2018 ปีแห่งจุดเปลี่ยนของ กัญชา ในวงการกีฬาโลก

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

 

สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ฮือฮาในช่วงปลายปีมีเรื่องนโยบายกัญชารวมอยู่ด้วย ถึงจะมีสัญญาณให้ได้รับรู้กันมาบ้างตั้งแต่ช่วงกลางปีแล้ว ข่าวในไทยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนคงเห็นทิศทางในอนาคตกันบ้างเมื่อนโยบายเกี่ยวกับกัญชากำลังถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ขณะที่หลายชาติรอบโลกหรือแม้แต่วงการกีฬาก็หันมาสนใจเรื่องกัญชากันมาสักพักแล้ว

เมื่อเวลาผ่านไปวิทยาการและงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาก็มีมากขึ้น ทำให้องค์กรด้านสุขภาพระดับโลกหรือหน่วยงานในระดับประเทศมหาอำนาจเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบาย

องค์กรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADA ก็เพิ่งถอดสาร CBD (Cannabidiol) หนึ่งในสาร 2 ชนิดหลักในกัญชาออกจากลิสต์สารต้องห้ามเมื่อเดือนมกราคมปี 2018 หมายความว่านักกีฬาที่ใช้สาร CBD แบบบริสุทธิ์ทั้งระหว่างแข่งหรือนอกช่วงแข่งขันจะไม่ถือว่าละเมิดกฎ

เป็นที่รู้กันว่าสาร 2 ชนิดหลักในกัญชา นอกเหนือจาก CBD แล้ว สารอีกตัวคือ THC (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เป็นตัวที่ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังมีข้อมูลว่าเป็นสารที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตประสาทและทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ

แต่สำหรับ CBD องค์การอนามัยโลกอธิบายว่า เป็นสารที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายและยังไม่พบว่าส่งผลข้างเคียงต่อผู้รับสารอย่างรุนแรง โดยบางพื้นที่อย่างเช่น สหราชอาณาจักร จัดให้สาร CBD ไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่กัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมายอยู่

ภาพสะท้อนเหล่านี้เป็นสถานการณ์พื้นฐานวงกว้างของโลกกีฬาที่ยังมองกัญชาโดยรวมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะที่องค์ประกอบในกัญชาบางแห่งก็นิยามว่าไม่ผิดกฎหมายกันแล้ว อย่างไรก็ตาม กัญชาในวงการกีฬาเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกันมากกว่าที่คนทั่วไปคิดว่า นักกีฬาที่เสพกัญชาจะต้องถูกลงโทษ

ข้อมูลจากองค์การต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลกที่ควบคุมพฤติกรรมของนักกีฬาที่ลงแข่งในกีฬากระแสหลักหลายประเภทเปิดเผยผลการศึกษาเมื่อปี 2015 ว่า ตัวอย่างที่เก็บจากนักกีฬาทั่วโลกประมาณ 3 แสนราย ผลการตรวจพบสารที่เป็นองค์ประกอบของกัญชาในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4 และหลายคนเคยเดือดร้อนเพราะถูกจับได้ว่าเสพกัญชา

นักกีฬาระดับโลกอย่างไมเคิล เฟลป์ส ฉลามหนุ่มชาวอเมริกันที่กวาดเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ได้มากที่สุดเคยถูกแบน 3 เดือนจากการใช้กัญชา หรือรอส เรบากลิอาติ นักกีฬาสโนว์บอร์ดทีมชาติแคนาดา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1998 ถูกปรับ

ให้หมดสิทธิ์จากการแข่ง เมื่อผลตรวจเลือดพบว่าเขาเสพกัญชา แต่สุดท้ายยังได้รับเหรียญเนื่องจากกัญชาไม่ได้อยู่ในสารต้องห้ามของโอลิมปิก

หรือกรณีล่าสุดที่ ไมก์ ไทสัน นักชกเฮฟวีเวตออกมายอมรับว่า เขาเสพกัญชาก่อนขึ้นชกกับแอนดรูว์ โกโลตา เมื่อปี 2000 แค่ไม่กี่ชั่วโมง ไฟต์นั้นไทสันน็อกคู่ชกลงได้แต่ก็ถูกตั้งข้อหาโด๊ป โดนปรับเงิน 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนผลการแข่งขัน ไทสัน ยอมรับเสมอมาว่าเขาใช้กัญชามาตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังหนุนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเปิดเผย แต่การเสพกัญชาก่อนแข่งขันก็ไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไปสำหรับนักกีฬา ซึ่งไทสันยอมรับว่าเป็นครั้งเดียวที่เขาเสพก่อนขึ้นชกไม่กี่ชั่วโมง เมื่อ WADA เปิดเผยชัดเจนว่า นักกีฬาสามารถใช้สาร CBD ได้

การประกาศครั้งนี้คือการพลิกเกมในโลกวิทยาศาสตร์การกีฬาครั้งสำคัญ (หรืออาจเป็นสังคมทั่วไปด้วย) ก็ว่าได้ นักกีฬาที่เชื่อในศักยภาพและประโยชน์ของสารนี้ก็ยิ่งออกมาสนับสนุนและเดินเครื่องด้วยเรื่องธุรกิจ ในเมื่อองค์การต่อต้านสารกระตุ้นโลกก็ยืนยันว่าสารนี้ไม่ใช่การโด๊ป

ไม่นานนักผลิตภัณฑ์ที่มีสาร CBD กลายเป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬา รายงานข่าวจากบีบีซีที่เผยแพร่ช่วงปลายปี 2018 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กลุ่มนักรักบี้ในสหราชอาณาจักรนิยมใช้น้ำมันที่มีสารองค์ประกอบของกัญชาแทนยาแก้ปวดแก้อักเสบอันเป็นผลจากการปะทะในเกม จนโดมินิก เดย์ และ จอร์จ ครูส์ นักรักบี้ทีมดังเปิดธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันกัญชา ซึ่งหากดูเกมแล้วอาจไม่แปลกใจที่นักรักบี้บางรายเล่าว่าพวกเขาเคยต้องทานยาแก้อักเสบแก้ปวด 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อช่วยให้ลงเล่นได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม WADA เตือนว่า แม้ CBD ไม่ได้เข้าข่ายสารต้องห้ามแล้ว แต่การใช้สารองค์ประกอบของกัญชายังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากการสกัด CBD บริสุทธิ์จากกัญชาเป็นเรื่องที่ยากมาก ผลิตภัณฑ์อย่างน้ำมัน CBD หรืออื่น ๆ เสี่ยงที่จะปนเปื้อนสารประกอบอื่นในกัญชา รวมไปถึง THC และสารอีกมากมายที่พบในกัญชาซึ่งยังเป็นสารต้องห้ามสำหรับนักกีฬาที่ลงแข่งขัน องค์กรเตือนให้ใช้อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง

จริงอยู่ว่าวิทยาการที่ก้าวหน้ามากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากใช้คำแบบตรงไปตรงมา สภาพในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าสารเหล่านี้ไม่มีผลข้างเคียง แต่นิยามที่องค์กรต้านโด๊ปของสหรัฐ (USADA) ใช้คือ ข้อมูลที่มีในปัจจุบันมีไม่มากพอที่จะบ่งชี้เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สาร CBD ซึ่งทำให้มองได้โดยรวมว่าก็ยังพอบอกได้ให้ใช้กันได้อยู่ และยังต้องรอดูผลการศึกษาวิจัยที่จะช่วยบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนในอนาคต