เบื้องหลัง Class of 2019 พลังหนุ่มอาแจ็กซ์ เขี่ยมาดริด-ยูเว่ร่วง UCL

ฟุตบอลรายการใหญ่รอบโลกช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานี้เต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์ นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกที่รัสเซียซึ่งแฟนบอลคงได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องล้มยักษ์กันไปก่อนหน้านี้หลายยก เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงปี 2019 ก็ยังมีเรื่องทีมล้มยักษ์ได้อีกเช่นเคย และครั้งนี้เกิดในฟุตบอลสโมสรยุโรป แถมเป็นทีมนอกสายตามาโดยตลอดด้วย

ถ้าจะพูดถึงทีมระดับกลางซึ่งได้ตั๋วลงฟาดแข้งศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ถ้วยสโมสรยุโรปรายการใหญ่ที่สุดที่พอมีศักยภาพ เขี่ยทั้งเรอัล มาดริด และยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนัง 2 ทีมจาก 5 ลีกท็อปของยุโรปตกรอบน็อกเอาต์ได้

อาจต้องบอกว่าคงไม่มีใครนึกถึงชื่อ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม อย่างแน่นอน แต่ปีนี้ทีมจากลีกดัตช์ลบคำสบประมาทเหล่านี้ไปหมดเกลี้ยง พวกเขาพิสูจน์แล้วว่า ฟุตบอลดัตช์ยังพอหลงเหลือมนต์เสน่ห์พลังหนุ่ม ไม่แพ้ช่วงกลางยุค 90s ซึ่งอาแจ็กซ์เป็นทีมที่ผลิตผู้เล่นฝีเท้าจัดจ้าน ก่อนที่ผู้เล่นชุดนั้นจะกระจายไปค้าแข้งกับสโมสรแถวหน้าของโลกในหลายปีต่อมา

ปี 2019 อาแจ็กซ์ ที่นำโดย เอริก เทน ฮาก กุนซือหนุ่มวัย 49 ปีที่มีประสบการณ์ทำทีมไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ เป็นทีมพลังหนุ่มแห่งยุโรปโดยแท้จริง แม้แต่กัปตันทีมก็ยังเคยตั้ง มัทไธส์ เดอลิกต์ กองหลังร่างโย่งในวัยแค่ 19 ปีเป็นผู้นำทีมแล้ว ซึ่งปราการหลังหนุ่มคนนี้คือผู้พังประตูปิดท้ายให้อาแจ็กซ์ชนะยูเว่ในตูรินด้วย

เทน ฮาก มีชื่อเสียงในช่วงกลับไปคุม อูเทรคท์ ทีมที่เขาเคยค้าแข้งด้วย โดยนำทีมจบอันดับ 4 ในเอเรดิวิซีลีก และเพลย์ออฟได้ตั๋วไป ยูโรป้า ลีก ที่สำคัญคือเทน ฮาก เคยทำงานเป็นโค้ชทีมสำรองของบาเยิร์น มิวนิก ในช่วงเวลาเดียวกับที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ยอดกุนซือสเปนทำงานในบุนเดสลีกา เยอรมัน ระหว่างปี 2013-16

ไฮไลต์สำคัญของผลงานน่าตระหนกของอาแจ็กซ์ ในบอลยุโรปปีนี้อาจยังไม่ใช่เทน ฮาก ไปเสียหมด คนส่วนใหญ่มองไปที่ขุมกำลังหนุ่มของอาแจ็กซ์ อย่าง แฟรงกี้ เดอ ยอง ห้องเครื่องทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่อาแจ็กซ์ดึงมาจากทีมร่วมลีกตั้งแต่ยังเป็นผู้เล่นเยาวชน จนกลายเป็นดาวโรจน์อนาคตไกลของทีมกังหันลม อาแจ็กซ์ยังมีผู้เล่นอายุต่ำกว่า 25 ปีที่กลายเป็นเป้าหมายของทีมใหญ่ทั่วยุโรป อาทิ เดวิด เนเรส หัวหอกบราซิเลียนวัย 22 ปี หรือดอนนี่ ฟาน เด เบค มิดฟิลด์วัย 21 ปี

ปฏิเสธได้ยากว่าอาแจ็กซ์ยังคงเป็นสโมสรซึ่งเป็นที่รับรู้เรื่องสร้างนักเตะระดับเวิลด์คลาสมานักต่อนัก ตั้งแต่สมัย โยฮันน์ ครัฟฟ์ มาจนถึงทีมชุดแชมป์ยุโรปปี 1995 ซึ่งล้วนเป็นนักเตะที่มีบทบาทสำคัญในวงการฟุตบอลเวลาต่อมา
ไล่มาตั้งแต่ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ, มาร์ก โอเวอร์มาร์, แพทริก ไคลเวิร์ต และคู่พี่น้อง เดอ บัว ที่ภายหลังก็มี ฟรองก์ เดอ บัว กลับมาคุมทีมแจ้งเกิดในวัยหนุ่มมาคว้าแชมป์ลีก 4 สมัยรวด

เรียกได้ว่าหัวใจและยี่ห้อของอาแจ็กซ์ สลัดไม่หลุดจากการผลิตผู้เล่นฝีเท้าชั้นยอดมาหลายทศวรรษ ซึ่งส่วนหนึ่งคอลัมนิสต์กีฬาหลายรายย้อนกลับไปรำลึกถึงคุณูปการของโยฮันน์ ครัฟฟ์ ตำนานนักเตะและผู้จัดการทีมชาวดัตช์ผู้ล่วงลับ ซึ่งวางรากฐานทั้งทางเทคนิคและการบริหารงานฟุตบอลที่เฉพาะตัวให้กับหลายทีม รวมถึงทีมที่เขาเริ่มต้นอาชีพค้าแข้งอาชีพด้วย ครัฟฟ์เดินเข้าออกอาแจ็กซ์หลายครั้ง แต่ละครั้งก็ส่งผลต่อทีมอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะช่วงปฏิวัติทีมหลังปี 2010
ช่วงเวลานั้นอาแจ็กซ์ไปได้สวยกับผลงานแชมป์ในลีก แต่เมื่อไปเล่นในเวทีระดับทวีป พวกเขาถูกทีมยักษ์อย่างเรอัล มาดริด ถลุงอย่างน่าเจ็บใจ ซึ่งโยฮันน์ ครัฟฟ์ เห็นว่าฟุตบอลสมัยใหม่กลายมาเป็นพึ่งพาแหล่งทุน ทีมใหญ่นิยมสร้างทีมด้วยการซื้อนักเตะต่างชาติราคาแพง ค่าเหนื่อยสูง แต่สำหรับอาแจ็กซ์ พวกเขาไม่สามารถและตามปรัชญาของครัฟฟ์ เขาคิดว่าไม่ควรทำเช่นนั้น แต่ต้องหันกลับมาพัฒนาอะคาเดมี พึ่งพาแหล่งทรัพยากรอย่างเยาวชนภายในทีมเองมากกว่า พร้อม ๆ ไปกับการปรับสไตล์การเล่น

ครัฟฟ์นำเสนอไอเดียและต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อยืนหยัดกับนโยบายที่เขายึดมั่น และมีข้อพิพาทกับบอร์ดบริหารจนสุดท้ายครัฟฟ์ก็โบกมือลาไป หลงเหลือไอเดียที่เป็นมรดกเอาไว้ให้สโมสรและ รุ่นหลังอย่างกุนซือ ปีเตอร์ บอสซ์ หรืออดีตนักเตะของทีมในยุค 90s หลายรายที่เชื่อมั่นในแนวคิดแบบครัฟฟ์ และมีเลือดฟุตบอลดัตช์เข้มข้นมาสานต่อ และหลังผ่านการอดทนกล้ำกลืนมาช่วงหนึ่ง

ดอกผลจากการบ่มเพาะเริ่มเห็นผลจากสัญญาณที่พวกเขาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศยูโรป้า ลีก เมื่อปี 2017 แม้จะอกหักแต่ก็แสดงให้เห็นว่าพลังหนุ่มที่พวกเขายึดมั่นนั้นไม่ใช่ไอเดียที่เพ้อฝันในยุคทุนนิยมในโลกกีฬา

ในฤดูกาลปัจจุบัน อาแจ็กซ์ได้เข้าไปเล่นรอบตัดเชือกรายการยุโรปถ้วยใหญ่ครั้งแรกในรอบ 22 ปี โดยมีกำลังสำคัญเป็นผู้เล่นเยาวชนดังที่กล่าวข้างต้น แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเหล่าบุคลากรลูกหนังดัตช์เห็นพ้องกันคืออาแจ็กซ์

จะไม่สามารถรั้งแข้งหนุ่มที่สโมสรปั้นขึ้นมาให้อยู่กับทีมระยะยาวได้ บางรายบรรลุข้อตกลงกับทีมใหญ่ตั้งแต่ฤดูกาลยังไม่จบ นี่คือปัญหาใหญ่ของอาแจ็กซ์ในระยะยาว

ในระยะสั้น อาแจ็กซ์มีผลผลิตที่ยอดเยี่ยมซึ่งยังเกาะกลุ่มกันได้อยู่ บทพิสูจน์ที่สำคัญด่านต่อไป คือการผ่านเข้าไปนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งหากเป็นจริง นัดนั้นจะตอกย้ำว่าปรัชญาของปรมาจารย์ลูกหนังดัตช์ยังสามารถใช้การได้อย่างเป็นเลิศในโลกแห่งทุนนิยม