อิทธิพลอันน่าทึ่งของ “เลบรอน เจมส์” ย้ายทีม-สร้างโรงเรียนฟรี

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

เลบรอน เจมส์ เพิ่งสร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในอเมริกากันเกมส์ เมื่อดาวนักยัดห่วงย้ายจากคลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส มาร่วมทีมแอลเอ เลเกอร์ส ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ทีมสายตะวันออกจะถูกตั้งคำถามทันทีว่า เมื่อปราศจากดาวดัง พวกเขาจะต้องสัมผัสบรรยากาศเงียบเหงาหรือเปล่า คำตอบนี้อาจไม่ถึงกับแย่มากนัก หากไปดูสิ่งที่เลบรอนทำไว้ให้ในโอไฮโอ
 
หลังย้ายได้ไม่นาน เลบรอน ตกเป็นข่าวดังจากวีรกรรมสร้างโรงเรียนชื่อ “I Promise” ในเมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ ถิ่นเกิดของ “คิงเจมส์” โรงเรียนนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิการกุศลของเจมส์ และโรงเรียนของรัฐในย่านแอครอน รองรับนักเรียนได้ 240 คน รับนักเรียนที่ศึกษาในระดับชั้นเกรด 3-4 โรงเรียนแห่งนี้มอบโอกาสพิเศษให้กับเด็กที่ผ่านเกณฑ์ (ไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ที่เผยกว้าง ๆ คือ “กลุ่มด้อยโอกาส” ด้านต่าง ๆ) และนำมาคัดเลือกแบบสุ่ม
 
รายงานข่าวเผยว่า โรงเรียนมีแนวโน้มใช้งบประมาณรวม 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดการดำเนินงานใน 5 ปีที่จะถึงนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็มีมูลนิธิของเจมส์จัดการให้ โดยมีกลุ่มพันธมิตรร่วมสมทบทุนรวม 2 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
โรงเรียนในโปรเจ็กต์ของเลบรอน พิเศษตรงที่หลักสูตรกินเวลายาวกว่าปีการศึกษาทั่วไป เพื่อเอื้อสำหรับกลุ่มนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนรุ่นเดียวกัน และยังมีโปรแกรมพิเศษ
 
นอกเหนือจากการเรียนในวิชา ซึ่งหวังให้นักเรียนได้มีทักษะไปใช้แก้ปัญหาอื่นที่ต้องเผชิญนอกห้องเรียน นี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้โรงเรียนนี้ได้รับคำชื่นชมอีกหลายจุดจากประโยชน์ต่อผู้ปกครองและชุมชนด้วย
 
รายละเอียดเหล่านี้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ในวัยเด็กของเลบรอน เจมส์ ซึ่งเขาต้องขาดเรียนเป็นประจำ แต่ยังได้ครูหลายคนที่ช่วยดึงกลับมาเข้าโรงเรียนได้ทุกวัน
 
ช่วงเรียนระดับเกรด 5 และเป็นปีแรกที่เขาเริ่มเล่นบาสเกตบอล หรือสิ่งของอย่างจักรยาน เลบรอนเล่าว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เขาหลีกหนีสภาพแวดล้อมที่อันตรายในย่านใกล้ที่พักอาศัยของเขา แถมช่วยให้เปิดโลกกว้างมากขึ้น เล่าถึงตอนนี้น่าจะพอเดาได้ว่า นักเรียนทุกคนของโรงเรียนจะได้รับจักรยานไปด้วย
 
ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยชุมชนในระยะสั้น และระยะยาว (นักเรียนที่จบหลักสูตรและเรียนจบเทียบเท่ากับมัธยมปลายในไทย จะได้รับทุนเรียนในมหาวิทยาลัยแอครอนจนจบการศึกษา) สิ่งที่เลบรอนมอบให้ชุมชนและสังคมเป็นวงจรที่ทำให้เขาและคนในชุมชนได้ผลประโยชน์กลับมาทวีคูณหลายเท่า
 
อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเลบรอน ได้รับความสนใจตามไปพร้อมกัน ไนกี้เพิ่งเผยโฉมรองเท้ารุ่นที่ใช้ชื่อของเลบรอน เวอร์ชั่น 16 ออกมาให้ชมกัน ก่อนจะวางจำหน่ายในเดือนกันยายน ความสนใจก็ถูกรวมเข้าไปอยู่ในกระแสด้วย (ถึงเลบรอนจะมีสัญญามูลค่ามหาศาล ว่ากันว่า ตัวเลขรวมทะลุพันล้านเหรียญสหรัฐกับไนกี้ก่อนหน้านี้ก็ตามที) กระแสนี้ยังส่งผลดีต่อแบรนด์และธุรกิจรอบข้างตามไปด้วย
 
ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เลบรอน เจมส์ ทำการกุศลเพื่อภาพลักษณ์แค่อย่างเดียว ที่ผ่านมา เลบรอนเล่นกีฬาควบคู่กับภารกิจทางสังคมมาหลายปี มูลนิธิ “เลบรอน เจมส์ แฟมิลี” ใช้เงินปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วยเหลือเด็กประถมศึกษาในโอไฮโอ กลุ่มที่ประสบปัญหาจนเสี่ยงต่อการเรียนไม่จบ ให้มีโอกาสเรียนจนจบ และช่วยเหลือเยาวชนให้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
 
ซูเปอร์สตาร์ระดับเลบรอน สร้างแรงกระเพื่อมแทบทุกด้านในสถานที่ที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในด้านการกีฬาเท่านั้น (แม้ครั้งนี้หลายคนก็ยอมรับ
 
เลเกอร์ส อาจยังไม่สามารถรับสถานะทีมลุ้นแชมป์เต็มตัวทั้งที่ได้เลบรอน เจมส์) ขณะที่การย้ายมาร่วมทีมในแอลเอ ทำให้กลุ่มแฟนในไมอามีช็อกไปตาม ๆ กัน แต่สำหรับชาวฮอลลีวูด
 
ในแอลเอแล้ว เลบรอนคือมนุษย์ทองคำ ที่นำเงินและเศรษฐกิจที่ครึกครื้นตามไปถึงด้วยเสมอ และแน่นอนว่าฮอลลีวูดก็อาจเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่า เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักการตัดสินใจย้ายมาเพิ่มมากขึ้น
 
เลบรอนมีบริษัทด้านความบันเทิงและสายโปรดักชั่นที่ผลิตผลงานด้านกีฬา หรือดึงเลบรอนเข้าร่วมงานในธุรกิจบันเทิงทั้งซีรีส์, สารคดี และเกมโชว์ นอกเหนือจากสัญญาระยะเวลา
 
4 ปี ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 154 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ
 
5,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นมูลค่ามหาศาล สำหรับนักกีฬาที่มีรายได้ระดับนี้จำเป็นต้องบริหารด้านการเงินอย่างชาญฉลาด และเป็นที่รู้กันว่า การกุศลก็คือหนึ่งในรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงินที่กระจายผลประโยชน์สู่สาธารณะ
 
สิ่งที่เลบรอนให้ไว้ในถิ่นเกิดในรัฐโอไฮโอ ก็ยังเป็นเรื่องที่สะท้อนอิทธิพลของการสร้างบุคลากรอย่างนักกีฬาที่นอกเหนือจากเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้แล้ว ผลกระทบอย่างเป็น
 
รูปธรรมยังมีให้เห็นอย่างชัดเจน กรณีของเลบรอน เชื่อว่าการย้ายมาลงหลักในแอลเอ ผนวกกระแสเชิงบวกจากกิจกรรม จะช่วยสร้างงานใหม่ไม่ต่ำกว่า 2,500 ตำแหน่ง ตลอดระยะเวลาสัญญา 4-5 ปี มูลค่าของเศรษฐกิจในพื้นที่น่าจะพุ่งติดหลัก 396 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลองย้อนกลับไปเทียบมูลค่าสัญญา และงบฯสำหรับโรงเรียน)
 
มูลค่าของนักกีฬาในนิยามที่เป็นรูปธรรม ถ้าดูกรณีอย่างเลบรอน น่าจะข้ามพ้นไปมากกว่า “สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ” หรือ “สร้างฐานะ” จากความสำเร็จทางกีฬาไปแล้ว ระบบและโครงสร้างกีฬาที่เชื่อมโยงกับสาธารณะในโลกตะวันตก มักทำให้ทึ่งได้เสมอ