จับตา MotoGP หลังไทยอาจจัด ปี 2026 เป็นครั้งสุดท้าย ?

ThaiGP MotoGP
ภาพประกอบจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย

จับตา MotoGP การแข่งขันความเร็วระดับโลก หลังประเทศไทย อาจไม่ต่อสัญญาจัดการแข่งขัน แข่งปี 2026 เป็นปีสุดท้าย ขณะที่ กกท. เผยยังอยู่ระหว่างการเจรจา รอรัฐบาลตัดสินใจ

MotoGP หนึ่งในรายการแข่งขันความเร็วระดับโลก ที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทย ที่ได้รับสิทธิจัดการแข่งขัน Thai GP และเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันความเร็วรายการดังกล่าวด้วย ซึ่งการแข่งขัน MotoGP ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยว การจ้างงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ขณะเดียวกัน สัญญาในการจัดการแข่งขัน MotoGP ที่ประเทศไทย กำลังจะหมดลงในปี 2026 หรือการแข่งขันฤดูกาลหน้า และต้องใช้เวลาในการต่อสัญญาเพื่อจัดการแข่งขัน

‘เนวิน’ เสียดาย หากไม่จัดต่อ

นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลุงเนวิน ระบุว่า “ขอบคุณแฟน Thai GP สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ขอบคุณฅนบุรีรัมย์ ทุกคน ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน moto GP สนามแรกของการแข่งขัน moto GP 2025 และเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้การต้อนรับ ดูแลนักท่องเที่ยว และแฟนmoto GP ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ที่เดินทางมาเยือนบุรีรัมย์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แฟน moto GP จำนวน 224,634 คนที่เข้ามาชมและเชียร์นักแข่งในดวงใจ ตลอด 3 วันที่ผ่านมา (28 ก.พ.- 2 มี.ค.) เป็นปรากฎการณ์ใหม่ของสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต และเป็นสถิติใหม่ของmotoGP สนามแรก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน มากกว่า 5,043 ล้านบาท ทั้งภายในจังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดอื่นๆ ที่มีนักท่องเที่ยว และแฟนๆ moto GP เดินทางไปท่องเที่ยวทั้งก่อนและหลังการแข่งขันเสร็จสิ้น

moto GP เป็นการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นรายการกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก เกือบ 1,000 ล้านคน จากการถ่ายทอดสดไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ประเทศไทย ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 22 สนามแข่งขันของโลก และ ปีนี้ ได้รับเกียรติให้เป็นสนามแรก เปิดการแข่งขัน moto GP2025 เป็นที่จับตาดูของแฟนๆ มากที่สุด เพราะเป็นสนามเปิดตัวนักแข่ง และรถแข่งของแต่ละทีมด้วย

ADVERTISMENT

ประเทศไทย จัดการแข่งขัน moto GP มา 7 ปีติดต่อกัน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้จัดการแข่งขัน ในนามของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของเจ้าของลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันที่ ต้องการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อความมั่นใจว่าสามารถจัดการแข่งขันได้เรียบร้อย และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ sport tourism ในขณะที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้ใช้สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต เป็นสนามแข่งขัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทุกปี และพร้อมให้การสนับสนุนตลอดไป หากรัฐบาลยังจัดการแข่งขันอยู่

รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และรายได้จากผู้สนับสนุนการแข่งขัน หรือ สปอนเซอร์ เป็นของรัฐบาล ทั้งหมด บริษัทบุรีรัมย์ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ในฐานะเจ้าของสนามช้างฯ ไม่มีรายได้ทางตรง จากการจัดการแข่งขัน และต้องเสียรายได้จากการส่งมอบสนามให้รัฐบาลใช้เตรียมการจัดการแข่งขันและแข่งขัน เป็นเวลา 1 เดือน (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท)

ADVERTISMENT

บริษัทฯ ได้รับรายได้ทางอ้อม และมีความพึงพอใจแล้ว คือ เงินหมุนเวียน และเงินสะพัดในจังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนคนบุรีรัมย์ ทำธุรกิจการค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก มีรายได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้นักท่องเที่ยว และแฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ตทั่วโลก รู้จักบุรีรัมย์ ซึ่งมีมูลค่าสูงสุด จากการได้รับเลือกให้เป็นสนามแข่งขัน moto GP เป็นรายได้ที่คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่งได้รับทราบอย่างเป็นทางการจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นข่าวเดียวกันกับที่แฟน moto GP ได้ยินมาก่อนหน้านี้ คือ รัฐบาล จะลงทุนจัดการแข่งขัน moto GP ปี 2026 เป็นปีสุดท้าย และจะไม่ต่อสัญญาจัดการแข่งขัน moto GP อีกแล้ว ซึ่งต้องยอมรับการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาล

