ฤๅ “ซาร์รี่บอล” ที่โด่งดัง จะตกยุค-หมดมนต์ขลังที่เชลซี

ภาพจาก : Chelseafc.com
เป็นปีที่พรีเมียร์ลีกขับเคี่ยวกันมันหยด และเป็นอีกช่วงที่น่าสนใจสำหรับแฟนบอลของทีมในหัวตารางซึ่งไม่เพียงเจอโจทย์ต้องไล่บี้ทีมคู่แข่งในลีกแล้ว หลายทีมยังต้องแก้ปัญหาภายในกันเองอีกต่างหาก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ยกระดับความน่าตื่นเต้นและความน่าสนใจของลีกอังกฤษมากขึ้นไปอีก

ในบรรดาทีมหัวตาราง 5 อันดับแรก สโมสรที่สถานการณ์เข้าขั้นโคม่าที่สุดในช่วงรอยต่อปลายปี 2018 มาสู่ต้นปี 2019 น่าจะเป็นเชลซี ซึ่งผ่านช่วงเดือนแรกของปีอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะโปรแกรมปลายเดือนมกราคมที่ทำให้สิงห์บลูส์กระอักหนักเมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ในลีก 2 นัดติด หลุดจาก 4 อันดับแรกในตารางอย่างน่าเหลือเชื่อ

ถึงทีมจะจองตั๋วเข้าชิงถ้วยคาราบาวคัพ หรือลีกคัพได้ แต่แผลใหญ่ที่สุดคือผลงานในลีก ความพ่ายแพ้ส่งท้ายเดือนมกราคมในนัดที่เชลซีบุกไปแพ้บอร์นมัธด้วยสกอร์ถึง 0-4 เป็นความพ่ายแพ้ในลีกด้วยผลสกอร์ห่างจากคู่แข่ง 4 ลูกเป็นครั้งที่ 2 ของเชลซีในพรีเมียร์ลีก (ครั้งก่อนหน้านี้คือแพ้ลิเวอร์พูลเมื่อปี 1996) ครั้งล่าสุดเรียกได้ว่าเป็นสกอร์ที่แย่ที่สุดในรอบ 23 ปีของเชลซี และเป็นครั้งแรกที่แพ้หลุดลุ่ยขนาดนี้ในยุคของโรมัน อับราโมวิช เศรษฐีรัสเซียเข้ามาบริหารทีมรวมแล้วเกือบ 15 ปี

คงไม่น่าแปลกใจที่สถานการณ์ส่งผลให้เก้าอี้ของเมาริซิโอ ซาร์รี่ กุนซืออิตาเลียนร้อนระอุในทันที

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า บรรดา 6 ทีมหัวตารางสถานการณ์ของเชลซีดูอาการหนักที่สุด และเป็นอาการหนักที่น่าสนใจทีเดียว ที่ว่าน่าสนใจนี้มีหลายแง่มุม


คำถามที่น่าสนใจ คือ เมาริซิโอ ซาร์รี่ กุนซือเจ้าของแท็กติก “ซาร์รี่บอล” ฟุตบอลอิตาเลียนที่เน้นเกมบุก ครองบอลและผ่านบอลอย่างรวดเร็ว ที่ทำให้เขาโด่งดังจากผลงานคุมนาโปลี พาทีมเบียดลุ้นแชมป์กับยูเวนตุสในกัลโช่

เซเรีย อา อิตาลี ซาร์รี่คนที่โด่งดังเมื่อมาคุมเชลซี สูญเสียอำนาจควบคุมลูกทีมในห้องแต่งตัวแล้วจริงหรือไม่ พูดง่าย ๆ เป็นสำนวนแบบไทยว่า ลูกน้องเริ่มไม่เห็นด้วยจนถึงขั้นสั่งก็ไม่ได้งานแล้ว

มีรายงานเรื่องซาร์รี่ปิดห้องคุยกับผู้เล่นหลังจบเกมแพ้เละเทะ และก่อนหน้านี้ก็เคยมีรายงานการพูดคุยปรับความเข้าใจกับลูกทีมทำนองนี้แล้วเช่นกัน สำหรับครั้งนี้ซาร์รี่เอ่ยระหว่างแถลงข่าวหลังจบเกมแพ้บอร์นมัธว่า เขา “ไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกทีมได้” ซึ่งเป็นประโยคที่ไม่ค่อยได้ยินจากปากกุนซือระดับท็อปมากนัก เพราะเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึงจุดบอดเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และความสัมพันธ์กับลูกทีมอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงานฟุตบอล

ปีนี้เป็นฤดูกาลแรกที่ซาร์รี่เข้ามาคุมทีมต่อจากอันโตนิโอ คอนเต้ เพื่อนร่วมชาติซึ่งก็เสียทรงจากเหตุเชิงเสียความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในทีมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้แต่คอนเต้ หรือ

โชเซ มูรินโญ่ ก็ตามยังไม่ถึงขั้นเสียศูนย์แง่อำนาจปกครองหลังผ่านไปแค่ครึ่งฤดูกาลแรกที่เข้ามาทำงาน ทั้งที่ดูบุคลิกภายนอกของทั้ง 2 รายก่อนหน้าซาร์รี่เข้ามาทำงานจะดูล่อแหลมต่อสถานการณ์มากกว่าด้วยซ้ำ

ส่วนหนึ่งที่ซาร์รี่ไม่สามารถควบคุมลูกทีมได้เต็มที่อีกแล้ว ถูกมองว่ามาจากทัศนคติแข็งกร้าวที่ยืนยันเรื่องปรัชญาการเล่นของตัวเอง เขายอมรับว่าลูกทีมไม่สามารถซึมซับแนวทางของเขาได้มากเท่าที่เขาคาดหวัง สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือ คำให้สัมภาษณ์สื่ออิตาเลียนว่า ทีมยังไม่สามารถเรียนรู้วิธีการเล่นขั้นพื้นฐานตามปรัชญาของเขาเลยด้วยซ้ำ และต้องกลับไปฝึกซ้อมขั้นวางรากฐานกันใหม่ทั้งที่ฤดูกาลใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายเต็มที

หลังนัดแพ้อาร์เซนอล 0-2 ช่วงกลางเดือนมกราคม ซาร์รี่เริ่มชี้นิ้วไปที่ลูกทีม ตั้งคำถามเรื่องแรงจูงใจในการเล่นของลูกทีม ขณะที่ความสัมพันธ์กับสตาร์ในทีมอย่างเอเดน อาซาร์

ก็มีสัญญาณอันตรายมาสักพักแล้ว ซาร์รี่พยายามทดลองแท็กติกใหม่รวมถึงใช้วิธีกระตุ้นลูกทีมที่อันตราย การให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยบอกทำนองว่า

“อาซาร์เก่งก็จริง แต่ไม่ใช่ผู้นำ”

การพูดแบบนี้เป็นวิธีกระตุ้นจิตใจในเชิงจิตวิทยา เมื่อมีคนพูดเชิงท้าทายแบบนี้ คนจำนวนหนึ่งมักต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาทำได้เพื่อลบคำดูถูก สถานการณ์แบบนี้อาจทำให้เห็นว่ากลวิธีการทำงานของซาร์รี่หรือกุนซือรายอื่นที่กระตุ้นลูกทีมด้วยการโยนโจทย์และท้าทายให้ เป็นวิธีที่อาจไม่ได้ผลเสมอไปในฟุตบอลยุคใหม่ที่ทีมดังเต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์ ผู้เล่นในทีมจับกลุ่มเป็นก๊วนกันและมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้เล่นอื่น ๆ ในทีม

สถานการณ์คล้ายกันนี้เกิดกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคของมูรินโญ และเห็นได้ชัดว่าผลงานช่วงท้ายของมูรินโญ่ ย่ำแย่แทบเข็นไม่ขึ้น แต่เมื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ มาคุมทีม ทุกอย่างดีขึ้นอย่างชัดเจน

ความเปลี่ยนแปลงในช่วงตลาดซื้อ-ขายนักเตะต้นปีของเชลซีเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และน่าจับตาว่าการได้กอนซาโล อิกวาอิน เข้ามา และสลับอัลบาโร่ โมราต้า ไปแอตเลติโก

มาดริด จะทำให้ทีมกลับมาเล่นกองหน้าตัวเป้าแบบธรรมชาติ แทนที่ทดลองใช้ระบบ false nine และจะได้ผลดีแค่ไหนกับฟอร์มของอิกวาอิน ที่ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งในยุคของฟุตบอลนายทุน

ยิ่งเมื่อเจ้านายของคุณเป็นคนอย่างโรมัน อับราโมวิช ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเด้งกุนซือ (ถึงช่วงหลังจะเริ่มอดทนมากขึ้นก็ตาม) ซาร์รี่คงต้องเร่งหาทางออกให้ตัวเองและทีม ก่อนที่เขาเองจะต้องหาทางออกจากออฟฟิศในถิ่นเชลซีไปเสียเอง และนั่นเป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน ยากจะหาใครที่อยู่ในลีกอังกฤษแบบสบายตัวอีกแล้ว แม้แต่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เองก็ตาม