หลังฉาก โมโตจีพี บุรีรัมย์ บทเรียนจากครั้งแรกที่สำเร็จเกินหวัง

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ปฏิเสธได้ยากว่าผลลัพธ์ของ “โมโตจีพี” ศึกรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกครั้งแรกในไทยที่ออกมา “สำเร็จ” เกินคาดนั้นอยู่บนรากฐานหลายส่วน ไม่ว่าจะมีหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ามาสนับสนุนอย่างไร หรือช่วงเวลาที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแค่ไหน คงต้องยอมรับว่าเนวิน ชิดชอบ ผู้กว้างขวางแห่งบุรีรัมย์มีส่วนสำคัญในภารกิจครั้งนี้

ถ้าตัดเรื่องทางการเมืองออกไปพักก่อน “เมืองกีฬา” ของบุรีรัมย์พิสูจน์ความสำเร็จอีกครั้งในศึกโมโตจีพีครั้งแรกของประเทศไทย งานครั้งนี้ได้รับความสนใจตั้งแต่ช่วงวินเทอร์เทสต์เมื่อต้นปี มาจนถึงกระแสไวรัลจังหวะพอเหมาะกับภาพมาร์ก มาร์เกซ ที่เหมือนกับถูกตำรวจปรับก่อนหน้าโปรแกรมแข่ง ซึ่งทีมงานปล่อยออกมาเรียกกระแสโปรโมต “พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018” ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

ตัวเลขผู้ชมที่ดอร์นา สปอร์ตส ผู้ถือลิขสิทธ์รายการโมโตจีพี เปิดเผยในสนามที่บุรีรัมย์ตลอด 3 วันช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมรวมกันแล้วมากถึง 2 แสนราย เป็นสถิติสนามซึ่งมีผู้ชมมากที่สุดในปีนี้หลังผ่านมา 15 สนาม น่าสนใจว่าผู้ชมประมาณร้อยละ 25-30 เป็นชาวต่างชาติ

เม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดไปจนถึงจังหวัดข้างเคียงถูกมองว่าสะพัดไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับตัวเลขต้นทุนจัดแข่งโดยรวมแล้วประมาณ 400 ล้านบาท สัญญาที่ตกลงกันคือระยะเวลา 3 ปี รัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนให้ปีละ 100 ล้านบาท ถ้าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนได้ใกล้เคียงความเป็นจริงน่าจะถือว่าสร้างประโยชน์ต่อประเทศหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดน่าจะเป็นผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ซึ่งน่าจะรองรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติซึ่งมาชมการแข่งครั้งประวัติศาสตร์ครั้งแรกในไทย

สื่อหลายแห่งอ้างอิงข้อมูลที่ คาร์เมโล เอซเปเลตา ผู้บริหารของดอร์นา สปอร์ตส ถึงกับเอ่ยปากชมกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทยว่าเป็นสนามที่บุรีรัมย์จัดแข่งได้ดีที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบ 27 ปี ซึ่งเครือดอร์นา สปอร์ตส จัดการแข่งกันมาตลอด

แต่ท่ามกลางเสียงชื่นชมก็ยังมีมุมลบบางอย่างอยู่ เมื่อความต้องการเข้าชมมีมาก การดูแลอาจไม่ทั่วถึงจนทำให้เกิดเคสประสบการณ์ของแฟนกีฬาต่างชาติซึ่งพบว่าไม่ได้รับบริการอย่างเหมาะสม หรือเจอลำดับขั้นตอนก่อนเข้าสู่การแข่งที่อาจขัดใจและไม่ตรงกับวัฒนธรรมการชมกีฬาที่พวกเขาคุ้นเคย

ปฏิกิริยาเหล่านี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายใหญ่แห่งสนามและสโมสรฟุตบอลเจ้าของแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศปีล่าสุดซึ่งยอมรับเช่นกันว่า ถึงภาพรวมกระแสการแข่งปีนี้ได้รับความนิยมแบบทะลุเพดาน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีจุดที่บกพร่องอีกมากหลังจากถูกยิงคำถาม และมองว่าควรเพิ่มเพดานรองรับผู้ชมให้มากขึ้นไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องใส่ตัวเลขเพิ่มไปด้วย

