จะเกิดอะไรกับอาร์เซนอล หลังอำนาจการเงิน-การทำทีมเปลี่ยนมือ

ถึงเวลาที่คอลูกหนังจะกลับมาติดตามฤดูกาลปกติที่ดุเดือดอีกครั้งในช่วงกลางปีที่วงการกีฬากำลังเข้มข้น บรรดาสโมสรใหญ่ในยุโรปเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

โดยเฉพาะในปีเดียวกับที่มีฟุตบอลโลกฟาดแข้งด้วย ทีมแถวหน้าของโลกที่แฟนบอลคุ้นเคยต่างเสริมทัพหรือเปลี่ยนโฉมไปเพื่อสู้ศึกครั้งใหม่ แต่มีหนึ่งทีมที่อาจพูดได้ว่าเริ่มต้นยุคใหม่อย่างสมบูรณ์และน่าจับตาเป็นพิเศษ

ทีมแถวหน้าในยุโรปที่เปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารครั้งสำคัญในปีนี้ มีชื่ออาร์เซนอล จากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แน่นอน ปืนใหญ่แห่งลอนดอนมีกุนซือคนใหม่ คือ อูไน เอเมรี่ เข้ามารับช่วงต่อจาก อาร์แซน เวงเกอร์ ถือเป็นปีแรกที่อาร์เซนอล ต้อนรับกุนซือใหม่ในรอบกว่า 20 ปี

แต่สิ่งที่แฟนบอลซึ่งเพิ่งต้อนรับโค้ชใหม่อาจไม่ได้คาดไว้ว่าจะต้องรับมือความเปลี่ยนแปลงเพิ่มอีก คือ โครงสร้างผู้ถือครองทีมเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงต้นเดือนสิงหาคม สแตน โครเอ็นเก้ มหาเศรษฐีอเมริกันที่เคยถือหุ้นสโมสร 67 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของสโมสรเพียงผู้เดียว เรียกได้ว่าเขากลายเป็นเจ้าของทีมแบบเบ็ดเสร็จ หลัง อลิเชร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจจากรัสเซีย อีกหนึ่งผู้ถือหุ้นสัดส่วนรองมาจากโครเอ็นเก้ ยอมขายหุ้นสโมสรที่ถืออยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่าประมาณ 550 ล้านปอนด์

ดีลนี้ทำให้โครเอ็นเก้ ถือหุ้นสโมสรมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้มหาเศรษฐีรายนี้มีสิทธิบังคับให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือ (ส่วนใหญ่เป็นแฟนบอลในจำนวนประมาณหลักร้อย) ขายหุ้นให้ โดยโครเอ็นเก้เสนอราคาให้หุ้นละประมาณ 29,419.64 ปอนด์

ถ้าดีลสำเร็จลุล่วงถึงปลายทาง นั่นยังหมายความว่า โครเอ็นเก้จะถือครองหุ้นทั้งหมดของสโมสร และ “เขา” เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียว (ในนามบริษัทที่เขาบริหาร) แม้ในทางการบริหารธุรกิจทั่วไปจะมีสภาพแทบไม่ต่างจากช่วงที่เขาถือหุ้น 67 เปอร์เซ็นต์มากนัก

แต่สำหรับแฟนบอลนี่คือเรื่องน่าเศร้าช่วงกลางเดือนสิงหาคม รายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นในลอนดอนเปิดเผยว่า แฟนบอลที่ถือหุ้นสโมสรเริ่มได้รับจดหมายแจ้งเรื่องข้อเสนอให้ต้องขายหุ้นในมือมาส่งถึงหน้าประตูบ้านแล้ว แฟนบอลที่ถือไว้ 4 หุ้นจะได้เงินเข้ากระเป๋ามากถึง 117,678.56 ปอนด์ แต่ความเป็นจริง คือ “แฟนบอล” ส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ต้องการเงินจากข้อเสนอกึ่งบังคับขายนี้ (กลุ่มแฟนบอลเผยว่า ถึงไม่ยอมรับก็ได้เงินอยู่ดี แต่ใช้เวลาเป็นเดือน คนที่รับข้อเสนอแค่ 3 วันก็ได้เงินแล้ว) บางรายถือหุ้นภายในตระกูลรวมระยะเวลามากกว่า 100 ปี (สโมสรมีอายุรวม 132 ปี)

