BITE SIZE : ทัพนักกีฬาไทย คว้าเหรียญโอลิมปิก ได้เงินอัดฉีดเท่าไร ?

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ใกล้ถึงเวลาปิดฉากสำหรับมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทัพนักกีฬาไทยที่ลุยศึกโอลิมปิกครั้งนี้ ก็ทำผลงานได้เป็นอย่างดี และน่าประทับใจ สร้างความสุขให้กับคนไทย

แต่หลังจบการแข่งขันกีฬาแล้ว เรื่องที่เป็นที่สนใจ หนีไม่พ้นเงินอัดฉีด ที่นักกีฬาไทยที่เอาชนะ คว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิก จะได้รับกันเหนาะ ๆ เป็นหลักล้าน

เงินอัดฉีดทัพนักกีฬาไทย จะเยอะแค่ไหน แล้วต่างประเทศอัดฉีดเยอะไหม

Prachachat BITE SIZE รวบรวมมาให้ดู

ทัพนักกีฬาไทย ได้เงินอัดฉีดเท่าไร ?

นักกีฬาไทยที่คว้าเหรียญ คว้าชัยในการแข่งขันโอลิมปิกได้ จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยเงินรางวัลจากกองทุนกีฬา จะได้รับสูงสุด 12 ล้านบาท ตามประเภทเหรียญ

  • เหรียญทอง ได้รับสูงสุด 12 ล้านบาท
  • เหรียญเงิน ได้รับสูงสุด 7.2 ล้านบาท
  • เหรียญทองแดง ได้รับสูงสุด 4.8 ล้านบาท

โดยนักกีฬาสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินรางวัลแบบเงินก้อน จ่ายครั้งเดียว หรือจะเลือกแบ่งจ่าย รับเงินก้อนไปก่อนครึ่งหนึ่ง แล้วรับอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือเป็นรายเดือนในเวลา 4 ปี หากรับทั้งก้อนในครั้งเดียว เงินรางวัลจะลดลงมา เหลือ 10 ล้านบาท 6 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท ตามประเภทเหรียญ

ADVERTISMENT

ส่วนกรณีนักกีฬาเลือกรับเงินอัดฉีดจากกองทุนฯ แบบแบ่งจ่าย จะได้รับเงิน 50% แรกก่อน และจะได้รับส่วนที่เหลือเป็นรายเดือน ในระยะเวลา 4 ปี โดยเงินที่ได้รับรายเดือน เหรียญทอง เดือนละ 125,000 บาท เหรียญเงิน เดือนละ 75,000 บาท และเหรียญทองแดง เดือนละ 50,000 บาท ซึ่งกองทุนจะเริ่มจ่ายเงินรางวัลตามปีงบประมาณของราชการ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่มีการแข่งขันนั้นเป็นต้นไป

ADVERTISMENT

อัดฉีดอย่างเดียวไม่พอ ได้เงินเดือน 20 ปี

นักกีฬาเหรียญโอลิมปิก นอกจากได้รับเงินอัดฉีดจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติแล้ว จะยังได้รับเงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยอีกเป็นระยะเวลา 20 ปี หรือ 240 เดือน โดยอัตราเงินเดือนที่จะได้รับ เป็นดังนี้

  • เหรียญทอง เดือนละ 12,000 บาท
  • เหรียญเงิน เดือนละ 10,000 บาท
  • เหรียญทองแดง เดือนละ 8,000 บาท

คำนวณเป็นตัวเลขตลอด 20 ปีที่จะได้รับ จะเป็นดังนี้

  • เหรียญทอง 2.88 ล้านบาท
  • เหรียญเงิน 2.4 ล้านบาท
  • เหรียญทองแดง 1.92 ล้านบาท

โดยจะจ่ายเงินเดือนให้กับนักกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่เดือนถัดไปที่ได้รับเหรียญ และถ้าสามารถคว้าเหรียญได้อีกในการแข่งขันครั้งต่อไป ก็ได้เงินเดือนเพิ่มอีก จนครบ 20 ปีที่ได้รับเหรียญ

