“เวิลด์คัพ” กับเรื่องเงินๆ ทองๆ

REUTERS/Bobby Yip/File Photo

เนื่องด้วยการแข่งขัน ฟุตบอลโลก เป็นรายการกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงมหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ อีกทั้งเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของโลก เรื่องกำไรและผลประโยชน์จึงย่อมมหาศาล

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ช่วงที่  บราซิล  เป็นเจ้าภาพ  ฟุตบอลโลก 2014 เว็บไซต์  อีโคโนมี วอตช์  รายงานว่า ย้อนไปสมัย  ซิลวิโอ กาซซานิก้า  ปฏิมากรชาวอิตาเลียน ปั้นถ้วย “เวิลด์คัพ โทรฟี่” รูปแบบปัจจุบันขึ้นมาเมื่อปี 1971 ตอนนั้นถ้วยใบนี้เพิ่งมีมูลค่าเพียง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านบาท) แต่เวลานี้มูลค่าโดยประมาณปาเข้าไป 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (320 ล้านบาท) แล้ว

ราคาถ้วยว่าสูงขนาดนั้น มูลค่าของการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้นยิ่งสูงลิบลิ่ว โดยนักเศรษฐศาสตร์เปรียบเปรยว่า อาจจะมีมูลค่าเท่ากับทอง 18 กะรัต ขนาดเท่าตัวคน 2 คนเลยทีเดียว!

เนื่องด้วยสปอนเซอร์แย่งกันสนับสนุน ไหนจะแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกที่จะหลั่งไหลเข้าไปในประเทศเจ้าภาพช่วงการแข่งขันเป็นตัวเลข 7 หลัก ช่วงการแข่งขันเวิลด์คัพจึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพให้เฟื่องฟู โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ในฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วม มีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศราว 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (288,000 ล้านบาท) ส่วนบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี คิดเป็นตัวเลข 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (384,000 ล้านบาท) ขณะที่บอลโลกปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นตัวเลข 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (160,000 ล้านบาท)

ส่วนฟุตบอลโลก 2014 นั้น ประเมินว่ามีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจของบราซิล เจ้าภาพ 13,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (430,000 ล้านบาท)

สำหรับการเป็นเจ้าภาพ  ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุยายน-15 กรกฎาคมนี้นั้น สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือ  มูดีส์  ระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกกับชาติเจ้าภาพอาจจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ และอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

แน่นอนว่าในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวย่อมเฟื่องฟูในช่วงการแข่งขันด้วยจำนวนแฟนบอลที่จะเดินทางเข้าประเทศเพื่อชมและเชียร์ทีมโปรด รวมถึงดื่มด่ำกับบรรยากาศการแข่งขันอย่างใกล้ชิด แต่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของรัสเซียในเวลานี้ก็เติบโตค่อนข้างดีอยู่แล้ว

ส่วนกลุ่มธุรกิจด้านอาหาร การโรงแรม โทรคมนาคม และการขนส่ง น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นชั่วคราว แต่ไม่น่าส่งผลกระทบเชิงบวกเป็นตัวเลขที่สูงนักเนื่องจากเศรษฐกิจของของรัสเซียมีขนาดใหญ่มาก ส่วนธุรกิจที่น่าจะได้รับผลเชิงบวกในระยะยาวจริงๆ คือกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งผ่านพ้นจุดพีคดังกล่าวไปแล้วเนื่องจากการก่อสร้างและปรับปรุงสนาม รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แล้วเสร็จหมดแล้ว

จะเหลือก็แค่ในส่วนของสนามบินซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงในระยะยาวจากการขยายพื้นที่และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จนสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าขาออกได้อย่างคล่องตัว เป็นผลดีกับธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต

สิ่งที่มูดีส์ไม่ได้พูดถึงคือ ผลกระทบเชิงลบในระยะยาวจากเม็ดเงินมหาศาลที่เจ้าภาพต้องเสียไป โดยเมื่อครั้งเมืองโซชิของรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน  โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2014  รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นรวมถึงภาคเอกชนระดมทุนมหาศาลถึง 49,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.58 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ปรับพื้นที่ของเมืองโซชิให้เป็นรีสอร์ทเล่นสกีและกีฬาฤดูหนาว จนถึงการสร้างสนามแข่งขันและวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

แต่ถัดมาเพียงปีเดียว เมืองโซชิซึ่งปกติเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 4 แสนคน แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง สนามแต่ละแห่งถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อ ขณะที่โรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหลักแสนในช่วงดังกล่าวก็กลายเป็นโรงแรมเปล่าๆ ที่ไม่มีใครมาใช้บริการ

ส่วนฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งกำลังจะมาถึงนั้น จนถึงปลายปีที่แล้ว ประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายไว้ที่ 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (377,600 ล้านบาท) ซึ่งทางรัฐบาลรัสเซียหมายมั่นปั้นมือว่าจะแสดงศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพกีฬารายการใหญ่ระดับโลกนี้ให้สำเร็จลุล่วงอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด

เทียบกับ โซชิเกมส์ แล้ว ผลกระทบเรื่องสนามถูกทิ้งร้างคงไม่ใหญ่โตนัก เพราะสนามส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างใหม่ เน้นการปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งถ้ามองในมุมการเมือง ว่าฟุตบอลโลกเป็นเวทีแสดงแสนยานุภาพของชาติมหาอำนาจขั้วหนึ่งของโลกก็คงถือว่าเข้าเป้าในมุมมองของรัฐบาล

แต่เม็ดเงินที่ลงทุนไปจะคุ้มค่ากับภาคธุรกิจหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

ที่มา:มติชนออนไลน์