โอซิล ลาทีมชาติ ผลของการเหยียด-แบ่งฝั่ง ที่ย้อนทำร้ายเยอรมัน

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ – เรื่อง

ควันหลงจากความเคลื่อนไหวในวงการกีฬาครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียปิดฉากลงหนีไม่พ้นแถลงการณ์ของเมซุต โอซิล เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเยอรมันซึ่งประกาศยุติบทบาทรับใช้ทีมอินทรีเหล็ก โดยร่ายเหตุผลยาวเกือบ 4 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงผลกระทบจากการเหยียดเชื้อชาติที่เขาต้องเผชิญ และรู้สึกไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร

เรื่องนี้ไม่เพียงกระทบกระเทือนลูกหนังอินทรีเหล็ก ดาวเตะจากสโมสรอาร์เซนอลในอังกฤษ เป็นหนึ่งในไอคอนฟุตบอลยุคใหม่ของเยอรมนี และยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่เติบโตมากับทีมยุคที่ฟุตบอลเมืองเบียร์เริ่มกลับมากู้ชื่อเสียงกลับคืนในปี 2010 จนมาได้แชมป์โลกปี 2014 แถลงการณ์ของโอซิล เหมือนมีดที่ผ่ากลางลูกหนังเยอรมันออกมาเป็น 2 ซีก

ด้วยประวัติที่มาที่ไปของโอซิล ซึ่งเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายเตอร์กิช พ่อและแม่มาจากตุรกี พวกเขาเติบโตที่เยอรมนีเช่นเดียวกับนักเตะวัย 29 ปีของสโมสรอาร์เซนอล

หลายเดือนที่ผ่านมา โอซิลเริ่มถูกวิจารณ์เรื่องฟอร์มในสนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งผนวกกับประเด็นภาพถ่ายคู่กับเรเซป เตย์ยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีก่อนหน้าฟุตบอลโลกเริ่มต้น

ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศไม่แข็งแรงมาหลายปี จากหลายเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองทับถมกัน ทำให้โอซิลตกที่นั่งลำบาก นอกจากถูกวิจารณ์และตั้งคำถามเรื่องความจงรักภักดีกับเยอรมันแล้ว ยังโดนแฟนบอลโห่ใส่ในเกมอุ่นเครื่องอีก

ความล้มเหลวของเยอรมัน ทีมที่เล่นฟุตบอลโลก 2018 ด้วยสถานะแชมป์เก่าแล้วดันตกรอบแรก ฟอร์มการเล่นแทบดูไม่ได้ ยิ่งทำให้โอซิลถูกวิจารณ์หนักข้อขึ้น จนกระทั่งหลังจบรายการ โอซิลคิดว่าเขาไม่สามารถทนรับการปฏิบัติแบบที่ไม่ให้ความเคารพ ถูกวิจารณ์จนเหมือนกับเขาเป็น “แพะ” ผู้รับผิดจากความล้มเหลวอีก

วาทะที่น่าสะเทือนใจแฟนบอลส่วนใหญ่คือประโยคที่ระบุในแถลงการณ์ว่า “ผมเป็นเยอรมัน เมื่อเราชนะ แต่ผมเป็นพวกผู้อพยพทันทีเมื่อเราแพ้” อาจไม่ใช่รูปประโยคที่ถูกเอ่ยครั้งแรก นักฟุตบอลมากมายที่ประสบปัญหาเรื่องเชื้อชาติเคยเอ่ยถึงมาก่อน กรณีของโอซิล ก็เป็นประโยคที่อธิบายความน้อยใจได้สะเทือนอารมณ์ไม่เป็นรองใคร

สิ่งที่ตามมาหลังช่วงโกลาหลจากเสียงวิจารณ์ คือสภาพบรรยากาศของฟุตบอลเยอรมนี เช่นเดียวกับสภาพสังคมที่แบ่งฝั่งถกเถียงกันเป็นสองฝ่าย ฟากนักการเมืองฝ่ายขวา และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดรับผู้อพยพในเยอรมนีก็วิจารณ์เมซุต โอซิล ว่าลืมสิ่งที่เออร์โดกัน

ผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 15 ปีทำให้ตุรกีดินแดนที่เป็นรากเหง้าของตระกูลเขาเปลี่ยนจากประเทศที่มีอิสรภาพ เป็นกลางทางศาสนา กลายเป็นแบบอำนาจนิยมไปแทน

สื่อเยอรมันบางแห่งวิจารณ์การกระทำของโอซิล ในฐานะบุคคลตัวอย่างที่มีอิทธิพลต่อเยาวชน โดยมองว่า นักกีฬาที่มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายไม่คงที่ ควรทราบว่าตัวเองสามารถหรือต้องการทำตามความคาดหวัง

เมื่อสวมเสื้อทีมชาติเยอรมันและมีพาสปอร์ตของประเทศได้หรือไม่ แน่นอนว่าการตัดสินใจของโอซิล บ่งบอกคำตอบของคำถามนี้ได้

ชาวเยอรมันและคนในวงการลูกหนังเมืองเบียร์ก็เห็นแตกต่างกัน อูลิ โฮเนส กับคาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิเก บุคคลอาวุโสและผู้บริหารระดับสูงของสโมสรบาเยิร์น มิวนิก ก็แสดงความคิดเห็นคนละทิศทาง แต่สำหรับฝั่งตุรกี ชัดเจนว่า ฮีโร่นักกีฬาของพวกเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลเตอร์กิช และสื่อฝั่งสนับสนุนรัฐบาลด้วย

แง่มุมหนึ่งที่คอลัมนิสต์ในยุโรปตั้งข้อสังเกตไว้ในประเด็นนี้คือ นักกีฬาที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยนอกเหนือจากเชื้อชาติของประเทศมหาอำนาจ มักถูกบีบให้ละทิ้งรากเหง้าของตัวเอง ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ คนในประเทศที่ได้สัญชาติก็มักโอบกอดพวกเขาเข้ามา แต่เมื่อล้มเหลวก็พร้อมดันให้คนเหล่านี้เป็นที่รับรู้ในฐานะเชื้อชาติทางเลือก

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลกกล่าวประโยคแบบเดียวกันนี้ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่ปารีส ค.ศ. 1922 ระบุว่า ถ้าทฤษฎีสัมพันธภาพได้รับการพิสูจน์ เยอรมันก็จะต้องเคลมว่าเขาเป็นคนเยอรมัน แต่ถ้าล้มเหลว เยอรมันก็จะบอกว่าเขาเป็นยิว

สังคมมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นแวดวงกีฬาหรือในวงการอื่น ตัดสินคนจากองค์ประกอบทางภูมิหลังเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าจะตัดสิน

ภายใต้ความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน และบริบทนี้เองเป็นส่วนหนึ่งของที่มาที่ไปของการ “เหยียด” บุคคลอื่น

ด้วยพื้นฐานแบบนี้ สถานะตัวตนที่ไหลลื่นของบุคคลที่มีเชื้อชาติหลากหลายอย่างโอซิล ยังตกเป็นเป้าหมายเสมอ และถ้าพิจารณาให้ดี โอกาสที่โอซิลจะหวนกลับมาเล่นให้ทีมชาติได้แทบไม่มีแล้ว หากผู้บริหารชุดเดิมยังทำหน้าที่อยู่


แม้ว่าโอซิลจะฟอร์มตกลงเรื่อย ๆ แต่โดยรวมแล้วยังเป็นนักเตะที่มีศักยภาพสูงอยู่ดี ฟอร์มเป็นเรื่องชั่วคราว แต่คลาสเป็นเรื่องยั่งยืน ยูโร 2020 และฟุตบอลโลก 2022 เท่ากับว่าเยอรมนีเสียโอกาสใช้งานนักเตะฝีเท้าเยี่ยมอีกคนโดยปริยาย