“เหยียดผิว” ในบอลอังกฤษ ปัญหาล่องหนที่ส่งผลใหญ่โต

ภาพเหตุการณ์ที่ราฮีม สเตอร์ลิง แนวรุกทีมชาติอังกฤษของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกแฟนบอลเชลซีตะโกนเหยียดผิวใส่ในเกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อต้นเดือนธันวาคม เหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคอบอลในไทย แต่สำหรับดินแดนแห่งลูกหนังอย่างอังกฤษ เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่โตที่ทำให้เกิดประเด็นควันหลง พร้อมกับเปิดหัวข้อสนทนาเกี่ยวกับปัญหาเรื้อรังนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังอีกหน

จอห์น บาร์นส อดีตดาวเตะทีมชาติอังกฤษ ที่ผ่านประสบการณ์ลักษณะนี้อย่างโชกโชนมาก่อนตั้งแต่ปลายยุค 80 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่ถูกรณรงค์ในวงการฟุตบอลยุโรปอย่างถี่ยิบในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ ตำนานนักเตะลิเวอร์พูลเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดอะ การ์เดียน เปรียบเทียบการรับมือ “การเหยียดผิว-เชื้อชาติ” ที่เป็นอยู่กับไข้หวัด

สิ่งที่คนส่วนใหญ่กำลังทำอยู่คือ การพยายามเช็กและแก้ที่อาการ แต่ไม่ได้ดูที่ต้นเหตุของอาการ และไม่ใช่เฉพาะฟุตบอลอังกฤษเท่านั้นที่เจอเรื่องเหยียดผิว ลีกระดับท็อปของยุโรปต่างประสบปัญหานี้เช่นเดียวกับสังคมตะวันตก

ศาสตราจารย์ เอลลิส แคชมอร์ นักสังคมวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลจากมหาวิทยาลัยแอสตัน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี มองว่า แม้ตัวเลขสถิติการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลยังไม่คงที่ บางช่วงลดลง บางช่วงเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถ้ามองในสถิติรอบทศวรรษหลังนี้ก็ดูมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหากเทียบกับสถิติและสถานการณ์ในยุค 80 ยุคที่จอห์น บาร์นส ค้าแข้งอยู่

ความเปลี่ยนแปลงในฟุตบอลอังกฤษยุค 90 ที่นักเตะต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายแอฟริกันมีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จในสโมสรระดับท็อป ฉะนั้น ปัญหาเรื่องการเหยียดผิวจึงเริ่มจางลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ในยุค 2000s ปัญหานี้เริ่มถูกพบเห็นและถูกพูดถึงมากขึ้น การสำรวจสอบถามแฟนบอลเมื่อปี 2014 พบว่า กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งพบเห็นการเหยียดผิวรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในฟุตบอลอังกฤษ

อิทธิพลส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับและบันทึกเหตุการณ์ได้ชัดเจน ประกอบกับอิทธิพลของสื่อที่อยู่ในโลกแอนะล็อกและดิจิทัล นักวิชาการที่ศึกษาปัญหานี้ในฟุตบอลอังกฤษ มองว่า คดีที่หลุยส์ ซัวเรซ หัวหอกอุรุกวัยสมัยเล่นให้ลิเวอร์พูล เคยเหยียดผิวปาทริซ เอฟร่า แบ็กซ้ายแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2011 จนโดนแบน 8 เกม เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นักเตะรู้สึกว่า ตัวเองมีสิทธิ์บอกเล่าปัญหาเรื่องการถูกเหยียดผิวได้

หากมองออกมากว้างกว่านั้น ช่วงเวลานั้นอาจมีสิ่งที่สำคัญ คือ อิทธิพลทางสังคมในช่วงที่เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทั้งแง่ชนชั้น เพศ และเชื้อชาติ เป็นหัวข้อที่กำลังเป็นที่ถกเถียงและเคลื่อนไหวกันมากที่สุดยุคหนึ่งก็ว่าได้

สำหรับวงการลูกหนัง (โดยเฉพาะอังกฤษ) ที่เรื่องราวของราฮีม สเตอร์ลิง ขยายวงกว้างเป็นเรื่องใหญ่โต ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการนำเสนอของสื่อเองด้วย สื่อแทบลอยด์อังกฤษขึ้นชื่อเรื่องการสร้างกระแสอยู่แล้ว กรณีของราฮีม

นักเตะซึ่งเคยถูกสื่อหยิบข้อมูลส่วนตัวมารายงานเชิงซุบซิบโดยใช้คำที่แรงพอสมควร ก็ทำให้สเตอร์ลิงวิจารณ์สื่อมาก่อนแล้ว เมื่อสื่อแทบลอยด์อังกฤษหยิบเรื่องนักเตะผิวดำมาเล่นเรื่องเหตุเหยียดผิวในสนาม ก็ถูกวิจารณ์เรื่องการนำเสนอแง่มุมคนผิวสีอีกรอบ

สเตอร์ลิงมองว่า สื่อ (แท็บลอยด์) เองก็เป็นตัวสุมเชื้อเพลิงให้กับการเหยียดผิวผ่านรูปแบบการนำเสนอคอลัมนิสต์หลายราย ก็หันกลับมาวิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อ ซึ่งนำเสนอภาพลักษณ์เชิงลบของกลุ่มคนผิวสีจนกลายเป็นภาพจำต่อมาด้วยเช่นกัน การผลิตซ้ำของสื่อปลูกฝังความเชื่อบางอย่าง และมักเน้นย้ำถึงความเหนือกว่าของคนผิวขาว ภาวะที่ถูกนำเสนอซ้ำไปซ้ำมาแทบจะปลูกฝังแนวคิดจนการเหยียดเชื้อชาติ กลายเป็นเรื่องที่แฝงฝังอยู่ในสังคมทั่วไป โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงปัญหาที่มีอยู่

จอห์น บาร์นส เชื่อว่า ฟุตบอล (อังกฤษ) ช่วงที่สังคมยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้ง สภาพตึงเครียด คนมักพยายามหาทางแสดงว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น เช่นเดียวกับกลุ่มชนชั้นนำ หรือสื่อที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคม

แม้มีองค์กรเข้ามาทำงานและองค์กรลูกหนังอย่างสมาคมฟุตบอลก็แสดงท่าทีว่าจริงจังมากขึ้น กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาสนับสนุนการดำเนินคดีลงโทษผู้กระทำผิด (ทางการสั่งห้ามเข้าสนามได้) สถิติที่แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์เหยียดผิวในฟุตบอลลดลงนั้นก็เป็นเรื่องจริง

ข้อสังเกตที่น่าคิดของจอห์น บาร์นส ว่า ถ้าคนที่เป็นพวกเหยียดผิวในสนามฟุตบอลไม่มีใครตะโกนอะไรใส่นักเตะ ความเป็นจริงแล้วในสนามก็ยังมีพวกเหยียดผิวอยู่ดี หมายความว่า เรื่องการ “เหยียด” เป็นทัศนคติที่ฝังลงลึกในตัวบุคคล ถึงไม่แสดงออกแต่ภายในลึก ๆ หากอยู่นอกสนามก็ยังเป็นคนเหยียดผิว ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ถูกสำรวจในงานวิจัยเมื่อปี 2014 ว่า

คนที่สัมผัสฟุตบอลจริงจะรู้ว่าการเหยียดผิวลดลง แต่ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ คำถามที่สำคัญคือ จะแก้ที่ต้นเหตุของอาการได้หรือไม่ และอย่างไร