2 ปัจจัยส่งโปรสาวไทยประสบความสำเร็จในกอล์ฟโลก

ปัจจุบันนักกอล์ฟหญิงไทยก้าวไปประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติมากมาย ทั้งระดับสมัครเล่นและอาชีพโดยเฉพาะในแอลพีจีเอทัวร์ ที่มีพี่น้องโมรียากับเอรียา จุฑานุกาล และเพื่อน ๆ สาวไทยหลายคนไปสร้างชื่อเสียง “โปรไทย” ในวงการกอล์ฟโลก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักกอล์ฟไทยก้าวไปถึงจุดนี้ได้นั้นมีหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่มีผลต่อความนิยมกีฬากอล์ฟในไทยและมีผลต่อความสำเร็จของนักกอล์ฟหญิงไทย มีอยู่ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

1.ความสำเร็จของรุ่นพี่สร้างแรงบันดาลใจรุ่นน้อง

กอล์ฟอาชีพหญิงไทยเริ่มมาหลายสิบปีแล้ว แต่มาเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูมากในยุค “โปรอุ๋ย” วิรดา โกมุทบุตร (นิราพาธพงศ์พร) มาสู่ “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ และคาบเกี่ยวกับโมรียา และเอรียา จุฑานุกาล สองโปรพี่น้อง และคนอื่น ๆตามเข้าไปนับสิบคน โดยนักกอล์ฟสาวไทยคว้าแชมป์รวมไปแล้ว 12 รายการ

เอรียา เป็นนักกอล์ฟไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยก้าวไปคว้าแชมป์ 10 รายการในแอลพีจีเอทัวร์ ในจำนวนนั้นเป็นแชมป์เมเจอร์ 2 รายการ ส่วนโมรียา จุฑานุกาล และ ธิฎาภา สุวัณณะปุระ คว้ามาได้คนละ 1 รายการ

หลังจากที่มีนักกอล์ฟไทยหลายคนเข้าไปเล่นในแอลพีจีเอทัวร์ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักกอล์ฟรุ่นหลังพยายามก้าวตามรุ่นพี่ ๆ เข้าสู่วงการ

2.แอลพีจีเอทัวร์มาจัดการแข่งขันในไทย

ความสนใจกอล์ฟสตรีในเมืองไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อแอลพีจีเอทัวร์เข้ามาจัดการแข่งขันแอลพีจีเอในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2006 คือ รายการฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ กลายเป็นกระแสแรงบันดาลใจ

ให้มีนักกอล์ฟสตรีเพิ่มมากขึ้น และทัวร์กอล์ฟอาชีพของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน จึงพัฒนาทัวร์ในประเทศให้นักกอล์ฟได้แข่งขันเป็นอาชีพอย่างเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง ครบ 10 ปีแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนากอล์ฟอาชีพสตรีในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว และดีขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะมีรายการแอลพีจีเอทัวร์เข้ามาจัดในประเทศไทย เยาวชนได้ชมได้สัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด และได้เรียนรู้การเล่นของเหล่ายอดโปรสาวระดับโลก รวมถึงนักกอล์ฟรุ่นใหม่ได้โอกาสเข้าร่วมแข่งขันด้วย

การพัฒนากอล์ฟอาชีพสตรีไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วและดีเยี่ยม ในแต่ละปีมีจัดการแข่งขันของไทยแอลพีจีเอทัวร์ 8 รายการ ไม่นับรวมรายการพิเศษที่ร่วมกับทัวร์ใหญ่ของจีนและออสเตรเลียในปี 2019 มีนักกอล์ฟสาวไทยเป็นสมาชิกแอลพีจีเอทัวร์รวม 11 คน ได้แก่ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล, โปรโม-โมรียา จุฑานุกาล,

โปรแหวน-พรอนงค์ เพชรล้ำ, โปรจูเนียร์-ธิฎาภา สุวัณณะปุระ, โปรสายป่าน-ปัณณรัตน์ ธนพลบุญรัศมิ์, โปรแจน-วิชาณี มีชัย, โปรแชมเปญ-เฌอมาลย์ สันติวิวัฒนพงศ์, โปรกิ๊ฟ-เบญญาภา นิภัทร์โสภณ, โปรปริญญ์-ปวริศา ยกทวน, โปรเมียว-ปาจรีย์ อนันต์นฤการและโปรปลาย-พัชรจุฑา คงกระพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีนักกอล์ฟหญิงไทยในซีเมทราทัวร์ ซึ่งเป็นทัวร์รองของแอลพีจีเอ และนักกอล์ฟไทยที่เล่นอาชีพในเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์, เจแอลพีจีเอทัวร์ (ญี่ปุ่น), เคแอลพีจีเอทัวร์ (เกาหลีใต้), ไชน่าแอลพีจีเอทัวร์ (จีน), ไต้หวันแอลพีจีเอทัวร์ (จีนไทเป) และทัวร์อาชีพในฟิลิปปินส์ รวมแล้วกว่าครึ่งร้อยคน

ความสำเร็จของนักกอล์ฟอาชีพสตรีในประเทศไทย ทำให้บรรดาสปอนเซอร์ต่างก็เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น องค์กรผู้ดูแลจัดการแข่งขันพัฒนาก้าวหน้าเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีการร่วมมือกับทัวร์อื่น ๆ จนกระทั่งมีบางรายการได้รับคะแนนสะสมโลก

อีกทั้งรายการต่าง ๆ ก็มีการเปิดโอกาสให้นักกอล์ฟสมัครเล่นได้เข้าไปเก็บประสบการณ์ เป็นการพัฒนาเยาวชนกอล์ฟรุ่นใหม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อจะพัฒนาขึ้นไปเป็นนักกอล์ฟอาชีพฝีมือดี นักกอล์ฟทุกคนล้วนมีเป้าหมายอยู่ที่แอลพีจีเอทัวร์เหมือนอย่างรุ่นพี่ทำได้ในปัจจุบัน

พูดได้ว่า อนาคตของนักกอล์ฟหญิงไทยในวงการกอล์ฟโลกนั้นดีมาก ๆ เนื่องจากมีไฟสว่างและมีใบเบิกทางที่รุ่นพี่ทำไว้