เช่น กรณีของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ซึ่งคว้าเหรียญทองแดง เมื่อโอลิมปิก 2016 และคว้าเหรียญทองถึง 2 สมัยติดต่อกัน สมัยแรก เมื่อโอลิมปิก 2020 และสมัยที่ 2 ในโอลิมปิก 2024 จะได้รับเงินเดือนดังนี้

  • เงินเดือนจากการคว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิก 2016 จำนวน 8,000 บาท/เดือน (ได้รับจนถึงประมาณปี 2579)
  • เงินเดือนจากการคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก 2020 จำนวน 12,000 บาท/เดือน (ได้รับจนถึงประมาณปี 2584)
  • เงินเดือนจากการคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก 2024 จำนวน 12,000 บาท/เดือน (ได้รับจนถึงประมาณปี 2587)

ยังไม่รวมเงินอัดฉีดเพิ่มเติมจากสปอนเซอร์ภาคเอกชน หรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่นักกีฬาจะได้รับเพิ่มเติมด้วย

สมาคมกีฬา-โค้ช ได้อัดฉีดด้วย

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมอบเงินอัดฉีดให้กับบุคลากรกีฬาและสมาคมกีฬาของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัลด้วย

โดยสมาคมกีฬาของนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัล ในอัตรา 30% ของเงินรางวัลทั้งหมดที่นักกีฬาได้รับ สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท

ขณะที่บุคลากรกีฬาของสมาคมกีฬาที่มีหน้าที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ได้รับเงินรางวัลดังนี้

  • ประเภทบุคคลทั่วไป และประเภททีมที่มีนักกีฬาไม่เกิน 6 คน ได้รับเงินรางวัล 20% ของเงินรางวัลที่นักกีฬาได้รับ
  • ประเภททีมที่มีนักกีฬาตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปให้ได้รับเงินรางวัล ได้รับ 10% ของเงินรางวัลที่นักกีฬาได้รับ

กองทุนกีฬาฯ ไม่ได้ใช้แค่เพื่อจ่ายเงินอัดฉีด

หลายคนคงสงสัยว่า กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เอาเงินมาจากไหนเยอะแยะ ถึงจ่ายเงินรางวัลให้นักกีฬาได้มากมายขนาดนั้น

กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีแหล่งรายได้หลัก มาจากภาษีสรรพสามิต โดยมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดให้จัดเก็บ 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ มาเป็นเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

ซึ่งเงินดังกล่าว ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นเงินรางวัลแก่นักกีฬาโอลิมปิกอย่างเดียวเท่านั้น ยังจ่ายเงินรางวัลให้กับนักกีฬาในมหกรรมอื่น ๆ อีก ทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ กีฬาเยาวชน และกีฬาคนพิการ พาราลิมปิกเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์

และมีการนำเงินกองทุนไปใช้ทั้งการดำเนินกิจกรรมกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การพัฒนานักกีฬา บุคลากร และสมาคมกีฬา การเตรียมนักกีฬา

จนถึงสวัสดิการสำหรับนักกีฬา ทั้งทุนการศึกษา และการช่วยเหลือกรณีประสบอุบัติเหตุหรือทุพพลภาพจากการแข่งขันกีฬา หรือกรณีอื่น ๆ ที่เห็นว่าควรสงเคราะห์

ได้เงินอัดฉีด ต้องเสียภาษีไหม ?

