เปิดโลกนักกีฬาหญิงแกร่ง เผยตัวเป็น LGBT เปลี่ยนชีวิตอย่างไรบ้าง

นิลล่า ฟิสเชอร์ (ขวาสุด)
อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง
คนทั่วไปติดภาพกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่มาคู่กับเพศชาย ขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าในยุคหนึ่งผู้ปกครองนิยมส่งลูกชายไปเล่นอเมริกันฟุตบอล ขณะที่ลูกสาวก็ให้เล่น “ซอกเกอร์” (ตามศัพท์แบบวัฒนธรรมอเมริกัน) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่า “ฟุตบอล” นั่นเอง จนกระทั่งทศวรรษที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวและการผลักดันจากคนในวงการทำให้ฟุตบอลสำหรับเพศหญิงเริ่มเป็นที่สนใจและยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาคลาสสิกตามมาเช่นเดียวกันอย่างเรื่องเพศวิถี

รอบปีที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความเคลื่อนไหวด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เคสต่าง ๆ จากประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดในหลายแวดวงเปิดเผยออกมาจนคนทั่วไปพูดถึงในวงกว้าง สำหรับโลกกีฬาอาจไม่ได้มีเคสใหญ่เกิดขึ้นในกีฬากระแสหลัก แต่น่าสนใจว่า วงการกีฬาก็มีความเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน

ยิ่งช่วงปี 2017 เพิ่งผ่านฟุตบอลยูโรของฝั่งหญิงไปด้วย หลังจากนั้นสหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรปปล่อยงานจากแคมเปญชื่อ #WePlayStrong สร้างความรับรู้ต่อคนทั่วไปเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและการต่อสู้ของนักฟุตบอลหญิงแถวหน้าในวงการผ่านสารคดีสั้น 3 ตอน ว่าด้วยเรื่องราวภูมิหลังทางสังคมจนถึงเรื่องชีวิตนักกีฬาฟุตบอลที่นอกจากจะแตกต่างจากภาพลักษณ์ของนักฟุตบอลในภาพจำของคนทั่วไปแล้ว พวกเธอจะรับมือกับการเปิดเผยรสนิยมทางเพศอย่างไร

นิลล่า ฟิสเชอร์ นักเตะสาวทีมชาติสวีเดนชุดเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศยูโร 2017 และกัปตันทีมของสโมสรโวล์ฟสบวร์ก ในเยอรมนี คืออีกหนึ่งนักเตะหญิงที่ย้ำจุดยืนและให้สัมภาษณ์กับสื่อตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดยตอบคำถามเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเองแบบไม่ได้ปิดบัง และไม่ได้เจตนาว่าจะเปิดเผยตัวเอง การพูดคุยกับสื่อของเธอคือการตอบคำถามแบบปกติทั่วไป ซึ่งเธอไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมมากขนาดนี้ แต่บทสัมภาษณ์นั้นควบคู่กับการเคลื่อนไหวและเสียงของเธอน่าจะทำให้กองหลังสวีดิชวัย 34 ปี เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ดังที่สุดในหมู่นักกีฬากลุ่ม LGBT ในยุคนี้

ความเคลื่อนไหวที่ยิ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จัก ไม่เพียงแค่เธอมีคู่รักเพศเดียวกันแบบเปิดเผย แต่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้สาธารณะหันมามองมากขึ้นคือช่วงที่เธอสวมปลอกแขนสีรุ้ง (สีแทนสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ลงแข่งในเกมลีกเมื่อต้นปี 2017 ซึ่งไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน ช่วงแรกสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันสงวนท่าทีซึ่งทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่เต็มใจจะยอมรับความเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่าไหร่นัก และเป็นอีกครั้งที่เธอต้องผลักดันประเด็นนี้ (ในเกมทีมชาติทำไม่ได้เพราะติดขัดตัวระเบียบจากยูฟ่า)

