จุดจบสายพริตตี้? กีฬางดใช้งานนางแบบ ตามเทรนด์สิทธิสตรี

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เหล่าแฟนที่คุ้นเคยกับกีฬากลุ่มที่ต้องออกลีลากันมากหน่อยน่าจะชินกับภาพหญิงสาว ที่ทำหน้าที่ยืนโปรยสายตาแถมรอยยิ้มประจำจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะก่อน ระหว่าง หรือหลังการแข่งขัน ตราบใดที่เกมยังมี “พริตตี้” สาว สมองของผู้ชมแทบจะสัมผัสกับความรื่นรมย์เหมือนได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม

ไม่ว่าพวกเธอจะมีหน้าที่นอกเหนือจากนี้อย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถทำให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งเหลียวตามาจ้องของ “สวยงาม” กันพักใหญ่ก่อนที่จะหันมาสนใจองค์ประกอบหลักในการแข่ง พวกเธอถูกเรียกในหลายชื่อตามแต่ละบริบทและการใช้ภาษาของแต่ละพื้นที่

สำหรับไทยน่าจะคุ้นเคยกับนิยาม “พริตตี้” เป็นส่วนใหญ่ กีฬาจำนวนมาก (โดยเฉพาะสายประชันความเร็ว) เลือกใช้บริการของพวกเธอเพื่อสร้างบรรยากาศและเป็นจุดดึงดูดที่ดีกลายเป็น “ธรรมเนียม” ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกระทั่งกระแสของโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป กีฬาหลายชนิดเริ่มทยอยยกเลิกการใช้งานนางแบบสาวในเกม

นางแบบสาวตรง กริดสตาร์ตในเอฟวัน หรือที่เรียกกันว่า “กริดเกิร์ล” เป็นบุคลากรที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตแบรนด์ หรือตอบสนองต่อภาพลักษณ์บางอย่างมานานหลายทศวรรษจนแทบกลายเป็นธรรมเนียม ปฏิบัติสำหรับกีฬารถแข่งหรือการประชันความเร็วต่าง ๆ จนเมื่อปลายมกราคมที่ผ่านมา เอฟวัน ออกแถลงการณ์ระบุ ยกเลิกใช้นางแบบสาว “กริดเกิร์ล” โดยหันมาใช้ “กริดคิดส์” หรือใช้เยาวชนมาประจำกริดสตาร์ตแทนตั้งแต่ฤดูกาล 2018 เป็นต้นไป

หลังจากใช้นางแบบสาวมาเป็นส่วนหนึ่งของเกมนานหลายทศวรรษ จนผู้บริหารเอฟวันยุคปัจจุบันมองว่า นางแบบสาวไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสังคมยุคใหม่ ฤดูกาลนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมที่ทุกคนคุ้นชิน เมื่อประเด็นความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกมาพูดถึงกว้างขวางมากขึ้น และการใช้

ผู้หญิงสวยเป็นเครื่องมือดึงดูดสายตาถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ หาประโยชน์จากเพศหญิงด้วยการเปลี่ยนให้พวกเธอเป็นวัตถุทางเพศ และสอดแทรกข้อความหรือสัญลักษณ์สื่อสารการตลาดเข้าไปเพื่อนำเสนอไปพร้อมกับ ความสวยงามจากรูปลักษณ์ของนางแบบ

นอกจากความเปลี่ยนแปลงในสนามที่จะ เห็นเยาวชนเข้ามาแทนที่นางแบบสาวสวยแล้ว สิ่งที่เกิดอีกทางคือ นางแบบสาวเหล่านี้ที่เคยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและสร้างเนื้อสร้างตัวต้องมี รายได้ลดลง รายงานข่าวจากซีเอ็นเอ็น สัมภาษณ์ “กริดเกิร์ล” จากสหราชอาณาจักรรายหนึ่งซึ่งเล่าว่า งานโปรโมตได้ค่าตอบแทนสูงมาก บางงานได้ค่าตอบแทนเกือบ 200 ดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 6,600 บาท)

อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมในยุโรปอย่างปาเป้าระดับอาชีพ ก็ประกาศยกเลิกใช้นางแบบที่เดินคู่กับนักกีฬาเข้ามาในสนามแข่งก่อนหน้าที่ เอฟวันจะประกาศแล้ว หรือแม้แต่งานมอเตอร์โชว์ในเจนีวา ก็เริ่มมีหลายค่ายรถยนต์เปลี่ยนจาก “พริตตี้สาว” ประจำบูทไปเป็นนายแบบ-นางแบบที่สวมเครื่องแบบที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของ ผลิตภัณฑ์ที่ประชาสัมพันธ์แทน

อิทธิพลหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อวงการ กีฬาจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ปรากฏการณ์ #MeToo การติดแฮชแท็กในข้อความโลกสื่อสังคมออนไลน์กระตุ้นให้ผู้หญิงตระหนักถึง ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแฉพฤติกรรมคนในวงการฮอลลีวูด

ไอเดียการเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวด้านสิทธิ ทางเพศในสังคมโลกถูกนักสตรีนิยมส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่า ถึงจะยกเลิก “กริดเกิร์ล” ขณะที่ผู้อำนวยการของเอฟวันยังระบุว่า การแข่งรถสูตรหนึ่งจะยังมี “พริตตี้” ในสนามอยู่ อาจเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกันเอง

นโยบายนี้ยังส่งผลต่อการจ้างงาน สำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้รู้สึกเชิงลบต่อการต้องนุ่งน้อยห่มน้อย หรือเปิดเผยสรีระมากกว่าปกติในบางครั้ง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นฝ่ายสตรีนิยมที่ต่อสู้เพื่อด้านสิทธิที่เท่าเทียมทาง เพศ และรณรงค์ยุติการล่วงละเมิดและกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง เรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องมากกว่าเดิม แต่ผู้หญิงในกลุ่มที่นักสตรีนิยมเรียกร้องให้ปกป้อง บางส่วนก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องได้รับการปกป้องมากขนาดนั้น

กริดเกิร์ล หรือพริตตี้ รู้ดีว่า พวกเธอสมัครงานลักษณะนี้แล้วต้องเจออะไรบ้าง ถ้าพวกเธอไม่สามารถดูแลตัวเอง หรือไม่ต้องการเป็นที่สนใจก็คงไม่สมัครตั้งแต่แรก นอกจากนี้ บริษัทที่เป็นนายหน้าหางานให้ก็มีมาตรการดูแลความปลอดภัย และถามความคิดเห็นเกี่ยวกับชุดที่ต้องใส่ว่ายินดีที่จะสวมหรือไม่ ก่อนจะทำงาน

เอฟวัน 2018 ที่มี “กริดคิดส์” ถูกตั้งเป้าหมายให้ดึงดูดและสร้างความสนใจในหมู่เยาวชนจะเริ่มต้นช่วงปลาย เดือนมีนาคม แม้จะเป็นองค์ประกอบที่ไม่ได้กระทบต่อการแข่งโดยตรง แต่มีผลต่อบรรยากาศแวดล้อมของการแข่งที่แฟนคุ้นเคย ซึ่งหลากหลายความคิดเห็นที่ถกเถียงกันไปก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่อ แนวทางครั้งนี้อันเป็นผลเชื่อมโยงจากกระแสโลก คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระจายวงกว้างไปกว่าเดิมจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่ง ผลต่อบรรยากาศในระยะยาวหรือไม่