เช่นเดียวกับที่เอ่ยไปข้างต้นแล้ว หากยกเรื่องวีรกรรมทางการเมืองทั้งหลายออกก่อน ข้อมูลและการตอบรับจากนายใหญ่ที่ดูแลสนามแข่งขันรายการระดับโลกขนาดนี้ กับคำพูดยอมรับเรื่องจุดบกพร่องที่ต้องนำไปปรับปรุงในปีต่อไป ก็พอจะสะท้อนได้ว่าทำไมทีมกีฬาและเมืองกีฬาแบบบุรีรัมย์จึงเปลี่ยนไปมากอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากเมืองที่ติดขัดเรื่องความแห้งแล้งกลายเป็นเมืองกีฬาที่มีชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตา

ขณะที่ภาครัฐพยายามหยิบยกข้อมูลเชิงบวก พูดถึงความสำเร็จต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจจริง ความสำเร็จ

จากการเข้าชม ตัวเลขนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินที่แพร่สะพัด อย่างไรก็ตาม หากมองเบื้องลึกลงไปแล้วสภาพแวดล้อมในเมืองทั่วไป หรือในสังคม มุมมองของชาวต่างชาติที่เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศสังคมแบบ “ไทย ๆ” ถ้าโชคดีก็อาจไม่เจอเซอร์ไพรส์แบบชวนช็อกมากนัก แต่ถ้าโชคไม่ดีก็อาจเจอ

ประสบการณ์ที่นักบิดอย่าง สกอตต์ เรดดิ้ง จากอังกฤษเจอพฤติกรรมขับขี่บนทางเท้า หรือจอดรถจักรยานยนต์ทับทางม้าลายขณะติดไฟแดง ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำที่ต่างชาติติดในหัวมานานแล้ว ภาพที่เรดดิ้ง

พบเห็นและโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์คงไม่ได้กระทบกระเทือนความนิยมในการแข่งมากนัก แต่ถ้าจะบอกว่ารายการแข่งขันช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไปเสียหมดก็อาจไม่เชิงแบบเต็มปากเต็มคำนัก

รถอีแต๋นที่แปลงเป็น “ชัตเติลแต๋น” ไว้รับส่งผู้ชมการแข่งขันนับว่าเป็นกิมมิกที่น่าสนใจ เน้นย้ำเอกลักษณ์ สร้างความประทับใจและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่สามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึง รวมถึงเข้มงวดเรื่องระเบียบทางสังคมและกฎหมายอย่างจริงจัง ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจากกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบไหนก็ตาม จะใช้โปรโมตหรือลงทุนมากน้อยแค่ไหน แต่ในระยะยาวก็เสี่ยงมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนหากแก้จุดบกพร่องไม่ครบถ้วน

ถ้างบประมาณ 400 ล้านบาทสำหรับจัดแข่งโมโตจีพี ทำให้เงินสะพัดได้มหาศาลต่อยอดไปในตลาดกลุ่มกีฬาประชันความเร็วที่มีฐานแฟนเหนียวแน่นได้ หรือสร้างรายได้ให้ประเทศจากการท่องเที่ยว งบประมาณหลักพันล้านบาทต่อปีสำหรับจัดแข่งฟอร์มูล่า วันก็อาจพอนำมาพิจารณาบนโต๊ะได้บ้างในอนาคต เมื่อแก้จุดบกพร่องต่าง ๆ จากการจัดงานครั้งแรกที่ถือว่าเป็นการประเดิมเปิดตัวไป ครั้งที่ 2 คงไม่สามารถใช้ข้อกล่าวอ้างเรื่องมือใหม่ได้แบบมีน้ำหนักมากนัก