พูดถึงเงินอัดฉีด หรือเงินรางวัลแล้ว คงเป็นที่สงสัยไม่น้อยว่า เงินรางวัลทั้งหลายที่ได้มาเป็นหลักสิบล้านบาท เราจะต้องเสียภาษีด้วยไหม

โดยทั่วไป เงินให้เปล่า ไม่ว่าจะได้รับจากบริษัทห้างร้าน หรือจากบุคคลอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วน 10 ล้านบาทแรกที่ได้รับ ไม่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 42 (28) ของประมวลรัษฎากร ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีการรับให้ ในอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท

แต่กรณีนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ได้รับเงินอัดฉีดเป็นรางวัลเนื่องจากเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา สามารถคว้าชัยในการแข่งขัน ตามกฎหมาย กำหนดให้เงินที่ได้ทั้งหมด ทั้งที่เป็น 10 ล้านบาทแรก และส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด เพื่อเป็นการสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

แต่หากมีการไปรับพรีเซ็นเตอร์ในตอนหลังด้วย ต้องเสียภาษีตามปกติ

ส่วนรายการกีฬาที่ยกเว้นภาษี คือ โอลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และซีเกมส์ รวมถึงกีฬาผู้พิการ พาราลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนพาราเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ จนถึงการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลก แห่งเอเชีย แห่งอาเซียน หรือการแข่งขันที่สหพันธ์กีฬานานาชาติเป็นผู้จัด

ต่างประเทศ เปย์นักกีฬาเท่าไร ?

ข้อมูลจาก CNBC ซึ่งรวบรวมจากคณะกรรมการโอลิมปิก สมาคมกีฬา และรายงานจากหลายประเทศ พบว่า ในแถบเอเชียมีการอัดฉีดเป็นตัวเลขมหาศาล

  • ฮ่องกง อัดฉีดสูงสุด 768,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • สิงคโปร์ อัดฉีดสูงสุด 745,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • อินโดนีเซีย อัดฉีดสูงสุด 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มาเลเซีย อัดฉีดสูงสุด 216,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ญี่ปุ่น อัดฉีดสูงสุด 32,000 ดอลลาร์สหรัฐ

หรืออินเดีย จ่าย 2 ทาง คล้ายกับเมืองไทย โดยรัฐบาลและหน่วยงานกีฬา จะมอบเงินรางวัล 7.5 ล้านรูปี หรือราว 3.1 ล้านบาท ให้กับนักกีฬา ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกอินเดีย จ่ายเพิ่มต่างหากอีก 10 ล้านรูปี หรือ 4.2 ล้านบาท

ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา อัดฉีดสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • เยอรมนี อัดฉีดสูงสุด 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ออสเตรเลีย อัดฉีดสูงสุด 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ฝรั่งเศส อัดฉีดสูงสุด 87,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการอัดฉีดเป็นเงินสด นักกีฬาอาจจะได้รับรางวัลอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น บ้าน คอนโดฯ รถยนต์ ตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะฟรีตลอดชีวิต หรือของรางวัลอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ นักกีฬาจะได้รับรางวัลเงินบำนาญตลอดชีวิต เดือนละ 1 ล้านวอน หรือเงินก้อน 67.2 ล้านวอน สำหรับผู้ได้รับเหรียญทอง

หรือฟิลิปปินส์ “คาร์ลอส ยูโล” คว้า 2 เหรียญทองโอลิมปิก 2024 จากการแข่งขันยิมนาสติกชาย ประเภท ฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ และม้ากระโดด ได้รับอัดฉีดทั้งเงินรวมกันราว 9 ล้านบาท คอนโดฯ 3 ห้องนอน จนถึงทุนการศึกษาฟรี การตรวจสุขภาพ จนถึงรับประทานอาหารฟรี ไม่ว่าจะเป็น ราเม็ง, แมคแอนด์ชีส และไก่ย่าง ซึ่งฟรีตลอดชีพด้วย

ยังมีของรางวัลแปลก ๆ อีก เช่น ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นในมาเลเซีย ให้อาหารและชา ฟรีตลอดชีวิต ญี่ปุ่นแจกข้าวสารให้นักกีฬา 100 กระสอบ ที่อินโดนีเซีย นักกีฬาได้วัว และบ้านใหม่

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.67 ได้ที่ https://youtu.be/-BaS0ylU7os

เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