ไปจนถึงทางเลือกให้โควตาชาเลนจ์

แต่ละทีมเหมือนกีฬาอื่น ปรากฏการณ์แบบ “หัตถ์พระเจ้า” ของดิเอโก้ มาราโดน่า และแฮนด์บอลของเทียร์รี่ อองรี ในเกมเพลย์ออฟบอลโลก เรื่องเหล่านี้ที่สามารถหักอกทุกทีมในโลกอาจไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็เป็นได้