หุ้นในมือแฟนบอลหมายถึงปากเสียง และการตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจตัดสินใจและบริหารทีมผ่านโอกาสปีละครั้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสโมสร ในทางธุรกิจแล้วอาจไม่มีนัยสำคัญมากนัก แต่สำหรับแฟนบอลแล้ว หุ้นไม่ถึง 1 หุ้นก็มีค่าสำหรับความรู้สึกมีส่วนร่วมกับสโมสร ทั้งในทางปฏิบัติและแง่ความรู้สึกทางจิตใจ ขณะที่สภาพการถือหุ้นเบ็ดเสร็จ อาจหมายถึงปิดประตูที่ประชุมผู้ถือหุ้น และที่สำคัญคือการตั้งคำถาม และตรวจสอบการเงินของสโมสรก็ไม่อาจทักท้วงเรียกร้องคำตอบต่อหน้าได้ ผู้เป็นเจ้าของมีสิทธิทางการเงินไม่ว่าจะใช้ทีมเป็นหลักทรัพย์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจอื่น จ่ายเงินปันผลหรือค่าบริหารจัดการให้ตัวเองได้

สงครามแย่งชิงอำนาจในโครงสร้างสโมสรอาร์เซนอลที่คุกรุ่นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจบลงโดยชัยชนะของโครเอ็นเก้ ผู้ถือหุ้นสัดส่วนมากที่สุดแล้ว แต่ดูเหมือนว่าโครเอ็นเก้จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานและคำถามจากแฟนบอลอยู่ยิ่งชื่อเสียงของโครเอ็นเก้ไม่ค่อยดีนักในหมู่แฟนบอล จากวีรกรรมมาตรฐานตามลักษณะนักธุรกิจ นักลงทุนที่หวังผลกำไรสูงสุด โครเอ็นเก้เป็นเจ้าของทีมกีฬาหลายแห่งในสหรัฐ ทั้งในศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ และอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล เคยสร้างวีรกรรมย้ายถิ่นทีม “เซนต์หลุยส์ แรมส์” ไปอยู่ลอสแองเจลิส กลายเป็น “ลอสแองเจลิส แรมส์” มาแล้ว

ผลงานของอาร์เซนอลในนัดเปิดสนาม ที่โดนแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์เก่ากระซวกอีกครั้ง ตอกย้ำถึงระยะห่างระหว่างทีมที่ลงทุนมหาศาลกับสโมสรที่ต้องรักษาสภาพการเงินภายใต้การบริหารของนักลงทุนอเมริกัน ซึ่งยังไม่ค่อยแสดงอานุภาพครั้งใหญ่ให้แฟนบอลเห็น เมื่อเทียบกับทีมอย่างลิเวอร์พูล ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวอเมริกันด้วย

แถลงการณ์จากบริษัทของโครเอ็นเก้ ขีดเส้นใต้เป้าหมายของสโมสรชัดเจนว่าเล็งแชมป์พรีเมียร์ลีก และแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แต่ทุกคนที่ติดตามรู้ดีว่าการกระทำพิสูจน์ได้ดีกว่าคำพูด หรือตัวอักษรสวยหรู นี่คือสิ่งที่แฟนบอลกังวลมากไม่แพ้ผลงานของกุนซือใหม่

อาร์เซนอลออกสตาร์ตฤดูกาลใหม่ก็เจอก้างชิ้นใหญ่ลอยมาขวางทางเป็นอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ต่างจากยุคที่เวงเกอร์คุมทีม

ตอนนี้โครเอ็นเก้ก็เข้ามาบริหารโครงสร้างอย่างเต็มตัว เรียกได้ว่ามี 2 หัวเรือใหม่แบบสมบูรณ์ และไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า ทิศทางข้างหน้าจะดีร้ายอย่างไร

นี่คือยุคเปลี่ยนผ่านที่น่าจับตาของทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีก และยุโรป ปรากฏการณ์นี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจในทีมหัวตารางก็เป็นได้ แต่จะเปลี่ยนไปแบบเข้าทางปืน หรือคู่แข่ง คงต้องลุ้นกันอีกยาว