เสียงตอบรับจากต้นสังกัดและคนในโลกกีฬาออกมาค่อนไปในเชิงบวก เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนเรื่องทั่วไปที่มีสองด้าน มีบวกก็ต้องมีลบ นิลล่าเจอข้อความขู่ฆ่าส่งมาในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงจังหรือเรื่องหยอกเล่น นิลล่าเล่าว่า ความคิดเห็นที่รุนแรงและล่วงเกินเป็นสิ่งที่คนอื่นในทีมเผชิญเสมอ และในฐานะคนที่ถูกยกให้เป็นหัวหอกของขบวน เธอระบุว่า สิ่งที่เธอทำคือต้องเข้มแข็งและเดินไปข้างหน้า

นิลล่าอยู่ร่วมกับภรรยาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งแม้จะย้ำจุดยืน เคลื่อนไหว และทำงานด้านต่าง ๆ แต่นิลล่ายังเชื่อว่า นักฟุตบอลหญิงไม่มีวันจะยืนในสถานะเดียวกับที่นักฟุตบอลชายไปถึง แคมเปญที่พวกเธออยากทำมีอย่างเรื่องรณรงค์ “ยุติเหยียดเพศ” ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะรอดระเบียบของยูฟ่าได้

แม้ว่ายูฟ่าหรือองค์กรฟุตบอลระดับโลกเคยมีแคมเปญรณรงค์ยุติการเหยียดเชื้อชาติในกีฬาลูกหนังก็ตาม ซึ่งนักเตะสาวงงว่าแคมเปญยุติเหยียดผิวก็ยังมีได้ ทั้งที่ในบางแง่มุมก็อาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้บ้าง

ถ้าเหลียวกลับไปมองฝั่งชาย อาจมีไม่กี่คนนักที่แฟนบอลส่วนใหญ่รับรู้ว่าพวกเขาแต่งงานกับเพศเดียวกัน แต่สำหรับนักฟุตบอลหญิง นิลล่าไม่ได้เป็นแข้งหญิงรายเดียวที่เปิดเผยเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของตัวเอง อีกหนึ่งนักเตะแถวหน้าอย่าง แอ็บบี้ วอมบัค กองหน้าทีมชาติสหรัฐอเมริกาชุดแชมป์โลกก็แต่งงานครั้งแรกกับเพื่อนร่วมทีมและคู่รักที่คบกันมานานเมื่อปี 2013 หัวหอกอเมริกันไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องปกปิดชีวิตส่วนตัวเหมือนกับคนอื่นหรือแม้แต่ฝ่ายนักฟุตบอลชาย ต่อมาเธอแต่งงานครั้งที่สองกับบล็อกเกอร์รายหนึ่ง

ไม่เพียงแค่นักกีฬาหญิงรุ่นใหม่ที่กล้ายืนหยัดสำหรับสิทธิของตัวเอง ก่อนหน้านี้ โลกกีฬามี บิลลี่ จีน คิง ตำนานนักเทนนิสหญิงเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 39 ครั้ง และผู้ก่อตั้งดับเบิลยูทีเอ องค์การบริหารจัดการแข่งของเทนนิสหญิง เธอเคยเอาชนะนักเทนนิสชายในแมตช์พิเศษมาแล้วด้วย และน่าจะเป็นนักกีฬาไม่กี่คนที่แต่งงานกับผู้ชาย ก่อนจะหันมาคบกับผู้หญิง ซึ่งเธอนิยามตัวเองว่า เป็นไบเซ็กชวล และน่าจะเป็นคนดังเพศหญิงคนแรก ๆ ซึ่งเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองต่อสาธารณะ

เป็นที่รู้กันว่า การต่อสู้และประสบการณ์ของนักกีฬารุ่นก่อนเหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยจุดประกายให้รุ่นต่อไปได้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในเชิงความเท่าเทียมทางรายได้ โอกาส การยอมรับ การปฏิบัติซึ่งเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะว่าไปแล้ว กีฬาคงไม่ใช่แค่ความบันเทิงหรือความเป็นเลิศทางร่างกาย แต่บริบทเชิงลึกลงไปก็อาจคล้ายโลกในกระจกเงาที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของแต่ละยุคด้วย