แม้ว่าจะรู้สึกเสียดายอย่างมาก เพราะการจัดการแข่งขัน moto GP รัฐบาลลงทุน ปีละ ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีภาคเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุนอีกไม่น้อยกว่าปีละ 300 ล้านบาท แต่สร้างเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่า 5,000 ล้านบาท

แต่เมื่อรัฐบาล ตัดสินใจแล้ว สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ในฐานะผู้สนับสนุนรายหนึ่ง ก็ต้องยอมรับ และขอแจ้งให้แฟน moto GP ชาวไทย ได้ทราบว่า ปีหน้า จะเป็นปีสุดท้ายของ Thai GP หากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ รัฐบาล ไม่ทบทวนการตัดสินใจ และยังคงยืนยันที่จะไม่ต่อสัญญาจัดการแข่งขัน moto GP ในประเทศไทย

ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันสร้าง Thai GP ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปีหน้า พบกันใหม่ ที่ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ มาเชียร์ และ มาลา moto GP ด้วยกัน”

 

อยู่ระหว่างคุยต่อสัญญา-รัฐอยากได้รายการใหญ่ หนุนท่องเที่ยว

มติชน รายงานว่า ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ต้องขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วที่ร่วมกันจัดงานออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จทุกๆ ด้าน เป็นครั้งแรกที่มูลค่าทางเศรษฐกิจพุ่งขึ้นสูงแตะ 5,000 ล้านบาท

ส่วนจำนวนผู้ชมก็เกือบเท่าสถิติสนามเมื่อปี 2019 ที่เคยทำไว้ 226,000 คน โดยคราวนี้มีจำนวนผู้ชม 224,000 คนด้วยกัน รวมถึงจำนวนตัวเลขผู้ชมชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 52,000 คน มีการใช้จ่ายมากขึ้นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ และพอเป็นสนามแรก มีการจัดกิจกรรมที่ยาวขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ้นต์ เป็นตัวเลขที่น่าพอใจมากจริงๆ

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงสถานการณ์การต่อสัญญาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดในปี 2026 นั้น ดร.ก้องศักด กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในระหว่างการพูดคุย ซึ่งทางดอร์น่าเองก็ชื่นชมประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพว่าทำได้อย่างดีมาก ๆ เป็นหนึ่งในสนามที่ดีที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ส่วนทางรัฐบาลก็อยากให้มีการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ที่ส่งเสริมด้านกีฬาแล้วยังเสริมด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย ทาง กกท.ก็จะนำสถิติตัวเลขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้นำเสนอกับทางรัฐบาลที่จะเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป

“แน่นอนว่าการแข่งขันการเป็นเจ้าภาพสูงขึ้น หลายประเทศก็จ่อคิวรออยู่ ถ้าไทยไม่ตัดสินใจ ก็มีหลายประเทศรออยู่ ซึ่งทุกอย่างต้องชัดเจนก่อน 1 ปี เพราะดอร์น่าจะต้องจัดการเรื่องสนามให้ลงตัว ถ้าไทยไม่เป็นเจ้าภาพต่อดอร์น่าก็จะต้องไปคุยกับประเทศอื่นๆ แทน ซึ่งในเชิงปฏิบัติเราพร้อมอยู่แล้ว จากคำชมและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่ก็ต้องนำเสนอให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอีกที”

ดร.ก้องศักด กล่าวเสริมว่า ในการเจรจาเราได้มีการพูดคุยกับดอร์น่าว่าเราก็มีสนใจรายการอื่น ๆ อย่างเช่นรถยนต์สูตร 1 (เอฟวัน) อยู่ ดังนั้นเราตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ ต้องมีการพูดคุยเชิงนโยบายอยู่ แต่สำหรับโมโตจีพีเราได้เห็นนักบิดไทยอย่าง “ก้อง” สมเกียรติ จันทรา ลงแข่งขัน ซึ่งก็อาจจะมีคนที่ 2-3-4 ตามมาได้ถ้ายังได้เป็นเจ้าภาพต่อไป

“ถ้าจะจัดทั้งสองรายการ ในแง่งบประมาณก็ต้องให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญประเด็นนี้ ไม่อยากให้รัฐเป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียว อยากให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าได้เอฟวันเท่ากับจะไม่ต่อสัญญาโมโตจีพีหรือไม่ ผู้ว่าการกกท. กล่าวว่า อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะต้องเอาข้อมูลไปนำเสนอ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ เพราะตัวเลขมันดีขึ้น ดีกว่าก่อนยุคโควิดด้วย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

สำหรับการแข่งขันโมโตจีพี ประเทศไทยได้จัดมาตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะมีช่วงหยุดไม่ได้จัดการแข่งขันในปี 2020 และ 2021 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนั้นกลับมาจัดการแข่งขันในปี 2022 และสัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2026

ภาพจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย